Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    งาน พลังงาน และกำลังงาน (ส่วนที่ผิดในหนังสือฟิสิกส์นิวตัน)

    27. แรงกับความเร่ง

    (หน้า 116) "แรงดึงดูดของโลกที่นิวตันคำนวณจากแรงดึงดูดลูกแอ๊ปเปิ้ลมีค่าเท่ากับ 9.8 เมตร/วินาที2"

    - หน่วยของแรงไม่ใช่ เมตร/วินาที2
    - 9.8 เมตร/วินาที2 หรือ g คือความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก

    ระดับ 2

    --------------------------------------------------

    28. หน่วยไม่ใช่ชื่อเรียก และการพูดผิด ๆ ถูก ๆ

    (หน้า 116) "มนุษย์เราคงจะใช้คำว่า "นิวตัน" เป็นชื่อเรียกของแรงไปตลอดจนถึงวันสุดท้ายของโลก"

    (หน้า 117) "นักวิทยาศาสตร์จึงกำหนดขึ้นมาใหม่ว่างานที่เกิดจากแรกเรียกว่า "จูล" ... ดังนั้นหน่วยของ "จูล" ก็คือ "นิวตัน x เมตร" หรือ N.m"

    (หน้า 117) "เครื่องที่ทำงานเสร็จ 1 จูลได้ไวกว่า ก็ถือว่าประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้นจึงมีการกำหนดค่าใหม่เป็นชื่อเรียกว่า "วัตต์" ซึ่งก็คืองานที่ทำได้ใน 1 วินาที ... หน่วยของวัตต์จึงเท่ากับ จูล/วินาที และเรียกเป็นภาษาไทยว่า "กำลัง"

    (หน้า 125) "พลังงานความร้อนที่เราเรียกกันว่าแคลอรีก็เช่นกัน..."

    ไม่รู้ว่าสับสนอะไรมารุนแรงรึเปล่านะครับ

    - แรงมีหน่วยเป็นนิวตัน, นิวตันไม่ใช่ชื่อของแรง
    - งาน พลังงาน มีหน่วยเป็นจูล ไม่ใช่ชื่อจูล, จูลเป็นหน่วย และจูลไม่มีหน่วย
    - กำลังงาน (งานที่ทำหรือพลังงานที่ใช้ต่อหน่วยเวลา) มีหน่วยเป็น วัตต์ ไม่ใช่วัตต์มีหน่วยที่เรียกกว่า "กำลัง", วัตต์ไม่มีหน่วย เพราะวัตต์นั่นแหละคือหน่วย
    - แคลอรี เป็นหน่วยของพลังงาน, แคลอรีไม่ใช่พลังงาน

    ระดับ 3

    (หน้า 125) "ค่านิจสปริง" คือแรงที่ทำให้สปริงยืดต่อหนึ่งหน่วยความยาว มีหน่วยเป็น นิวตัน/เมตร"

    - ค่านิจสปริงไม่ใช่แรง
    - ค่านิจสปริงคือค่าคงที่ของสปริงที่เป็นตัวบอกคุณสมบัติที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแรงกด/ดึงสปริงกับระยะหด/ยืดของสปริง

    ระดับ 2

    --------------------------------------------------

    29. กำลังงาน ไม่ใช่ ประสิทธิภาพ

    (หน้า 117) "อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดกันระหว่างการทำงานของเครื่องจักร แม้จะทำได้งาน 1 จูลเท่ากัน แต่เราก็ควรจะรู้ว่าเครื่องจักรแต่ละเครื่องประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร เครื่องที่ทำงานเสร็จ 1 จูลได้ไวกว่า ก็จะถือว่าประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้นจึงมีการกำหนดค่าใหม่เป็นชื่อเรียกว่าวัตต์"

    - ประสิทธิภาพ = [(งานที่ได้)/(งานที่ให้)] x 100%
    - กำลัง = อัตราการทำงาน (หรือ งาน/เวลา) หรืออัตราการใช้พลังงาน (หรือ พลังงาน/เวลา)
    - กำลังงาน กับ ประสิทธิภาพ เป็นคนละเรื่องกัน

