วิเคราะห์ความเป็น "ญี่ปุ่น" ที่สะท้อนถึงความขยันและใฝ่รู้
คอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ โดย ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4103
ผมโชคดีที่เร็วๆ นี้ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ที่ต้องบอกว่าโชคดีก็เพราะว่าผมเป็นคนที่ชอบอะไรหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น แต่ที่เด่นๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องความสะอาดของประเทศญี่ปุ่นและอาหารญี่ปุ่น การไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดนี้เป็นการพาคณะนิสิตเดินทางไปศึกษาดูงาน ซึ่งก็ทำให้ผมได้เห็นญี่ปุ่นในอีกมุมมองหนึ่ง กล่าวคือมุมมองของผู้ใหญ่ที่ช่างต่างเป็นอย่างยิ่งนักจากมุมมองของเด็กอย่างผม เมื่อได้มีโอกาสไปเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว
เมืองที่ผมไปเป็นหลักในการไปเยือนญี่ปุ่นในคราวนี้คือโตเกียว และต้องขอย้ำว่ามุมมองของการมองเมืองโตเกียวเมื่อ 18 ปีที่แล้วกับการไปญี่ปุ่นคราวนี้ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ผมคิดว่าเด็กไทยทุกคนคงจะชอบประเทศญี่ปุ่น เนื่องด้วยอิทธิพลของหนังการ์ตูนญี่ปุ่น และของเล่นล้ำสมัยต่างๆ ที่ได้หัวคิดของคนญี่ปุ่นเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา ในสายตาของเด็กไทยนั้น ผมคิดว่าญี่ปุ่นนั้นน่าจะถูกมองให้เห็นถึงความเก่งความเยี่ยมยอด เพราะฉะนั้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าทั้งผมและน้องๆ ของผมมีความสุขมากที่คุณพ่อกับคุณแม่พาไปเที่ยวญี่ปุ่น ผมจำได้ว่าพวกเราอยู่เที่ยวในดิสนีย์แลนด์จนสวนสนุกดังกล่าวปิดทำการ การได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งแรกทำให้ผม (และผมเชื่อว่าน้องๆ ผมด้วย) คิดว่าทำไมเราถึงเกิดมาเป็นเด็กที่โชคดีอย่างนี้ และคิดเสมอว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงเก่งขนาดนี้
และนั่นก็คือแง่มุมในวัยเด็ก วัยแห่งความสดใส และมักจะมีแง่มุมในทุกๆ เรื่องในเชิงบวกเสมอ อย่างไรก็ดี คนเราเมื่อโตขึ้นมา ได้อาศัยอยู่บนโลกนานมากขึ้น ได้ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น ได้มีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น มุมมองที่ผมมองในความเป็นญี่ปุ่นในยุคนี้ใน พ.ศ.นี้จึงกว้างขึ้น และที่กล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ว่าความคิดเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นของผมจะเปลี่ยนแปลง กลับมาจากญี่ปุ่นคราวนี้ก็ยังคิดว่าคนญี่ปุ่นนั้นเก่งเหมือนเดิม แต่มุมมองในความเป็นคนเก่งของคนญี่ปุ่นที่ผมมองนั้นกว้างมากขึ้น และคิดว่าความเป็นญี่ปุ่นนั้นก็มีอิทธิพลมิใช่น้อยในการรักษาความเก่งของคนในประเทศชาติ
ความเป็นญี่ปุ่นที่ผมมองเห็นเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของผมในการมองคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักกับเพื่อนนักศึกษาชาวญี่ปุ่นสมัยที่ยังศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ หรือการที่ได้ไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อครั้งที่เป็นผู้ใหญ่หรือเติบวัยแล้ว ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ภาพความเก่งของคนญี่ปุ่นนั้น ช่างเป็นภาพความเก่งในอุดมคติของผมเหลือเกิน และคิดว่าสอดคล้องอย่างยิ่งไปกับหลักทางวิชาการเกี่ยวกับองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่าคนเราที่เก่งนั้นมิจำเป็นต้องทำตัวหยิ่งยโสโอหังว่าตนเก่งเหลือเกิน หรือถ้าจะอ้างถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาก็น่าจะเป็นคำว่า "อัตตา" หรือการเห็นความสำคัญของตัวตน หรือการยึดติดกับความเป็นตัวตน ซึ่งถ้ามากไปก็ก่อให้เกิดความเป็นทุกข์ อันเนื่องมาจากการสำคัญตนเองผิด หรือให้ความสำคัญกับตนเองมากจนเกินไป ความทุกข์จะทวีคูณขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่ถูกคนอื่นเห็นความสำคัญของตนน้อยลง
ในทางตรงกันข้าม ดูจากบุคลิกภาพภายนอกของคนญี่ปุ่นโดยทั่วๆ ไป ผมคิดว่าพวกเขาดูเป็นคนที่เรียบร้อย มีกิริยามารยาทที่ดี มีความสุภาพอยู่ในตัวตน และมิค่อยจะแสดงให้เห็นถึงความคิดในใจถึงความมีอัตตาสูง จริงๆ แล้วคนไทยเราเองก็มีการสั่งสอนลูกหลานในทำนองนี้เช่นกัน ที่ว่าให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ต้องเยินยอตัวเองมากนัก เพราะคนอื่นเขาจะหมั่นไส้เอา ผมคิดว่าคำสอนนี้ยังคงสามารถประยุกต์ใช้ได้กับสังคมไทยในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยก็ต้องกล่าวว่ารู้สึกดีกับความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก็อดรู้สึกเสียดายมิได้จากการที่ได้เห็นคนไทยที่เก่งหลายๆ คนที่น่าจะ "รุ่ง" ได้มากกว่านี้ ถ้าได้รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน และต้องเรียนกับท่านผู้อ่านตามตรงว่าไม่อยากจะลงความเห็นในประเด็นนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของจารีตของคนไทย เป็นเรื่องที่คนไทยยึดถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ก็อดคิดมิได้ว่า เพราะว่าสิ่งนี้หรือไม่ที่ทำให้คนไทยมักจะมองคนที่แสดงออกถึงความมั่นใจว่าเป็นคนที่มั่นใจในตนเองมากจนเกินไป และที่ต้องกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่าผมเองค่อนข้างจะรู้สึกในเชิงบวกสำหรับคนที่มีความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเชื่อมโยงไปกับเรื่องของความใฝ่รู้ตามหลักการขององค์กรแห่งการเรียนรู้
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนมาพิจารณาถึงความเป็นญี่ปุ่นกันต่อ ก็ต้องเรียน ณ ที่นี้ว่า ความเป็นญี่ปุ่นนั้นได้ทำให้ผมเห็นถึงการผสมผสานอันดีระหว่างความอ่อนน้อมถ่อมตนกับความเก่งความมั่นใจในตนเอง มีหลายๆ ครั้งที่ผมสังเกตเห็นจากคนญี่ปุ่นและได้วิเคราะห์ในความเป็นญี่ปุ่นดังว่า พวกเขาเหล่านี้เวลาอยู่ด้วยกันระหว่างเพื่อนหรือในชีวิตส่วนตัวเขาดูเป็นคนเรียบร้อยเรียบง่ายไม่สู้จะเอาตัวเป็นใหญ่หรือโอ้อวดความสามารถของตัวเองมากนัก แต่ครั้นเมื่อต้องทำงานหรือใช้ชีวิตในส่วนที่เป็นการเป็นงานเป็นภารกิจ เขาเหล่านี้กลับดูมีความเป็นมืออาชีพ ดูมีความมั่นใจเสียเหลือเกิน และขยันที่จะพัฒนาให้ตนเองเก่งขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ แล้วนั้นทั้ง 2 บุคลิกภาพดังกล่าวดูเป็นสิ่งที่ขัดกันโดยสิ้นเชิง แต่หารู้ไม่ว่าคนญี่ปุ่นนำทั้ง 2 สิ่งที่ขัดกันมาผสมผสานกันได้อย่างดี และก็เชื่อว่าสิ่งนี้ช่วยสร้างเสริมและส่งเสริมให้คนในญี่ปุ่นขยันและใฝ่รู้ หรือพึงจะพัฒนาความรู้ความสามารถในสิ่งที่ตนเชื่อว่าตนชอบและถนัดที่จะทำ
นอกจากมุมมองทางด้านบุคลิกภาพแล้ว มุมมองของผมที่ว่ากว้างขึ้นนั้นยังมองไปถึงรากฐานความเป็นญี่ปุ่นในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เพราะถ้ามองในทั้ง 2 มุมมองนี้แล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่าชนชาติญี่ปุ่นได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านความยากลำบากมากมายเสียเหลือเกิน ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 และการที่ประเทศญี่ปุ่นได้ถูกทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ สิ่งนี้สามารถถูกยกให้เห็นเป็นตัวอย่างหลักของการนำมาซึ่งทั้งความยากลำบากกายและความยากลำบากใจให้กับคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาทางด้านภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่เป็นเกาะ นอกจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่าเมืองไทย อันยากสำหรับสัตว์และพืชในการเจริญเติบโต ซึ่งหมายถึงความยากลำบากในการทำมาหากินแล้ว คนในประเทศญี่ปุ่นยังต้องอาศัยกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ทุกเมื่อ และได้ผ่านประสบการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายมาแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าหล่อหลอมให้เกิดความเป็นญี่ปุ่นที่เป็นนักสู้ที่ขยันและใฝ่รู้จนถูกมองว่าเป็นชนชาติที่เก่ง และกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
นวัตกรรมต่างๆ สิ่งใหม่ต่างๆ เทคโนโลยี หรืออะไรต่างๆ ที่ผลิตคิดค้นโดยคนญี่ปุ่นที่ทำให้คนไทยอย่างเรานั้นตื่นตาตื่นใจ ถ้าจะให้ผมลองวิเคราะห์ดูแล้ว มิใช่เป็นเพราะว่าสิ่งนี้เกิดจากความสุข ความสมบูรณ์ ความร่ำรวยของคนญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่ผมกลับมองว่าสิ่งนี้เกิดจากความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกหล่อหลอมมาจากความยากลำบากและการยอมรับในความสามารถซึ่งกันและกันของคนในสังคม สำหรับในกรณีหลังนี้ ถ้าจะเชื่อมโยงไปกับหลักทางพระพุทธศาสนากันอีกทีก็คงหนีไม่พ้นคำว่า มุทิตา ที่แปลว่าพลอยยินดีกับผู้อื่นด้วยเมื่อคนอื่นได้ดีหรือสำเร็จ แทนที่จะเป็นความรู้สึกหมั่นไส้หรืออิจฉาริษยา
และที่น่าแปลกใจก็คือความเก่งของคนญี่ปุ่นนั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมที่แสดงให้เห็นถึงอิสระเสรีภาพอันเต็มเปี่ยมดังเช่นที่ท่านอาจจะได้เห็นจากประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ แต่ผมมองว่าคนญี่ปุ่นนั้นดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กรอบของกฎ ระเบียบ หรือกฎหมายของบ้านเมืองกันอย่างเคร่งเครียดและจริงจัง และนอกจากนี้ยังคงอยู่ภายใต้กรอบของจารีตประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ที่พวกเขาเองยังคงรักษาและภูมิใจในรากฐานของความเป็นญี่ปุ่นแบบขนานแท้และดั้งเดิม
อ่านมาถึงส่วนท้ายของบทความนี้ ผมต้องขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ไม่ขอตัดสินว่าคนไทยเราเก่งหรือไม่เก่งกว่าคนญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คนเราไม่ว่าชาติไหนก็เก่งได้ทั้งนั้น ถ้าคิดที่จะขยันที่จะใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะความเก่งนั้นไม่มีที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ก็อยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในมุมมองต่างๆ ที่ผมได้กล่าวมาว่า เราโชคดีกว่าญี่ปุ่นหรือไม่อย่างไร ที่ประเทศของเราตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ และไม่ต้องเจอเหตุการณ์ในเชิงสงครามหรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขนาดนั้น คนไทยเราเองยังมีสภาพสังคมที่ไม่เคร่งเครียดอย่างที่เราได้ยินเสมอว่า สยามเมืองยิ้ม พร้อมทั้งยังมีหลักธรรมหรือคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยให้คนสามารถคลายจากความทุกข์ความเครียดได้ อยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า คนไทยเราได้ใช้ประโยชน์จากความโชคดีต่างๆ ดังกล่าวมาเพื่อสร้างค่านิยมการใฝ่รู้ได้มากน้อยแค่ไหน จำเป็นหรือไม่ที่ว่าคนเรานั้นจะต้องเจอะเจอความเคร่งเครียดและความลำบากก่อนแล้วความขยันความใฝ่รู้ถึงจะบังเกิด ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่จำเป็น และคิดว่าถ้าคนไทยเรามีทัศนคติในเรื่องดังกล่าวในเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของคนในประเทศชาติ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเรานี้ก็สามารถเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้เช่นกัน อย่าลืมว่ามีหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเรานั้นก็เก่งไม่น้อยหน้าใคร
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q2/2009may07p6.htm
จากคุณ :
อุนจิ
- [
11 พ.ค. 52 11:15:34
A:118.172.36.242 X: TicketID:215374
]