ความคิดเห็นที่ 7
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health / NIH) ให้ข้อมูลว่า การนอนช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมความจำ และฝัน
คนเราไม่ได้หลับลึกเท่ากันทั้งคืน ทว่า...มีระยะของการหลับตื้นไปการหลับลึก จากหลับลึกไปสู่การฝันสลับกันไปจนครบรอบหนึ่ง (cycle) แล้วจึงเริ่มรอบใหม่อีกหลายครั้ง รอบหนึ่งกินเวลาประมาณ 90-110 นาที วันละ 4-5 รอบ
การหลับแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ ได้แก่ การหลับแบบไม่ฝัน 4 ระยะ (stages) ระยะของการหลับแบบไม่ฝันนานประมาณ 1 ชั่วโมง และการหลับแบบฝัน 1 ระยะ รวมเป็นรอบละ 5 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1: การหลับแบบไม่ฝันนานประมาณ 5 นาที ช่วงนี้อาจเห็นภาพเป็นช่วงสั้นๆ ไม่ต่อเนื่องกัน กล้ามเนื้ออาจกระตุกเล็กน้อย ความถี่คลื่นสมองลดลง
ระยะที่ 2: เป็นช่วงที่ร่างกายคนเราเริ่มพักผ่อน การหายใจลง อุณหภูมิร่างกายลดลง คลื่นสมองช้าลงไปอีก ลูกตาจะหยุดกลอกไปมา ระยะที่ 1-2 รวมกันเป็นระยะหลับตื้น
ระยะที่ 3: คลื่นสมองจะช้าลงไปอีกเป็นคลื่นช้า(เดลท่า) ความดันเลือดลดลง ร่างกายจะผ่อนคลายมาก
ระยะที่ 4: เป็นระยะที่ร่างกายผ่อนคลายมากที่สุด ช่วงนี้ร่างกายจะซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ฮอร์โมนเติบโตจะหลั่งออกมา มีการสร้างเม็ดเลือดขาว สร้างสารเคมีระบบภูมิต้านทานโรค ระยะที่ 3-4 เป็นระยะหลับลึก ปลุกให้ตื่นได้ยากกว่าระยะหลับตื้นหรือฝัน ระยะหลับลึกนานประมาณ 60 นาที
ระยะที่ 5: ระยะที่ 5 เป็นระยะหลับแบบฝัน ช่วงนี้ชีพจร และการหายใจจะเปลี่ยนแปลง เร็วบ้างช้าบ้าง ลูกตาจะกลอกไปมา คลื่นสมองมีลักษณะคล้ายคนที่ตื่นอยู่ การฝันเกือบทั้งหมดจะเกิดขึ้นในระยะนี้ ระยะนี้เป็นช่วงการหลับที่มีการกลอกลูกตาไปมา(ทั้งๆ ที่หลับตา) หรือ “อาร์ อี เอ็ม (rapid eye movement / REM)”
การหลับแบบฝันมีประโยชน์ต่อกระบวนการจดจำ และการเรียนรู้ ระยะการหลับแบบฝันกินเวลาประมาณ 10 นาที และจะเข้าสู่ระยะที่ 1 ซ้ำอีกหลายรอบจนกระทั่งตื่นนอน
การหลับเกิดเป็นวงรอบ (cycles) หลายๆ รอบ รอบละประมาณ 90-110 นาที การหลับในรอบหลังๆ จะมีช่วงการหลับลึก(หลับแบบไม่ฝันระยะ 3-4)สั้นลง การหลับแบบฝัน(ระยะ 5)ยาวขึ้น
ช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่การหลับส่วนใหญ่อยู่ในระยะหลับตื้น (ระยะ 1-2) และระยะหลับฝัน (ระยะ 5) เป็นส่วนใหญ่ จึงปลุกให้ตื่นได้ง่ายกว่าช่วงแรกของการหลับ
คนเราจะมีช่วงการหลับแบบฝันลดลงตามอายุ เด็กทารกมีระยะหลับแบบฝัน(ระยะ 5)วันละ 8 ชั่วโมง ผู้ใหญ่อายุน้อยมีระยะหลับแบบฝันวันละ 2 ชั่วโมง คนสูงอายุ(70 ปี)มีระยะหลับแบบฝันวันละ 45 นาที
คนเราจะต้องการนอนหลับคืนละไม่เท่ากัน บางคนนอนมาก บางคนนอนน้อย ทว่า... คนเกือบทั้งหมดต้องการนอนอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง หรือดีที่สุดประมาณวันละ 8 ชั่วโมง การนอนไม่พออาจทำให้คนเราหลงๆ ลืมๆ สับสน และทนต่อความกดดันรอบด้านได้น้อยลง
สถิติของหน่วยงานบริหารความปลอดภัยบนถนน (National Highway Traffic Safety Administration) สหรัฐฯ กล่าวว่า การนอนไม่พอมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุปีละ 100,000 ครั้ง และเป็นสาเหตุการตายปีละ 1,500 คน
นักวิทยาศาสตร์(ใจร้าย)นำหนูมาทดลอง กลุ่มหนึ่งให้นอนตามธรรมชาติ กลุ่มนี้มีอายุขัยประมาณ 3 ปี อีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้นอน กลุ่มนี้จะมีอายุขัยเหลือ 3 สัปดาห์ อายุยืนต่างกันถึง 17.33 เท่า
ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า การนอนมีความสำคัญต่อระบบประสาท ทำให้เซลล์ประสาทมีช่วงเวลาได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ
นอกจากนั้นการหลับยังช่วยในการหลั่งฮอร์โมนเติบโตในเด็กและผู้ใหญ่อายุน้อย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ตามปกติ
จากคุณ :
RoboT
- [
27 ม.ค. 52 22:10:17
A:172.16.0.114 X:125.24.76.112 TicketID:202517
]
|
|
|