Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    การเคลื่อนที่แบบวิถีโค้ง (ของหมอสม){แตกประเด็นจาก X6810858}

    ในบทที่แล้วผมอ่านค้างถึงหน้า 72 ตอนนี้จะรวมหน้า 73-78 และบทการเคลื่อนที่แบบวิถีโค้ง หน้า 81-89 ไม่พบที่ผิดชนิดออกทะเลลึกถึงคาบสมุทรไอบีเรีย (อย่างกรณีกฎข้อ 3 ของนิวตัน) แต่ชนิดที่วน ๆ อยู่แถวอ่าวไทยเยอะเหมือนเดิม

    ก่อนอื่นผมขอพูดถึงจุดประสงค์ที่คุณหมอเขียนหนังสือจากคำนำของท่านผู้เขียน

    1. คุณหมอประหลาดใจที่เด็กไทยได้คะแนนฟิสิกส์เฉลี่ย 27/100
    2. ฟิสิกส์เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ การที่เด็กไทยอ่อนฟิสิกส์ "จะทำให้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศทั้งระบบถดถอย"
    3. หมอสมจึงเขียนฟิสิกส์นิวตันขึ้นมาเพื่อ "เป็นหนังสือที่เปิดเผยความลับของการเรียนฟิสิกส์ไว้อย่างหมดสิ้น" และคุณหมอเชื่อว่า "ถ้านักเรียนไทยทั้งหมดได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะทำให้คะแนนเฉลี่ยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีต่อไปสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"

    เจตนาของผู้เขียนดีเยี่ยม แต่ผมอยากจะขอร้องให้เขียนหนังสือตามเจตนาที่จะเปิดเผยความลับของฟิสิกส์ทำให้น้อง ๆ นักเรียนเข้าใจฟิสิกส์ --- เริ่มจากผู้เขียนต้องตอบคำถามในใจตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณเข้าใจฟิสิกส์ดีแล้วหรือยัง

    คุณอาจพูดว่าผมมาจับผิดคุณหมอ พูดแบบนั้นไม่ผิดครับ แต่เจตนาของผมก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าหนังสือที่คุณหมอเขียน มีความเข้าใจผิด ๆ ตามหลักฟิสิกส์ (ตามชื่อหนังสือฟิสิกส์นิวตัน) ผิดถึงขั้นที่รุนแรงก็มี หยุมหยิม ๆ ก็มี ในเมื่อคุณรู้ว่ามันผิดแล้วหนังสือเผยแพร่กระจายไปในวงกว้างโดยไม่มีใครออกมาทักท้วง สังคมที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบนี้ ดีแล้วหรือครับ




    6. แรงเสียดทานไม่ได้แปรผันตามน้ำหนัก (อย่างเดียว)

    (หน้า 73) เป็นรูปกล่องมวล 5 ก.ก. วางบนพื้นเอียง "เรารู้ว่ามีแรงชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแรงฝืดคอยดันที่ฐานกล่องไม่ให้กล่องเคลื่อนที่ลงมี (x ก็คือแรงเสียดทานนั่นเอง) และเรารู้อีกด้วยว่าแรงเสียดทานจะแปรผันตามน้ำหนัก"

    คุณหมอเขียนไว้บรรทัดก่อนหน้าว่า "พยายามคิดให้ถี่ถ้วน" แต่ข้อความที่คุณหมออธิบายแรงเสียดทานนี้เองก็สะท้อนให้เห็นความไม่ถี่ถ้วน

    มองในกรณีทั่ว ๆ ไป แรงเสียดทานไม่ได้แปรตามน้ำหนัก หากคุณหมอจะสอนใคร ผมอยากให้มองไปที่ธรรมชาติของมันจริง ๆ ครับ แรงเสียดทานเกิดขึ้นเมื่อวัตถุ 2 ชิ้นมีหน้าสัมผัสกัน (นี่เป็นหัวใจของแรงเสียดทานครับ ถ้าไม่มีหน้าสัมผัสระหว่างวัตถุ 2 ชิ้น ก็ไม่มีแรงเสียดทานระหว่างการเคลื่อนที่ของคู่นั้น) หากหน้าระหว่างหน้าสัมผัสนั้นพยายามจะเคลื่อนที่ เพราะความไม่ราบเรียบของผิวสัมผัสในระดับเล็ก ๆ (คุณหมอไม่ต้องพูดถึง residual electromagnetic force หรือสมมติฐานที่เป็นไอเดีย Coulomb friction อะไรแบบนั้น แต่คุณหมอก็ควรจะรู้ไว้ในใจว่าแรงเสียดทานเป็นผลส่วนหนึ่งจากแรงแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้ concept ผิวสัมผัสของวัตถุ 2 ชิ้นแสดงออกมาให้ทุกคำบรรยายที่สอนเด็ก ๆ) จึงทำให้มีแรงต้านการเคลื่อนที่

    ถ้า concept ตรงนี้เคลียร์ ถามเด็ก ๆ ให้ช่วยออกความเห็นได้เลยครับว่าสรุปแล้วแรงเสียดทานแปรผันกับปัจจัยใด ๆ บ้าง 2 ข้อที่ชัดเจน 1. ธรรมชาติของผิวสัมผัสระหว่างวัตถุ 2 ชิ้น (ส.ป.ส. แรงเสียดทาน) และ 2. แรงกิริยา-ปฏิกิริยาระหว่างผิวสัมผัส เฉพาะข้อ 2 นี่เอง ในกรณีพื้นราบ มันเท่ากับน้ำหนัก (Normal force, N = -mg) แต่จะสรุปให้เด็ก ๆ ฟังว่าแรงเสียดทานแปรผันตรงตามน้ำหนักไม่ได้ ไม่ควร ในกรณีพื้นเอียง "แรงปฏิกิริยาที่เป็นคู่ของแรงกิริยาวัตถุกดพื้นเอียง" หรือ "normal force" ไม่ได้แปรตามน้ำหนักอย่างเดียว แต่ยังแปรตามมุมของพื้นเอียงด้วย

    จัดเป็นระดับ 2

    หมายเหตุ - เรื่องแรงเสียดทานนี้คุณหมอเขียนไว้ในบทที่ 6 ผมพลิกไปดูประโยคแรกเขียน "สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งค้นพบจากกฎข้อที่สามของนิวตันก็คือแรงเสียดทาน แรงเสียดทานคือแรงปฏิกิริยา" (ผมค่อยวิจารณ์ต่อตอนถึงบทนั้น)





    7. อย่าตั้งกฎอะไรเพิ่มเติม (ถ้ามันมีกฎของมันอยู่แล้ว)

    (หน้า 73) "เรารู้ว่าน้ำหนักของกล่องจะตกลงในแนวดิ่ง แต่ก็สามารถแตกแรงไปในแนวตั้งฉากและขนานกับพื้นเอียงได้ ตามกฎของรูปสามเหลี่ยม"

    สิ่งที่ควรสอนนักเรียนให้เข้าใจคือการบวก ลบ ปริมาณเวกเตอร์ อย่านำเทคนิคการคิดอะไรต่าง ๆ นานาแล้วบอกกับเด็ก ๆ ว่านี่คือกฎ (law) ครับ มันไม่ช่วยให้คนอ่านเข้าใจอะไรเพิ่มมากขึ้น พ่วงด้วยความสับสนว่าอะไรคือกฎทางฟิสิกส์ กฎทางคณิตศาสตร์เข้าไปอีก เมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นกฎ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ในการสื่อสารต่อผู้อ่านในอนาคต ก็ให้เรียกชื่อกฎให้มันถูก ๆ ครับ กรณีนี้คือการรวมเวกเตอร์ ไม่มีอะไรพิสดารและสามารถสอนให้เข้าใจได้ด้วยภาษาง่าย ๆ

    จัดเป็นระดับ 1

    จากคุณ : ศล - [ 20 ก.ค. 51 16:26:41 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom