ความคิดเห็นที่ 4 |
|
An Inconvenient Truth กับภารกิจกู้โลก หลายคนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth คงรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งว่า อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และอย่างน้อยที่สุดก็อยากให้ทุกๆ คนได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก หากจะเรียกขบวนการดังกล่าวว่าเป็นภารกิจกู้โลก เพราะวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลเกินจินตนาการ An Inconvenient Truth เป็นภาพยนตร์สารคดียาว ๑๐๐ นาทีที่ฉายให้เห็นวิกฤตการณ์สภาวะโลกร้อน (Global Warming) อย่างตรงไปตรงมาและลึกซึ้ง หนังไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีพลังและน่าสะพรึงกลัว หากยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนดูได้อย่างน่าทึ่ง หลังจากภาพยนตร์เข้าฉายในประเทศไทย ได้มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนขึ้นหลายครั้ง และเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายนที่ผ่านมา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า พร้อมจัดกิจกรรมระดมความคิดเชิงวิชาการเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและบุคคลทั่วไปอย่างมาก An Inconvenient Truth ดำเนินเรื่องโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัย บิลล์ คลินตัน และผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ที่แพ้การเลือกตั้งให้แก่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ไปอย่างเฉียดฉิวและน่าเคลือบแคลง กอร์เล่าว่าเขาเริ่มสนใจปัญหาสภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด เมื่อศาสตราจารย์โรเจอร์ เรวีลล์ นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เริ่มตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ได้นำผลการตรวจวัดในปีแรกๆ มาบรรยายในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผลการตรวจวัดดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปรกติของก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังมีปัญหา และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของมนุษย์ เดวิส กุกเกนไฮม์ ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่องนี้นำเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของกอร์มาเป็นตัวดำเนิน เรื่องคู่ขนานและตัดสลับไปมากับการนำเสนอข้อมูลอันหนักแน่นได้อย่างแยบคาย จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของกอร์ที่ทำให้มุมมองต่อโลกและชีวิตของเขา เปลี่ยนไปตลอดกาลคือ การที่เขาเกือบจะสูญเสียลูกชายสุดที่รักวัย ๖ ขวบไปกับอุบัติเหตุรถชนที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา หลังจากลูกชายของเขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เขาได้ให้สัญญากับตัวเอง ๒ ข้อ หนึ่ง ให้ความสำคัญกับครอบครัวก่อนเสมอ และสอง ให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรกในชีวิตการทำงาน หนึ่งในความสำเร็จที่กอร์ภูมิใจคือ การมีส่วนช่วยให้เกิดการบรรลุข้อตกลงของนานาชาติในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งเป็นพันธกรณีให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ แต่ที่เป็นความรู้สึกผิดในใจก็คือ เขายังไม่สามารถผลักดันให้สภานิติบัญญัติของประเทศที่เขาอาศัยอยู่ให้ สัตยาบันต่อข้อตกลงนี้ได้ หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐ กอร์ยุติบทบาททางการเมืองและกลับมาเดินสายบรรยายเรื่องปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง ตลอดช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา เขาเดินทางไปทั่วโลก และระหว่างที่เขาเดินสายบรรยายอยู่ที่นครลอสแองเจลิส ลอรี่ เดวิด นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้กำกับภาพยนตร์ ได้ชักชวนให้ เจฟฟ์ สกอลล์ ผู้บริหาร Participant Productions ซึ่งเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ระดับคุณภาพ เข้าไปฟังการบรรยายครั้งนั้นด้วย ความคิดที่จะนำการบรรยายของกอร์มาทำเป็นภาพยนตร์จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้สาระสำคัญที่เขาพยายามพร่ำพูดได้ส่งผ่านไปถึงคนในสังคมโลกได้ รวดเร็วขึ้น ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง กอร์ได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดและหลักฐานต่างๆ จากทุกทวีป เพื่อลบล้างความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราจะสามารถสร้างผลกระทบที่สั่นสะเทือนไปถึงดินฟ้าอากาศได้อย่างไร ความจริงก็คือชั้นบรรยากาศที่ห่มคลุมโลกและทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นที่ อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น เปราะบางกว่าที่เราคิดมาก หากนำลูกโลกจำลองมาเคลือบเงา ความหนาของชั้นบรรยากาศเมื่อเทียบกับโลก ก็คือผิวเคลือบบางๆ ชั้นนอกเท่านั้นเอง กลุ่มก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในชั้นบรรยากาศ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และสาร CFC ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดักจับความร้อน ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะด้วยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เองที่ช่วยให้โลกไม่กลายเป็นดินแดนน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม โดยปรกติในธรรมชาติมีก๊าซเหล่านี้ในปริมาณน้อยมาก แม้แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่พบได้บ่อยที่สุด ก็ยังพบไม่ถึง ๔ โมเลกุลในทุกๆ ๑๐,๐๐๐ โมเลกุลของชั้นบรรยากาศ ความที่มันมีอยู่น้อยมากในธรรมชาตินี้เองที่ช่วยให้โลกเราไม่ร้อนจนกลายเป็น เตาอบ ข้อเท็จจริงสำคัญอีกประการที่หลายคนไม่รู้ก็คือ พลวัตของมวลก๊าซ ซึ่งว่ากันว่าภายในระยะเวลาเพียง ๑ สัปดาห์ คาร์บอนไดออกไซด์ที่คุณเพิ่งหายใจออกมานั้นอาจกลายเป็นอาหารให้แก่พืชในอีก ทวีปหนึ่งแล้ว และด้วยเวลาไม่กี่เดือน คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากมนุษย์สามารถไหลเวียนไปทั่วโลกได้อย่างสบายๆ ดังนั้นผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นปัญหาที่กระทบถึงคนทั่วทุก มุมโลก ในหนังเรื่องนี้ กอร์เปรียบก๊าซเรือนกระจกเป็นวายร้ายที่คอยดักไม่ให้ความร้อนหนีกลับออกไป นอกโลก เมื่อวายร้ายมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความร้อนจึงถูกเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกอยู่ที่ราว ๑๔ องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มสูงขึ้น ๐.๖-๐.๘ องศาเซลเซียสทุกปี กอร์อธิบายว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น เรื่อยๆ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการสุมเผาอันเป็นวิธีตัดไม้ทำลายป่าแบบดั้งเดิม ล้วนแต่มีส่วนทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปรกติ เขาชี้ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้อย่างชัดเจนในหนัง ด้วยการขึ้นไปยืนบนเครนไฟฟ้าที่ยกตัวขึ้นตามเส้นกราฟคาร์บอนไดออกไซด์ที่ พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วง ๔๐-๕๐ ปีมานี้ รวมถึงแนวโน้มในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ข้อมูลนี้น่าพรั่นพรึงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนกลับไปถึง ๖๕๐,๐๐๐ ปี ที่แม้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์จะมีวงจรขึ้นๆ ลงๆ ตามยุคน้ำแข็ง ๗ ยุค แต่ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงผิดปรกติ เช่นนี้ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนคือ คนส่วนมากไม่แน่ใจว่า แท้จริงแล้วสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาจริงๆ หรือเป็นเพียงการมองโลกในแง่ร้ายของนักวิทยาศาสตร์ช่างวิตกกลุ่มหนึ่งที่ทำ ให้คนตื่นตูมกันไปทั้งโลก เพื่อยืนยันว่าโลกกำลังร้อนขึ้นจริงๆ กอร์ได้ฉายภาพเปรียบเทียบปริมาณหิมะในอดีตกับปัจจุบันของสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่นที่เทือกหิมาลัยและคิลิมันจาโร ซึ่งมีปริมาณหิมะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เขาพาไปดูขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ที่แผ่นน้ำแข็งกำลังละลายและแตกออกอย่างไม่หยุดหย่อน ป่าแอมะซอนที่กำลังเสื่อมโทรม และธารน้ำแข็งทั่วโลกที่กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาโลกร้อนยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน เพราะอุณหภูมิในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการไหลของกระแสน้ำที่เชื่อม โยงถึงกันหมด เขายืนยันด้วยข้อมูลทางสถิติของภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งภาวะน้ำท่วม ฝนแล้ง ไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น โดยไม่ลืมที่จะเตือนให้ทุกคนนึกถึงเฮอริเคนแคทรีนา (Katrina) ที่เข้าถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว นับเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชนชาติ อเมริกัน โดยได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ ๒,๐๐๐ คน และสร้างความเสียหายอีกกว่า ๘ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดแผ่นน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาหรือกรีนแลนด์อาจจะละลายลงทั้งหมด และนั่นหมายถึงเภทภัยที่ร้ายแรงที่สุดจะเกิดขึ้น เพราะจะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นกว่า ๖ เมตร โดยบริเวณที่จะได้รับผลกระทบนั้นมีตั้งแต่มหานครนิวยอร์ก เนเธอร์แลนด์ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง โกลกาตา (กัลกัตตา) และบังกลาเทศ
จากคุณ |
:
Judgement Day
|
เขียนเมื่อ |
:
11 ก.ค. 52 13:07:34
A:118.172.97.245 X: TicketID:219728
|
|
|
|
|
|