รู้ให้จริง - อย่าให้ใครมาลวงเราเรื่องโลกร้อน
ดร.โสภณ พรโชคชัย {1}
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย {2}
โลกร้อนขึ้นคงไม่มีใครสงสัย การรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ดี แต่การรณรงค์เรื่องโลกร้อนทำให้ใครได้ ใครเสียประโยชน์ ประเด็นนี้เป็นกรณีศึกษาของการโฆษณาชวนเชื่อในการทำให้ประชาชนมืดบอดหรือไม่ และถือเป็น เครื่องมือทำมาหากิน สำหรับใครบางคนหรือไม่
ทุกวันนี้ แทบทุกคนคงได้ยินเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และเชื่อว่าทุกคนที่ได้ฟังคงชักห่วงใยต่อโลกในประเด็นนี้เช่นกัน แต่เมื่อนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์เรื่องโลกร้อน {3} ผมกลับเริ่มสงสัยว่าสันติภาพไม่น่าจะเกี่ยวกับโลกร้อนโดยตรง ที่ผ่านมาคนอื่นที่โด่งดังเช่นท่านติช นัท ฮันห์ {4} ผู้นำพระสงฆ์ในสมัยสงครามเวียดนาม ก็ยังพลาดรางวัลนี้มาแล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้คนมักเชื่อไปในแนวทางเดียวกันโดยไม่มีโอกาสไตร่ตรองด้วยเหตุผล ผมจึงขอเสนอบทความนี้เพื่อต่อกรกับการครอบงำ และการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง
An Inconvenient Truth: เท็จหลายเรื่อง
ท่านที่อ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth (AIT) {5} คงรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งว่า อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน . . . คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก หากจะเรียกขบวนการดังกล่าวว่าเป็นภารกิจกู้โลก เพราะวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลเกินจินตนาการ {6} วลีที่อ้างถึงนี้สะท้อน อารมณ์ ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม AIT เป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และยังแสดงข้อมูลที่เป็นเท็จหลายเรื่อง {7} ซึ่งสังคมมักไม่มีโอกาสรับรู้ เช่น:
1. การมองด้านเดียว: AIT ไม่เคยมองถึงบทบาทที่จำเป็นของน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน (Hydrocarbon) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากร ฯลฯ AIT ละเลยอัตราการตายที่สูงขึ้นในยามที่โลกเย็นลงในอดีตที่ผ่านมา
2. ความเข้าใจผิด: สาเหตุหลักของการตายของมนุษย์ปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพราะภัยธรรมชาติ คล้ายกับการตื่นกลัวไข้หวัดนกจนเกินเหตุทั้งที่โรคปอดบวมทำคนไทยตายมากมาย โดยในปี 2550 ไม่พบคนป่วยและตายด้วยไข้หวัดนกในประเทศไทย แต่คนไทยป่วยด้วยโรคปอดบวมจนต้องนอนโรงพยาบาลถึง 88,841 ราย และตาย 765 รายในปี 2549 {8} นอกจากนี้ AIT ยังอ้างทำนองว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับตน แต่ความจริงเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงข้ามกับ AIT
3. การพูด ใส่ไข่ จับเอาปรากฏการณ์ครั้งคราวมาเป็นสรณะ: การอ้างว่าหมีขั้วโลกจมน้ำตายเพราะน้ำแข็งละลายทั้งที่เป็นเพราะพายุ การกล่าวถึงฝนตกหนักถึง 37 นิ้วในนครมุมไบในปี 2548 ทั้งที่ตลอด 45 ปี ไม่พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเลย การโยงเรื่องโลกร้อนกับอุทกภัยในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งที่ใน 1-2 ศตวรรษก่อนมีอุทกภัยที่รุนแรงยิ่งกว่านี้มากมาย การโทษว่าโลกร้อนทำให้แนวปะการังเสียหายทั้งที่เป็นเพราะปัจจัยทางเฉพาะภูมิภาค ปัจจัยทางสังคมและอื่น ๆ การกล่าวว่าธารน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์จะเลื่อนลงสู่ทะเลทั้งที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ไม่มีทางออก
4. การพูดผิดความจริง เช่น การอ้างว่าโลกร้อนในอดีตเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งที่มีระยะเวลานับร้อยปีในอดีตที่เคยร้อนกว่าปัจจุบัน จนทำให้ครั้งหนึ่งชาวไวกิ้งสามารถไปตั้งถิ่นฐานในเกาะกรีนแลนด์ที่หนาวเย็นในขณะนี้ได้ การอ้างว่าโลกร้อนขึ้นมากทั้งที่เพิ่มเพียง 0.17 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีล่าสุด และร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในรอบ 100 ปี และที่ผ่านมาก็มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ การอ้างว่าคลื่นร้อนยุโรปที่ทำให้คนตายมากมายเป็นผลจากโลกร้อนทั้งที่เป็นเพราะสาเหตุอื่น
ในประเทศอังกฤษ มีการฟ้องศาลให้ห้ามฉาย AIT ในโรงเรียนมัธยม ศาลเห็นว่า AIT มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดไปถึง 9 ประการ แต่ให้ฉายได้โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ครูที่จัดฉายต้องชี้ให้นักเรียนเข้าใจถึงข้อผิดพลาดของ AIT ด้วย {9} แต่ในประเทศไทย เรากลับปล่อยให้ฉายหลอกลวงประชาชนอย่างหน้าตาเฉย ตัวอย่างความผิดพลาดสำคัญ ได้แก่ การกล่าวว่าหิมะบนยอดเขาคิลิมันจาโรซึ่งสูงถึง 6 กิโลเมตร ละลายเพราะภาวะโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง สาเหตุการละลายคงเป็นเพราะแสงอาทิตย์ การใช้ที่ดินโดยรอบตลอดจนความร้อนใต้พิภพหรืออื่น ๆ เพราะหากแม้ผิวโลกจะร้อนขึ้น อุณหภูมิบนยอดเขาก็ยังต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอยู่ดี
