ความคิดเห็นที่ 39
การปฏิรูปทางศาสนา
ยุโรปหลุดออกมาจากยุคกลางเข้าสู่ยุคฟื้นฟูทางศิลปวิทยาการได้เพียงไม่นาน อำนาจของโป๊ปที่เคยยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินยุโรปก็สิ้นสุดลง เพราะอิทธิพลของแนวความคิดและการตื่นตัวของประชาชนที่ได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการมากขึ้น เกิดเป็นความขัดแย้งของความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ซึ่งได้ม้วนเอาเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวด้วยทำให้การโต้แย้งแข็งขืนกลายเป็นการต่อสู้ด้วยกำลัง การห้ำหั่นบีฑา (persecution) และ สงครามศาสนา (religious war) ก็เกิดขึ้น
แต่สงครามศาสนาคราวนี้เป็นการทำสงครามของชาวคริสต์กันเองที่มีความเชื่อแตกต่างกัน คือนิกายโรมันคาธอลิก กับนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งต่างก็ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนอกรีต
ฝ่ายคาธอลิกได้ระดมทุนเพื่อจะรักษาความยิ่งใหญ่ให้เหนือโปรเตสแตนต์ โดยให้มีการขายใบไถ่บาป (indulgence) ซึ่งอ้างว่าโปรดประทานจากพระคลังบุญ (Treasury of Merits) ของพระเยซูและเหล่านักบุญ โดยมีตัวแทนจำหน่ายในท้องที่ต่าง ๆ
การขายใบไถ่บาปทำให้ได้เงินมหาศาล (รวมทั้งเงินที่เอามาสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ที่กรุงโรม) บาทหลวงบางคนขายใบไถ่บาปเอาเงินให้สันตะปาปาเพื่อแลกกับตำแหน่งในสมณศักดิ์สูง การก่อสร้างและการสะสมทำให้ฝ่ายศาสนจักรมีทรัพย์สินมหาศาล
มาถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๕๑๗ บาทหลวงเยอรมันชื่อมาร์ติน ลูเธอร์ ได้ปิดประกาศคำประท้วงการขายใบไถ่บาป ถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งการปฏิรูป ที่ให้ชาวคริสเตียนคืนกลับไปหาคัมภีร์ไบเบิลโดยปฏิเสธอำนาจขององค์สันตะปาปา หลังจากนั้นไม่นาน การกำจัดกวาดล้างรบราฆ่าฟันและสงครามก็ตามมา
การที่มาร์ติน ลูเธอร์ สามารถได้กำลังสนับสนุนมาต่อสู้กับวาติกันเพราะมีผู้เชื่อในคำสอนทางศาสนาที่เขาตีความใหม่มากขึ้น และมีเหตุผลทางการเมืองดังที่มีบันทึกไว้ว่า
ทั่วยุโรปภาคเหนือ กษัตริย์และเจ้าผู้ครองดินแดนทั้งหลาย ซึ่งรู้ตระหนักว่าตนกำลังมีอำนาจมากขึ้น มีความไม่พอใจอยู่แล้วต่อการที่องค์สันตะปาปาซึ่งประทับอยู่แสนไกล มาถือสิทธิคุมอำนาจบังคับบัญชาตน แถมยังดูดสูบเอาโภคทรัพย์ไปยังกรุงโรมอีกด้วย (Europe,history of,New Grolier Multimedia Encyclopedia,1994)
การปฏิรูป (Reformation) ซึ่งเป็นของฝ่ายโปรเตสแตนต์ ตามมาด้วยการโต้ปฏิรูป (Counter-Reformation) ของฝ่ายโรมันคาธอลิก (ค.ศ.๑๕๔๐-๑๖๑๐)เพื่อเร่งงานกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์ให้หมดสิ้น ในช่วงเวลานับแต่เริ่มยุคการปฏิรูป ชาวคริสต์สองนิกายได้ทำสงครามห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนาระหว่างราษฎรกับราษฎร ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งบ้าง ระหว่างกลุ่มประเทศทั่วทั้งยุโรปบ้าง ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยุโรปแล้ว ก็ส่งผลไปถึงการเกิดขึ้นของประเทศในโลกใหม่คืออเมริกาด้วย
ยกตัวอย่าง ในประเทศอังกฤษซึ่งได้กลายเป็นประเทศโปรเตสแตนต์เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ แยกออกจากโรมันคาธอลิก โดยประกาศไม่ยอมรับอำนาจขององค์สันตะปาปาและให้รัฐสภาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นประมุขแห่งศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Church of England) คือนิกายแองกลิคาน (Anglican Church) ในปี ๑๕๓๔ ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษเป็นศาสนาประจำชาติมาจนบัดนี้ พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ได้ทรงกำราบและยึดทรัพย์โบสถ์ทั้งหลายของคาธอลิก ใครยอมเชื่อฟังโป๊ปถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้นับถือโรมันคาธอลิกคนใดไม่ยอมรับสถานะของพระองค์ว่าเป็นประมุขของศาสนจักรก็ถูกประหารชีวิต พึงสังเกตว่า อังกฤษกำจัดไม่เฉพาะชาวคาธอลิกเท่านั้นแต่กำจัดโปรเตสแตนต์นิกายอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย ดังนั้นพวกถือนิกายลูเธอแรนก็ถูกจับเผาทั้งเป็นจำนวนมาก
ต่อมาพระนางแมรีที่ ๑ ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.๑๕๕๓ สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงข้าม พระนางแมรี่พยายามกุ้นิกายโรมันคาธอลิกกลับขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้กำจัดผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ปรากฏว่าชาวโปรเตสแตนต์ถูกเผาทั้งเป็นประมาณ ๓๐๐ คน บ้างก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น
การณ์กลับกลายอีกครั้งเมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๑ ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระนางแมรี่ที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๑๕๕๘ พระนางทรงฟื้นนิกายโปรเตสแตนต์กลับขึ้นมาอีก และโดยเฉพาะปลายรัชกาลทรงกำจัดฝ่ายโรมันคาธอลิกอย่างโหด:-)มถึงกับประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก
ส่วนฝรั่งเศสนั้นตรงกันข้าม ได้พยายามรักษานิกายโรมันคาธอลิกไว้ให้มั่นคงและกำจัดโปรเตสแตนต์อย่างถึงที่สุด พวกโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสมีชื่อเรียกว่า พวกฮิวเกนอตส์ (Huguenots) เมื่อพวกฮิวเกนอตส์มีกำลังเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้กำจัดด้วยวิธีรุนแรงจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามศาสนาถึง ๘ ครั้งในช่วง ค.ศ. ๑๕๖๒-๑๕๙๘ แต่หลังจากสงบศึกไประยะหนึ่ง ต่อมาก็กำจัดกันใหม่และเกิดสงครามใหม่อีก
พวกฮิวเกนอตส์จำนวนมาก เห็นว่าจะอยู่ในประเทศของตนเองต่อไปไม่ไหว ก็หลบหนีไปประเทศอื่น เช่นอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อีกส่วนหนึ่งก็ต่อไปยังดินแดนแห่งโลกใหม่คือ อเมริกา (เช่นในรัฐ Masachusetts, New York, Florida และ South Carolina)
พวกที่หนีไปครั้นนั้น มีจำนวนประมาณ ๔ แสนถึง ๑ ล้านคน เนื่องจากพวกฮิวเกนอตส์เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความรู้และฝีมือแรงงานดี ตลอดจนเป็นนายทหาร จึงทำให้ทหารฝรั่งเศสสูญเสียทรัพยากรคนไปจำนวนมาก การกำจัดและสงครามเพื่อกำจัดพวกฮิวเกนอตส์นี้ ดำเนินมาจนถึง ค.ศ.๑๗๘๙ (รวม ๒๒๗ ปี)จึงสิ้นสุดลง ส่วนในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดเกิดกรณี คือเป็นที่เริ่มต้นของนิกายโปรเตสแตนต์ การกำจัดห้ำหั่นกันก็เป็นไปอย่างรุนแรงยาวนาน
ในที่สุดการปฏิรูปของฝ่ายโปรเตสแตนต์และการโต้ปฏิรูปของฝ่ายโรมันคาธอลิก ก็มาถึงจุดแตกหักกลายเป็นสงครามศาสนาครั้งใหญ่ของยุโรปตะวันตก ระหว่างประเทศทั้งหลายที่นับถือต่างนิกายกัน เป็นการรบกันอย่างยาวนานถึง ๓๐ ปีเรียกว่า Thirty Years War ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ ก่อภัยพิบัติทั้งแก่มนุษย์ เศรษฐกิจและสภาพสังคมทั่วไปของยุโรปอย่างมหาศาล เมืองหลายเมืองหมดประชากรไปครึ่งเมืองหรือเกินกว่าครึ่ง
ตัวอย่างของความโหด:-)มในสงครามศาสนา ได้แก่เมืองๆหนึ่งในเยอรมันชื่อเมือง แมกดีเบอร์ก (Magdebrug)ซึ่งเป็นเมืองฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ ถูกกองทัพฝ่ายคาธอลิกบุกใน ค.ศ. ๑๖๓๑ เมืองทั้งเมืองถูกเผา ราษฎรที่มีอยู่ ๓๐,๐๐๐ คนถูกฆ่าไปถึง ๒๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์สยดสยองจากสงคราม ๓๐ ปียังคงฝังแน่นในความทรงจำของประชาชนยิ่งกว่าสงครามใดๆ (ก่อนศตวรรษที่ ๒๐) สงคราม ๓๐ ได้สิ้นสุดลงด้วยการเซ็นสัญญาสันติภาพ (Peace of Westphalia) ใน ค.ศ. ๑๖๔๘
ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา
ศตวรรษที่ ๑๘ ถูกนับว่าเป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Age of the Enlightened) เป็นยุคที่ยุโรปได้เข้าสู่การคิดด้วยเหตุผลว่าจะสามารถรู้ในความจริงของทุกสรรพสิ่งในสากลพิภพ และคิดว่าตนจะแก้ไขปรัปปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ พร้อมทั้งความใฝ่นิยมเสรีภาพ ชื่นชมวิทยาศาสตร์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อถืองมงายในโชคลางพิธีรีตองต่าง ๆ ซึ่งขัดแย้งกับทางฝ่ายศาสนจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยุคแสงสว่างฯ นี้ได้รับผลจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๕๔๓ และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ จนทำให้คริสตศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญานั่นเอง การตื่นตัวและความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาในยุคนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นการอภิวัฒน์ ถึง ๒ เหตุการณ์ คือ
๑.การอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (French Revolution) ในค.ศ. ๑๗๘๙-๑๘๑๕ และการอภิวัฒน์อเมริกาในปี ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๘๓
๒.การอภิวัฒน์อุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษประมาณค.ศ.๑๗๕๐-๑๘๕๐
การอภิวัฒน์ทั้งสองนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างมากมายและกว้างขวาง พลิกผันสภาพบ้านเมือง ระบบสังคมและวิถีชีวิตของผู้คน นำอารยธรรมขึ้นสู่ยุคใหม่โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมถือว่าเป็นตัวกำหนดให้สังคมตะวันตกและโลกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern Age) ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสังคม แนวความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ได้ทำให้กระแสความคิดความสนใจของคนสมัยใหม่ในตะวันตกที่ผละออกจากการครอบงำของศาสนาคริสต์แล้วนั้น ยิ่งห่างไกลออกจากศาสนาเรื่อย ๆ และอิทธิพลของศาสนจักรก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป แล้วยังส่งผลไปถึงประชาชนในดินแดนห่างไกลที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย
ดินแดนแห่งเสรีภาพ
อเมริกา เป็นดินแดนที่ผู้อพยพมาจากทวีปยุโรปเข้าขับไล่ผู้อาศัยอยู่เดิมให้เข้าไปอยู่ในเขตสงวนแล้วตนเองจึงเข้าครอบครองอาณาเขตทั้งหมด และก็เป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้อพยพมา ก็คือ การหนีภัยบีบคั้นกำจัดหรือ การห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ในประเทศเดิมของตน
นอกจากฝรั่งเศสที่พวกโปรเตสแตนต์ที่มีชื่อเรียกว่าพวกฮิวเกนอตส์ หนีภัยมายังดินแดนใหม่ ชาวอังกฤษก็เป็นแหล่งใหญ่ของผู้หนีภัยทางศาสนา เริ่มตั้งแต่พวกโปรเตสแตนต์อังกฤษที่มีชื่อเรียกว่าพวก Puritans ซึ่งหนีมาในสมัยของพระนางแมรี่ที่ ๑ ผู้กุ้นิกายโรมันคาธอลิกและกำจัดพวกโปรเตสแตนต์ พวก Puritans มายังอเมริกาตั้งแต่ ปีค.ศ. ๑๖๒๐ มาตั้งรกรากอยู่ที่ Plymonth ในรัฐแมสสาจูเซททส์ พวก Puritans อพยพมาอเมริกาครั้งใหญ่อีกในช่วง ค.ศ.๑๖๓๐-๑๖๔๐ ต่อมาพวกอพยพหนีภัยศาสนาก็อพยพมาอเมริกาอีกเป็นระลอก
ในฐานะที่อเมริกาเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตามมาออกกฏหมายให้คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นศาสนาราชการในเวอร์จิเนีย, แมรี่แลนด์,นิวยอร์ค,แคโรไลน่าเหนือ-ใต้และจอร์เจีย ในรัฐเวอร์จิเนีย เจ้าหน้าที่อาณานิคมซึ่งอยู่ข้างนิกายอังกฤษก็เกิดปัญหาขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียน พวกแบพติสต์และนิกายอื่น ๆ
ฝ่ายชาวอาณานิคมเองทั้งที่ได้ประสบภัยเบียดเบียนทางศาสนาในยุโรปมาอย่างหนักแล้ว เมื่ออพยพมาได้ที่พักพิงในอเมริกาแล้ว ก็ยังถูกตามมาเบียดเบียนราวีในอเมริกาอีก มีการแบ่งเป็นกลุ่มของตนและกำจัดกลุ่มอื่น เช่นในรัฐแมสสาจูเซททส์ ได้มีการกำจัดพวกเควกเกอรส์และพวกแบพติสต์ รวมทั้งมีการล่าและฆ่าผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด
ชาวคาธอลิกที่หนีมายังอเมริกาเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับชาวโปรเตสแตนต์ แต่จะกลายเป็นตรงกันข้ามในดินแดนของคานาดาในยุคนั้น ที่รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏหมายห้ามมิให้มีนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนในแมรี่แลนด์ที่มีชาวคาธอลิกมากที่สุดก็ไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ได้รับการเบียดเบียนอย่างเบา ๆ ตามกฏหมายของรัฐใน ค.ศ. ๑๖๙๑ คือคนที่นับถือนิกายคาธอลิกจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ห้ามไม่ให้ประกอบพิธีทางศาสนาเว้นแต่เฉพาะในบ้านของตนเอง
คนอเมริกันผู้หนีภัยการเบียดเบียนในเรื่องศาสนามายังดินแดนใหม่ จึงมีจิตสำนึกที่ฝังลึกในใจที่สำคัญ คือความใฝ่ปรารถนาและเชิดชูบูชาเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเสรี เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อได้รับอิสรภาพที่จะปกครองตนเองแล้ว ก็ได้ถือเรื่องเสรีภาพนี้มาเป็นหลักการสำคัญและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนาด้วย ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายนิกายตกลงกันไมได้ว่าจะถือนิกายใดเป็นใหญ่ หรือจะถือหลักศาสนาร่วมกันได้อย่างไร อเมริกาก็วางหลักการแห่งการแยกศาสนาจักรกับอาณาจักรออกจากกัน... ศาสนากับการล่าอาณานิคม
จากคุณ :
Heretic
- [
7 มี.ค. 52 15:36:20
A:113.53.22.172 X: TicketID:202689
]
|
|
|