 |
ปลอดภัยไหม เตะบอลใต้ปล่องเมรุเผาศพ / Jojimaru
บทความจากห้องศุภ ที่คิดว่าเหมาะสมจะเอามาลงหว้ากอด้วยครับ
นานๆ ครั้ง ผมจะได้มีโอกาสนั่งเปิดรูปภาพการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (ว่าแต่ตอนนี้มันกลางปีหรือยังนะ) และก็สะดุดใจกับภาพบางภาพ ที่เป็นการแข่งขันที่ สนามเทศบาลตำบลหนองปรือ สนามชั่วคราวของสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด หรือที่ท่าน มาร์ท นรา นักเขียนของ ThaiKickOff เรียกแบบติดตลกว่า เมรุ อารีน่า สเตเดียม
บรรยากาศในสนามไม่ต่างจากสนามบอลในประเทศไทยทั่วไปสักเท่าไหร่ มีผืนหญ้าเขียวขจี มีที่นั่ง-ที่ยืน สำหรับกองเชียร์เจ้าถิ่นและผู้มาเยือน แต่จะมีสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนักในกีฬาระดับประเทศ นั่นคือ บริเวณที่ดินผืนใหญ่ข้างสนามเป็นที่ตั้งของ วัดสุทธาวาส สถานที่สงฆ์ที่สำคัญของตำบล และแน่นอนครับ ถ้ามีวัดก็ต้องมีสิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธอยู่สิ่งหนึ่ง นั่นคือ เมรุเผาศพ นั่นเอง
ถ้าใครจำได้ เมื่อครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพที่ผ่านมา ที่สนามกีฬาหนองปรือแห่งนี้ บางนัดมีการแข่งขันในช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับทางวัดมีการ ฌาปนกิจ กันพอดี ควันจากเมรุแห่งนี้ลอยขึ้นไปตามความสูงของปล่อง และปล่อยออกมาในทิศทางแบบ ไร้การควบคุม นั่นคือ ลมมาทางไหน ฝุ่นและควันไปตามนั้น จึงไม่แปลกหากจะลอยลงมาหานักฟุตบอลและแฟนบอลที่รับชมการแข่งขันฟุตบอลกันอยู่แบบชิดติดขอบสนาม
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าเป็นรูปแบบใด เพราะจะมีผลต่อระยะการลอยและตกของฝุ่นควัน แต่จะว่าไป อยู่ใกล้ๆ มันก็มีความเสี่ยงอยู่ดี ลองถามชาวบ้านใกล้เคียงวัดต่างๆ ดูน่าจะพอทราบว่า ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาศพบนเมรุนั้น มันเคยไปไกลกว่าหลังคาบ้านพวกเขาสักกี่ครั้งกัน
กล่าวถึงเตาเผาศพ ทาง ThaiKickOff มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ครับ
ทฤษฎีการเผาไหม้และการเผาศพ
โดยปกติกระบวนการเผาไหม้เกิดขึ้นโดยปฏิกิริยาระหว่างสารไฮโดรคาร์บอนกับก๊าซออกซิเจน เกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอนํ้าในกรณีที่เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ การเผาไหม้เป็นปฏิกิริยาคายความร้อนดังนั้นจึงทำ ให้เกิดพลังงานในรูปของความร้อนออกมาด้วย และในกรณีที่การเผาไหม้เกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปริมาณออกซิเจนหรืออุณหภูมิสูงไม่เพียงพอ เป็นต้น จะทำ ให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมาด้วย นอกจากนี้หากสารไฮโดรคาร์บอนมีสารประกอบอื่นเจือปน เช่น พวกคลอไรด์ โลหะหนัก กำ มะถัน ก็จะทำ ให้เกิดก๊าซพิษอื่นๆ ตามมาด้วย
การเผาไหม้อย่างสมบูรณ์
CnHm + (n + m/4) O2 ได้ nCO2 + m/2 H2O + Heat สารไฮโดรคาร์บอน ออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอนํ้า พลังงานความร้อน
การเผาศพก็เช่นเดียวกับการเผาไหม้เชื้อเพลิง นั่นคือต้องพยายามทำ ให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ให้มากที่สุดเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมา สำ หรับการเผาศพนั้นสารไฮโดรคาร์บอนได้มาจาก 2 แหล่ง คือ จากเชื้อเพลิงภายนอก และจากตัวศพและโลงศพ โดยจะใช้เชื้อเพลิงภายนอกในการอุ่น เตาและการเผาศพในช่วงแรกเพื่อให้ศพและโลงศพถึงจุดติดไฟ และจะยังคงใช้สำหรับ เผาศพต่อไปเมื่อเชื้อเพลิงจากตัวศพหมดไป
เมื่อเราทราบว่าศพมีการเผาไหม้อย่างไรแล้ว ทีนี้เรามาทราบกันบ้างว่า อันตรายจากมลภาวะจากการเผาศพจะมีอะไรบ้าง
มลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพ
จากการศึกษาวิธีการเผาศพ พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาศพ เช่น เขม่าควันและกลิ่นมักจะเกิดในช่วงต้น ๆ โดยตามประเพณีจะมีการเผาโลงไปพร้อมกับการเผาศพในช่วง 30 นาทีแรกเปลวไฟจะไหม้เลียลามโลงแตก และเมื่อโลงแตกแล้วศพจึงจะถูกเปลวไฟเผาไหม้ในช่วงนี้จะมีการระเหยนํ้าออกมาจะทำ ให้อุณหภูมิในเตาเผาลดลง หากไม่มีการโหมไฟให้พอเหมาะ อาจทำ ให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็จะเกิดเขม่าควันและมลพิษอื่นๆ จาการสลายตัวของไขมันและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ถูกเผาไหม้โดยเฉพาะสิ่งของต่างๆ ที่บรรจุไปในเตาเผาศพ เช่น เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวของผู้เสียชีวิตเป็นต้น
ช่วงการเผาศพนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 30 นาที หลังจากช่วงนี้แล้วอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นศพจะโทรมและเข้าสู่ช่วงสลายตัวของกระดูกซึ่งจะไม่มีกลิ่นเกิดขึ้นในช่วงนี้มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น มักเกิดเนื่องจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือุณหภูมิไม่สูงพอทำให้เกิดสารมลพิษ เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งเขม่าและขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกลิ่นจากการสลายตัวของสารอินทรีย์ในศพ ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนด้วย
สาเหตุและการควบคุมมลพิษจากเตาเผาศพ
การเกิดมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพมีสาเหตุหลักจาก
1. เชื้อเพลิง รวมถึงโลงศพ วัสดุและสิ่งของที่ใส่รวมลงไปในการเผาศพ: โดยพบว่าหากเป็นเตาเผาที่ใช้ไม้ฟืนหรือถ่านเป็นเชื้อเพลิงมักจะเกิดปัญหามลพิษมากกว่าการใช้นํ้ามันหรือก๊าซ เนื่องจากจะควบคุมปริมาณเชื้อเพลิง อากาศ และอุณหภูมิในการเผาไหม้ให้เหมาะสมได้ค่อนข้างยาก ทำ ให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และเกิดปัญหามลพิษทางอากาศได้ นอกจากนี้วัสดุและสิ่งของที่ใส่รวมลงไป เช่น พลาสติก ใยสังเคราะห์ หรืออื่นๆ ก็จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศชนิดอื่นๆ ที่จะต้องคำนึงถึงด้วย ในการกำจัดมลพิษทางอากาศประเภทนี้ ต้องใช้อุณหภูมิการเผาไหม้ที่สูงมากพอสมควรหรืออาจต้องใช้ระบบบำบัดมลพิษเพิ่มเติมเป็นพิเศษด้วย
2. การออกแบบเตาเผาศพ: ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงเพื่อลดปัญหามลพิษที่อาจจะเกิดขึ้น คืออุณหภูมิในการเผาไหม้ ระยะเวลาในการเผาไหม้ รวมทั้งลักษณะการผสมผสานของอากาศในเตาเผาโดยพยายามทำ ให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ทั่วทั้งเตา และให้มีความสามารถเพียงพอในการทำ ให้มลพิษหรือกลิ่นที่เกิดขึ้นสลายตัวด้วย นอกจากนี้ เตาเผาศพแบบ 2 ห้องเผา ก็สามารถช่วยในการกำ จัดมลพิษ เช่น เขม่าควันและกลิ่นที่เกิดขึ้นจากการเผาศพในห้องเผาแรกก่อนที่จะระบายอากาศเสียออกสู่บรรยากาศภายนอก ทำให้ช่วยลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นได้
3. ขั้นตอนการเดินระบบเผาไหม้ของเตาเผา: เช่น การอุ่นเตาก่อนที่จะเริ่มทำ การเผาศพ จะช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศได้ระดับหนึ่ง และพบว่าแม้จะใช้เตาที่มีระบบการเผาไหม้ดี หรือใช้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี แต่หากไม่บำรุงรักษาเตาให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ หรือผู้ควบคุมการเดินระบบเตาเผาไม่เดินระบบการเผาไหม้ ตามเกณฑ์ที่เหมาะสมก็จะเกิดปัญหาเขม่าควันและกลิ่นรบกวนได้เช่นกันการควบคุมมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพที่ดีที่สุด คือ การมุ่งเน้น ที่การขจัดสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศดังกล่าวข้างต้น เช่น การเลือกประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ การควบคุมอุณหภูมิและลักษณะของการเผาไหม้ การลดวัสดุที่บรรจุร่วมไปกับศพ หรือการเลือกใช้เตาเผาศพแบบ 2 ห้องเผาเป็นต้น แต่หากการเผาศพยังคงมีการระบายมลพิษทางอากาศออกมาจนก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอยู่ อาจจำ เป็นต้องทำ การบำบัดมลพิษทางอากาศที่ระบายออกมา เช่น การติดตั้งระบบกำ จัดฝุ่นหรือก๊าซประเภทต่างๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสำ หรับการติดตั้ง การเดินระบบและการบำรุงรักษาระบบบำบัดมลพิษเพิ่มขึ้นด้วย
จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า มลพิษจากเตาเผาศพสามารถสร้างปัญหาได้อย่างมากมาย ทั้งที่ คงเป็นการยากที่จะทำให้วัดตามต่างจังหวัดได้มีงบประมาณที่จะใช้ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่ดีเพียงพอแบบตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วๆไป ดังนั้น เมื่อทางสโมสรจำเป็นต้องใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าชั่วคราว แนวทางการจัดการทางสโมสรควรร่วมกับส่วนราชการท้องถิ่นและนักสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในด้านความรู้ความเข้าใจกับทางวัด ในด้านการควบคุมคุณภาพเตาเผาให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด
นอกจากนี้ แนวทางการป้องกันมลพิษสู่นักกีฬาและกองเชียร์ที่ดี (และคาดว่าทางสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด ได้ดำเนินการไปแล้ว) คือต้องมีการประสานงานกับทางวัดให้งดพิธี ฌาปนกิจ ในช่วงเวลาที่มีการแข่งขัน เนื่องจากในช่วงนั้น คนที่อยู่ในสนามทุกคนต่างมีเลือดสูบฉีดกันเป็นอย่างมาก (ทั้งนักกีฬาและกองเชียร์) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้อากาศที่บริสุทธิ์มากกว่าคนปกติ หากมีมลพิษเกิดขึ้น การรับเข้าสู่ร่างกายจะมากกว่าปกติ ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ๆ ครับ
ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของนักกีฬาและกองเชียร์ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ ขอบคุณข้อมูลจาก : สถานการณ์มลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพ กรมควบคุมมลพิษ ภาพประกอบจาก The Football
จากคุณ :
สุมาโจจี้
- [
22 มี.ค. 52 07:36:47
]
|
|
|
|
|