ไอน์สไตน์ตอนเป็นเด็ก แสนจะโง่ทึ่มเรียนรู้ได้ช้า สอบตกแทบทุกวิชา
ข้อชี้แจง
ใครที่ชอบอ่านประวัติของอัจฉริยบุคคลคงจะเคยพบว่า บ่อยครั้งที่หนังสือต่างๆ จะเล่าว่า อัจฉริยะท่านนั้นในวัยเด็กมักจะเรียนหนังสือไม่เก่ง ดูเหมือนโง่ หัวทึบ ฯลฯ และเนื่องจากไอน์สไตน์เป็นหนึ่งในบรรดาอัจฉริยะทั่วโลกคุ้นเคยกันมากที่สุด จึงมักจะเป็นตัวอย่างยอดนิยมที่ถูกกล่าวถึงในทำนองนี้อยู่เสมอ
ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่ค้นพบเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือ ไอน์สไตน์เกิดมามีหัวกะโหลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ ทำให้พูดได้ช้ากว่าปกติ และพอเข้าโรงเรียน ก็เป็นนักเรียนที่เรียนไม่ดีและมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับครูอีกด้วย !
แต่น่าสงสัยไหมละว่า หากไอน์สไตน์มีหัวกะโหลกบูดเบี้ยวจริง ทำไมเขาถึงได้สร้างสรรค์งานทางวิทยาศาสตร์ไว้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อมีอายุเพียง 26 ปี ในปี ค.ศ. 1905 ซึ่งถือกันว่าเป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์ (Einstein Miraculous Year)
เรื่องที่ว่าไอน์สไตน์พูดได้ค่อนข้างช้านั้น ฝรั่งเองก็เชื่อกันมาก ถึงขนาดที่บางคนเรียกอาการที่เด็กฉลาด แต่พูดได้ช้าว่ากลุ่มอาการไอน์สไตน์ (Einstein Syndrome) ประเด็นนี้มีเกร็ดสั้น ๆ เล่าว่าสุภาพสตรีที่ทำงานรับใช้ในครอบครัวของไอน์สไตน์ออกปากว่าไอน์สไตน์นั้นโง่ เพราะเธอสังเกตเห็นว่าไอน์สไตน์มักจะทวนประโยคพูดซ้ำ ๆ 2 ครั้งเสมอ
แต่คนที่ศึกษาประวัติของไอน์สไตน์แบบเจาะลึก เช่น ไมเคิล ฮาวอี (Michael J.A. Howe) แห่งมหาวิทยาลัยเอกซีเทอร์ (Exeter University) กลับมองเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งว่า พูดซ้ำก็ไม่จำเป็นต้องโง่ซะหน่อย แถมยังตีความว่า นี่เป็นยุทธวิธีในการทบทวนคำพูดของหนูน้อยไอน์สไตน์ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประโยคที่หลุดออกจากปากนั้นถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ (มองกันแง่ดีแบบสุด ๆ ) และในช่วงวัยนี้เองก็มีหลักฐานว่า ไอน์สไตน์ชอบเล่นเกมปริศนา แถมยังฉายแววความมุ่งมั่นในการทำเรื่องหนึ่ง ๆ ให้เสร็จสิ้นอีกด้วย อย่างเช่น เล่นตัวต่อ ก่อไพ่เป็นรูปบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเขียนโดยคุณยายของไอน์สไตน์เองระบุว่า ขณะที่หนูน้อยไอน์สไตน์อายุเพียง 2 ขวบกับ 8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้องสาวชื่อ มายา (Maja) ถือกำเนิดขึ้นนั้น ผู้ใหญ่พูดกับไอน์สไตน์ว่ากำลังจะมีเพื่อนเล่นใหม่แล้วนะ ทำให้หนูน้อยไอน์สไตน์ถามกลับด้วยความสงสัยว่า แล้วล้อของ ของเล่น ชิ้นใหม่นี้อยู่ตรงไหนล่ะ?! (น้องสาว = ของเล่น และของเล่นก็ควรจะมีล้อจะได้วิ่งได้) จุดนี้เองที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากเด็กอายุไม่ถึง 3 ขวบสามารถคิดและพูดได้ขนาดนี้แล้ว จะเรียกว่าเขามีพัฒนาการช้าได้หรือ?
พอไอน์สไตน์อายุได้ 4-5 ขวบ ก็มีเหตุการณ์ประทับใจที่ทำให้เขาจดจำไปชั่วชีวิต นั่นคือ คุณพ่อได้มอบเข็มทิศให้ขณะที่เขากำลังล้มป่วยอยู่ ไอน์สไตน์รู้สึกทึ่งเหลือเกินว่า ทำไมเข็มทิศถึงได้ชี้ทิศเหนืออยู่ตลอดเวลา? มันต้องมีพลังอะไรสักอย่างที่เรามองไม่เห็น รู้สึกก็ไม่ได้ ที่ทำให้เข็มทิศมีพฤติกรรมเช่นนั้น นี่คือความประทับใจทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของเขา ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมุ่งมั่นในการค้นหาสัจจะแห่งธรรมชาติตลอดชั่วชีวิตของเขา
อีกเรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์โดนกล่าวหาก็คือ เขาเก่งแต่คณิตศาสตร์แต่สอบตกวิชาอื่นหมด รวมทั้งภาษาก็ไม่ได้เรื่องอีกด้วย เรื่องนี้น่าคิดเพราะประวัติที่ค้นได้บ่งว่า เขาชื่นชมภาษาละตินเหลือเกิน เนื่องจากภาษาละตินมีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่งดงาม ส่วนเรื่องการเขียนรายงานนั้น ก็มีหลักฐานของทางโรงเรียนว่าเขาทำรายงานได้ดีเช่นกัน
พออายุได้ 11 ปี ไอน์สไตน์วัยโจ๋ก็สนใจอ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์กับศาสนา และก็เริ่มคิดว่าเรื่องราวทางศาสนาหลายเรื่องนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ไอน์สไตน์ก็เริ่มสนใจคณิตศาสตร์ และสามารถพิสูจน์ทฤษฎีบทของพิทากอรัสได้ด้วยตนเอง แม้ว่าจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ก็ตามที (อย่าลืมว่าไอน์สไตน์เรียนรู้เองตอนอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น)
พออายุได้ 12 ปี คุณลุงของไอน์สไตน์ซึ่งเป็นวิศวกร ก็ได้มอบหนังสือเรขาคณิตให้เขาใช้ศึกษา ไอน์สไตน์รู้สึกประทับใจในความเรียบง่ายและความงดงามของเรขาคณิตของยูคลิดมาก และแนวทางของยูคลิดนี่เอง (เรียบง่าย + งดงาม) ที่เชื่อกันว่ามีผลต่อการคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ ทางฟิสิกส์ของเขาในเวลาต่อมา
ได้รู้ประวัติในวัยเด็ก (ถึงวัยรุ่น) ในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างนี้แล้วยังคงคิดว่าไอน์สไตน์ตอนเด็กโง่ทึ่มอีกไหม?
---------------------------------------------------------
ที่มา http://www.rmutphysics.com/charud/specialnews/5/einstein1/einstein2.htm
จากคุณ :
คุณใหม่
- [
9 ก.พ. 52 21:26:49
A:58.8.165.148 X: TicketID:176266
]