    ระดับ 3

    --------------------------------------------------

    30. แรงม้าจริง ๆ แล้วเกี่ยวกับม้า

    (หน้า 118) "บางครั้งเราเคยได้ยินว่า รถยนต์รุ่นนี้มีกำลัง 100 แรงม้า 120 แรงม้า ความจริงไม่ใช่แรงของม้า 100 ตัว แต่กำลังของรถสูงมากจนถ้าเรียกเป็นวัตต์ ตัวเลขจะมากไป นักวิทยาศาสตร์จึงกำหนดใหม่ว่า 1 แรงม้า = 746 วัตต์ และเรียกกำลังของรถเป็นกำลังของม้าแทน"

    - นักวิทยาศาสตร์ตัวจริงไม่นิยมใช้ hp เพราะมีหน่วยในระบบ SI อยู่แล้วคือ วัตต์
    - เหตุผลสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ไม่นิยมใช้แรงม้าเพราะมันมีหลายค่า ขึ้นอยู่กำลังพูดถึงเรื่องอะไร

    เช่น

    แรงม้าทางกล = 745.6999 W
    แรงม้าทางไฟฟ้า = 746 W
    Boiler horsepower ที่ใช้กับ boilers ในโรงงานไฟฟ้า เท่ากับ 9.8095 kW

    - แรงม้า เกี่ยวกับม้า (เราเรียกแรงม้า แต่ฝรั่งใช้ กำลังม้า อย่าสับสนนะครับ เราเรียกว่าแรงม้าก็จริง แต่หมายถึง กำลัง) คนที่ใช้คำว่าแรงม้าคนแรกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณเจมส์ วัตต์ (วิศวกร ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์) ผู้ซึ่งนามสกุลของเขาเป็นชื่อหน่วย วัตต์ นั่นเอง กำลังม้าของเขาคือกำลัง (โดยเฉลี่ย) ของม้า 1 ตัว ที่ขนถ่านหินออกจากเหมืองถ่านหิน เขาสังเกตและทดสอบหลาย ๆ ครั้งแล้วพบว่าม้ามีกำลัง 33,000 ฟุต-ปอนด์/นาที (แปลงหน่วยแล้วพบว่าประมาณ 745.69987 วัตต์)

    ระดับ 2

    --------------------------------------------------

    31. กฎอนุรักษ์พลังงาน ไม่อนุรักษ์แรง

    (หน้า 124) "ถ้าเราเอามือถูพื้น เรารู้สึกว่าต้องออกแรง แรงนั้นก็ไม่หายไปไหน แต่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนแทน เราจะรู้สึกว่ามือร้อนผ่าวเพราะแรงเสียดสี"


    - แรงหายไปได้ แต่พลังงานไม่สูญหาย เวลาเขียนเขียนให้ชัด ถ้าแรงไม่หาย แปลว่ายังไม่หยุดถู
    - ไม่มีกฎอนุรักษ์แรง เวลาสอนเด็ก ต้องสอนให้เด็กแยกให้ออกว่าอันนี้แรง อันนี้พลังงาน แรงอันนี้ทำงาน จึงเกิดการถ่ายเทพลังงาน

    ระดับ 2

    --------------------------------------------------

    คุณอาจบอกว่า โธ่ เรื่องแบบนี้ใคร ๆ เขาก็พูดผิดกันได้ ผมเห็นด้วยครับ
    แต่ผมคิดว่าสำหรับคนที่เขียนหนังสือสอนเสริมความรู้ฟิสิกส์ไม่ควรผิดในประเด็นเหล่านี้ เพราะในทางลึก ผิดเล็กผิดน้อยจะสะสมให้เข้าใจผิดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกว้าง มันทำให้คนเข้าใจผิดมากขึ้น

    จากคุณ : ศล - [ 25 ก.ค. 51 17:33:33 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom