Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    13 เมษายน 2572 ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก เห็นได้ด้วยตาเปล่า

    ความจริงข่าวนี้ก็เก่าแล้ว แต่ผมเพิ่งได้อ่าน เลยเอามาฝากสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบน่ะครับ อีก 21 ปีเท่านั้น ผมต้องรอดูให้ได้

    2572 ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก
    19 กุมภาพันธ์ 2550 วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

    ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส 2547 ถึงปีใหม่ 2548 ขณะที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยกำลังประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนและผู้คนทั่วโลกที่พุ่งเป้าไปที่ภัยพิบัติครั้งนั้น อีกมุมหนึ่งนักดาราศาสตร์หลายคนกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่บ่งบอกว่ามันอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อโลกได้ในอนาคตอันใกล้

    ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (99942 Apophis) ซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า 2004 เอ็มเอ็น 4 (2004 MN4) ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 แต่ไม่สามารถติดตามสังเกตการณ์ต่อได้ กลับมาพบอีกครั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ข้อมูลวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ชี้ว่าวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2572 (ค.ศ. 2029) ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะผ่านใกล้โลกและมีโอกาสชนโลกด้วยอัตราส่วน 1 ใน 38 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับบรรดาดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้โลกดวงอื่น ๆ ที่ได้ค้นพบไปก่อนหน้านั้น

    แม้อัตราส่วนดังกล่าวคือโอกาสประมาณ 2.6 เปอร์เซนต์ แต่คำว่า "มีโอกาส" ไม่ว่าจะน้อยหรือมากมีความหมายอย่างเดียวกัน คือ นักดาราศาสตร์ไม่สามารถฟันธงได้ว่าปี 2572 โลกจะเผชิญกับหายนะจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้หรือไม่ อะโพฟิสจึงเข้าไปอยู่ในรายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่ต้องจับตามองโดยอัตโนมัติ

    ไม่กี่วันถัดมาหลังจากได้ข้อมูลวงโคจรเบื้องต้นของอะโพฟิส นักดาราศาสตร์ได้ไปค้นหาภาพถ่ายในคลังภาพของท้องฟ้าบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้น่าจะเคลื่อนผ่าน เจฟฟ์ ลาร์เซน และ แอนน์ เดสเคอร์ พบอะโพฟิสในภาพที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.9 เมตรของหอดูดาวคิตต์พีก แอริโซนา มันช่วยให้คำนวณวงโคจรได้แม่นยำขึ้น สามารถบอกได้ว่าดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสจะไม่ชนโลกและดวงจันทร์อย่างแน่นอน แต่เฉียดผ่านโลกด้วยระยะห่างประมาณ 64,400 กิโลเมตร

    ผลจากเรดาร์
    วันที่ 27-30 มกราคม 2548 ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย แลนซ์ เบนเนอร์ แห่งห้องปฏิบัติการขับดันไอพ่น (เจพีแอล) ขององค์การนาซาได้ติดตามดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสด้วยเรดาร์ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุอะเรซิโบที่ตั้งอยู่ที่เปอร์โตริโก การส่งคลื่นวิทยุไปสะท้อนกับพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยทำให้ทราบข้อมูลตำแหน่ง รวมทั้งความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ดีกว่าการคำนวณก่อนหน้านี้ที่อาศัยเพียงภาพถ่าย

    ข้อมูลจากเรดาร์สรุปได้ในที่สุดว่าวันที่ 13 เมษายน 2572 อะโพฟิสจะเฉียดผ่านโลกด้วยระยะห่าง 36,350 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 5.7 เท่าของรัศมีโลก ใกล้กว่าดวงจันทร์เกือบ 11 เท่า และใกล้กว่าดาวเทียมค้างฟ้า

    มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
    การเข้าใกล้โลกอย่างมากของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสในช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2572 ทำให้เรามีโอกาสสังเกตเห็นมันในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบตะวันตกของทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และแอฟริกา ไม่ต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่แถบชานเมืองและที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ อะโพฟิสจะปรากฏเหมือนดาวทั่วไปบนท้องฟ้าแต่เคลื่อนที่ได้และเร็ว นักดาราศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวในรอบสหัสวรรษ

    ที่ผ่านมามีดาวเคราะห์น้อยผ่านใกล้โลกหลายดวง แต่ไม่เคยมีดวงใดที่สว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นนี้มาก่อน นักดาราศาสตร์คะเนว่าเหตุการณ์ทำนองนี้มีโอกาสเกิดขึ้นทุก ๆ 1,300 ปีหรือนานกว่านั้น

    วงโคจร
    ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยวงโคจรต่างจากดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่ที่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี) วงโคจรของมันอยู่ใกล้วงโคจรโลก เส้นทางส่วนใหญ่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลกและเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 323 วัน

    แม้ว่าอะโพฟิสจะไม่ชนโลกในปี 2572 แต่นักวิทยาศาสตร์ก็กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันไว้ เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกจะเบนวงโคจรของอะโพฟิส ส่งผลให้การคาดหมายวงโคจรในอนาคตมีความแม่นยำน้อยลง ผลการคำนวณล่าสุดระบุว่าวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2579 อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งและมีโอกาสชนโลก 1 ใน 45,000 หรือ 0.002% นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นทั้งที่พบแล้วและยังไม่พบที่มีโอกาสเป็นอันตรายต่อโลกได้ในอนาคต ดังนั้นการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

    http://thaiastro.nectec.or.th/library/apophis/apophis.html

    จากคุณ : ss2498 - [ 13 ต.ค. 51 19:28:19 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom