ไปเจอมาครับ เลยเอามาฝาก เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
*
*
*
ชี้แจงเรื่องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้ข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลและเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด
เรียน ประชาชน สื่อมวลชน องค์กรเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง
หัวข้อ ชี้แจงเรื่องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้ข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล และ เรียกร้องให้มีการรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด
ตามสกู๊ปข่าวหน้า 1 หัวข้อ พิษแม่ม่ายน้ำตาล ไม่ร้ายเท่าแม่ม่ายดำ วันที่ 21 ม.ค. 52 เวลา 21:05 ตามเว็บไซต์ http://www.thairath.com/news.php?section=hotnews02&content=119984 เป็นบทสัมภาษณ์นายสันติศักดิ์ ดุลยพิทักษ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสัตว์เลี้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เกี่ยวกับเรื่องแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล ซึ่งมีเนื้อหาผิดพลาดจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้านักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายอติเทพ ไชยสิทธิ์ และนายแก่นพงศ์ บุญถาวร จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อแก้ไขความผิดพลาดโดยอ้างอิงจากรายงานข่าวดังกล่าวเป็นสำคัญ และเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐแสดงความรับผิดชอบ ดังนี้
1. ภาพที่ปรากฎเอามาประกอบในข่าวเป็นแมงมุมกลุ่มทาแรนทูราที่มีขนยาว และมักอาศัยอยู่ใต้ดินด้วยการขุดรู ซึ่งอยู่คนละกลุ่มกับแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (Brown Widow Spider) ที่มีตัวเป็นมัน และมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งกำลังถูกพบตามข่าว หากยึดตามการแบ่งทางอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ทางวิทยาศาสตร์แล้ว จะพบว่าสิ่งมีชีวิตสองกลุ่มนี้ แตกต่างกันในระดับ Suborder ซึ่งคงจะนับได้ว่า ห่างกันไกลมากเกินกว่าจะสามารถนำมานับญาติกันได้ โดย แมงมุมกลุ่มทาแรนทูรา อยู่ใน Suborder Mygalomorphae แต่แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลอยู่ใน Suborder Araneomorphae
2. นายสันติศักดิ์มีความเข้าใจสับสนว่าแมงมุมทุกชนิดสามารถเรียกว่าแม่ม่าย ได้ โดยสรุปจากพฤติกรรมที่ตัวเมียจะกินตัวผู้หลังการผสมพันธุ์ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะคำว่า แม่ม่าย หรือ Widow ในภาษาอังกฤษนั้น เป็นเพียงชื่อสามัญ หรือชื่อที่ถูกตั้งขึ้นในแมงมุมบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้สัตว์อีกหลายชนิดก็มีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นตั๊กแตน[ ตั๊กแตนตำข้าวเท่านั้น; กวิวัฏ ] และแมงป่องช้าง ดังนั้นถ้าจะใช้เหตุผลแบบนายสันติศักดิ์ ต่อไปคงต้องเรียกชื่อตั๊กแตน [ ตั๊กแตนตำข้าวเท่านั้น; กวิวัฏ ] และแมงป่อง ด้วยคำว่า แม่ม่ายนำหน้า หมดทุกชนิด!
3. นายสันติศักดิ์กล่าวว่า จุดเน้น ถ้าเป็นแมงมุมสายพันธุ์ต่างประเทศ ที่ไม่ใช่แมงมุมแถบเอเชีย หรือในประเทศไทย จะมีขนยาวทุกตัว ข้อความนี้แสดงถึงความผิดพลาดในข้อมูลพื้นฐานอย่างมาก เพราะแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (Latrodectus geometricus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ มีถิ่นอาศัยอยู่ทางภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา บางส่วนในออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ เป็นแมงมุมที่มีลักษณะตัวเป็นมัน ไม่มีขนยาวเลย นอกจากนี้ก็ยังมีแมงมุมสายพันธุ์ต่างประเทศอีกมากที่ไม่ได้มีขนยาว เช่น แมงมุมแม่ม่ายดำที่ไม่ใช่พวกทาแรนทูรา (Latrodectus mactans) ,
แมงมุมหลังแดง (Redback spider, Latrodectus hasseltii) เป็นต้น
4. นายสันติศักดิ์กล่าวว่า โดยธรรมชาติ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลอยู่ในป่า ตามทุ่งโล่ง ไม่ได้อยู่ในที่อับทึบ ถ้าเป็นสนามฟุตบอลก็จะอยู่ตามรู ตามป่าละเมาะก็อยู่ในรูโคนต้นไม้ แดดส่องถึง ในความเป็นจริงแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลถูกจัดอยู่ในพวกแมงมุมชักใย หากแบ่งทางอนุกรมวิธานแล้วจะพบว่าอยู่ในวงศ์ Theridiidae ซึ่งต่างจากพวกทารันทูราที่มักจะขุดรูอยู่ มีบางชนิดที่คนไทยเรียกว่าบึ้ง โดยแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลมักจะชักใยที่ไม่สูงจากพื้นมากนัก
5. จากการที่นายสันติศักดิ์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับแมงมุม ทำให้นำเสนอข้อมูลที่เข้าใจสับสนอีกหลายประการเช่น กล่าวว่า แมงมุมโกไลแอธ ( Bird-eating Spider) ก็นับเป็นแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่าโกไลแอธก็จัดเป็นพวกเดียวกับทาแรนทูราอีกเช่นกัน
6. นายสันติศักดิ์กล่าวว่า พิษแมงมุมแม่ม่ายดำ จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผิวหนังตาย หรือมีเลือดออกตามอวัยวะภายในต่างๆ เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Neurotoxic Venom) ไม่สามารถทำให้ผิวหนังตายได้ แต่เป็นเพราะสารเคมีชนิดอื่นในน้ำพิษที่ทำให้โปรตีนในผิวหนังเสื่อมสภาพ เกิดเป็นแผลพุพองเนื้อเยื่อตาย เป็นต้น
7. เราพบว่า แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลมีพิษแรงเป็น 2 เท่าของแมงมุมแม่ม่ายดำ (ที่ไม่ใช่พวกทาแรนทูรา) เพียงแต่ปล่อยในปริมาณที่น้อยกว่า แม้ว่าจะมีสถิติการตายน้อย แต่ก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตมีพิษที่มีความอันตราย และมีความเสี่ยงต่อคนทั่วไป นายสันติศักดิ์กล่าวว่า ใครที่เคยดูหนังเรื่องสไปเดอร์แมน แมงมุมตัวเล็กๆ ตัวสีแดง โตกว่าหัวไม้ขีดหน่อยนึง เป็นแม่ม่ายดำชนิดหนึ่ง แต่พิษเทียบปริมาณเท่าๆ กันจะแรงกว่างูเห่าเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า...แมงมุมชนิดนี้ตัวเล็กมาก น้ำพิษมีน้อย กัดเราสักร้อยตัว ก็ไม่เป็นไร ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสียงทั้งหมด เพราะพิษของแมงมุมจำนวนมากอาจเข้าไปทำลายระบบประสาทหลายๆ ส่วน หากเป็นการทำลายตัวยับยั้งสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อกระบังลม ก็จะทำให้ผู้ถูกกัดเสียชีวิตได้ในที่สุด
จากข้อมูลทั้งหมด ข้าพเจ้าทั้งสองต้องการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะความปลอดภัย และการเลือกข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ เป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องการเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐใส่ใจกับคุณภาพของข้อมูลมากกว่าจำนวนจำหน่าย หากไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ นั่นหมายถึงว่า
หนังสือพิมพ์ที่ยอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศ ไม่ได้มีคุณค่าไปมากกว่ากระดาษชำระ และเราจะดำเนินการให้ถึงที่สุดทั้งการรณรงค์ และทางกฎหมาย
นายอติเทพ ไชยสิทธิ์
นายแก่นพงศ์ บุญถาวร
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: http://www.siamensis.org/board/11548.html
*** หนังสือชี้แจงนี้ผมอ่านพบจากเวบไซต์ข้างบน มิได้เป็นคนร่างเองแต่อย่างใด โปรดอย่าเข้าใจว่าผมแอบอ้าง
แก้ไขเมื่อ 10 ก.พ. 52 09:09:30
จากคุณ :
กวิวัฏ
- [
9 ก.พ. 52 17:45:13
]