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 19,000 คนได้ร่วมกันลงชื่อใน The Petition Project {10} ว่า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการใช้ Hydrocarbon เพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด แม้โลกได้ร้อนขึ้นเล็กน้อย ก็ไม่ได้มีผลเสียหายร้ายแรง (อาจมีไวรัสบางชนิดเกิดขึ้น แต่ในช่วงโลกเย็นก็อาจเกิดโรคอื่น) แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในเขตอบอุ่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นผลดีต่อชีวิตสัตว์และทำให้การเพาะปลูกพืชผลได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงหนุนให้สหรัฐอเมริกาไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโต {11} ซึ่งได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคี
บทวิพากษ์ของ The Petition Project ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า
1. การกลับหนาว-ร้อนของโลกมีลักษณะที่เป็นวัฏจักร ไม่ใช่มีแต่ร้อนขึ้นอย่างเดียว ที่ผ่านมามียุคน้ำท่วมโลก และยุคน้ำแข็งสลับกันมาหลายครั้งแล้ว
2. ธารน้ำแข็งเริ่มละลายมานานก่อนการใช้ Hydrocarbon เสียอีก และละลายเร็วในอัตราเดียวกันมาตลอด 150 ปีแล้ว
3. อากาศที่ร้อนขึ้นเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ภาวะเรือนกระจกอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก เช่น แสงแดด เมฆ ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของผิวน้ำในมหาสมุทร ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ
4. พายุทอร์นาโดมีแนวโน้มลดลง ส่วนพายุเฮอริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติก ก็มีแนวโน้มคงที่ พายุขนาดใหญ่ เช่น Katrina {12} ในปี 2548 อาจเกิดได้เป็นครั้งคราว เราจึงไม่ควรถือเอาปรากฏการณ์ชั่วคราว มาทึกทักปะติดปะต่อกับภาวะโลกร้อน
5. ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7 นิ้วในรอบศตวรรษแต่เพิ่มมาก่อนยุคที่ใช้ Hydrocarbon ด้วยซ้ำไป
6. ป่าไม้ (ไม่ใช่สวนป่า) ในสหรัฐอเมริกาได้รับการปลูกเพิ่มขึ้น 40% ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปลูกป่าก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญนัก {13}
อย่าให้ใครลวงให้ตื่นตูม
มีอยู่ภาพหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพทะเลสาบ Aral Sea ในคาซัคสถาน {14} ซึ่งแต่เดิมมีขนาดใหญ่มาก แต่กลับแห้งไป มีเรือจอดอยู่บนพื้นคล้ายทะเลทราย ภาพดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ห่วงใยโลกเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นภาพแห่งการโกหกอย่างร้ายกาจ เพราะการเหือดหายไปของทะเลสาบนี้ เป็นผลมาจากการสูบน้ำและเป็นที่คาดหมายมานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนแม้แต่น้อย
[img]http://www.bcoms.net/upload/images/bcoms200712623182.jpg[/img]
ถ้าวันนี้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ระดับเดียวกับ กรากะตัว ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2426 เราคงลืมเรื่องโรคร้อนในบัดดล และนึกว่าโลกต้องแตกแน่แล้ว เพราะ แรงระเบิดนั้นคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ พื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลีลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร ในรัศมี 240 กิโลเมตร เถ้าธุลีบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดคล้ายตอนกลางคืน . . . อยู่ห่างถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยิน (เสียงระเบิด) . . . เกิดคลื่นสึนามิ สูงกว่า 30 เมตร . . . แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตรวจจับได้แม้แต่ที่สหราชอาณาจักร (อากาศยังเย็นลง 1.2 องศาทั่วโลกเป็นเวลาถึง 5 ปี) {15}
ท่านทราบหรือไม่ว่าแรงระเบิดของภูเขาไฟที่ร้ายแรงที่สุดก็คือภูเขาไฟ Tambora ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2358 ในครั้งนั้นประมาณกันว่ามีขนาดเท่ากับระเบิดปรมาณู 60,000 ลูกรวมกัน ทำให้ท้องฟ้ามืดมิด ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถึงอังกฤษ {16} แต่โลกเราก็รอดมาแล้ว และกลายเป็นปรากฎการณ์ที่คนส่วนใหญ่ลืมไปหมดแล้วในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรปริวิตกกับปรากฏการณ์ชั่วคราวจนเกินเหตุ
จากคุณ :
ชนกนันท์
- [
20 พ.ย. 51 21:41:35
]