 |
รายงานพิเศษ: 'หว้ากอ' ผ่าแท่งประหยัดน้ำมัน เจอแค่วงจรไฟ LED - ผู้จำหน่ายขู่ฟ้อง
|
|
เมื่อเวลา 2.32 น. ของวันที่ 12 ส.ค. 52 สมาชิกนามแฝง 'ปลากวน' ได้ตั้งกระทู้ 'ผลการผ่าพิสูจน์ 'NP Faster'' ขึ้นที่กระดานข่าว pantip โต๊ะหว้ากอ ห้องวิศวกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลและภาพถ่ายจากการผ่าพิสูจน์ 'NP Faster' อุปกรณ์ที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอ้างว่าช่วยให้รถประหยัดน้ำมันได้ 10-30% ใช้งานด้วยการเสียบเข้ากับช่องจุดบุหรี่ในรถยนต์ โดยอ้างการรับรองผลิตภัณฑ์และการทดสอบจาก 2 มหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งราคาจำหน่ายอันละ 1,500-2,500 บาท แต่เมื่อเปิดดูภายในกลับพบเพียงวงจรต่อไฟ LED ราคาไม่ถึงร้อยบาท จึงเร่งกระจายข่าวเตือนผู้บริโภค พร้อมส่งอีเมลร้องเรียน สคบ.และล่าสุดเปิดกระทู้แนะแนวเจ้าทุกข์เข้าแจ้งความฐานหลอกลวงแล้ว ส่วนเจ้าของสินค้ายังยืนยันตั้งแต่จำหน่ายมาไม่มีปัญหากับลูกค้า เมื่อซื้อไปแล้วไม่มีสักรายเดียวที่นำมาคืน ส่วนการข้อสงสัยและโจมตีสินค้าของตนนั้น จะได้ปรึกษาผู้ใหญ่รวมทั้งอาจารย์ที่ให้การรับรองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ส.ค.52 ได้มีผู้อ้างตัวเป็นบริษัทจำหน่ายโพสต์ข้อความในกระทู้ 'ผลการผ่าพิสูจน์ 'NP Faster'' ท้าให้ทดสอบใช้งาน พร้อมระบุหากได้ผล ผู้ที่ผ่าพิสูจน์และโพสต์วิจารณ์รวม 55 คน ต้องรับผิดชอบแพ่งและอาญา ขณะที่ผู้อ่านกระทู้ส่วนหนึ่งกล่าวว่า หากทางฝ่ายเจ้าของสินค้าหรือผู้รับรองสามารถอธิบายและตอบคำถามเกี่ยวกับการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็ยินดีที่จะรับฟัง ข้องใจหลักการ - เจ้าของท้าทดสอบ เหตุ 'หว้ากอ' ระดมทุนซื้อผ่าพิสูจน์ สำหรับที่มาของการผ่าพิสูจน์ดังกล่าว มีเหตุมาจากในช่วงกลางเดือนก.ค. - ต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ในโต๊ะหว้ากอของกระดานข่าว pantip ได้มีผู้ตั้งกระทู้และโพสต์วิพากษ์วิจารณ์อุปกรณ์ประหยัดน้ำมันชนิดเสียบกับช่องจุดบุหรี่หลายยี่ห้อ ที่โฆษณาและจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตอยู่ในขณะนี้ อย่างหนาตา โดยสมาชิกหลายคนระบุว่าตามหลักการแล้วไม่น่าทำได้จริง ก่อนที่จะมีผู้อ้างตนเป็นเจ้าของสินค้ารายหนึ่งเข้ามาตอบโต้และท้าให้มีการพิสูจน์ด้วยการใช้งานจริงบนถนน แต่ห้ามผ่าดูวงจรภายใน โดยอ้างกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จนทำให้เกิดการระดมทุนซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวมาผ่าพิสูจน์ เหลือเชื่อ ก่อสนามแม่เหล็กหักล้างแรงดึงดูดโลก ทำได้จริงไม่พ้นโนเบล การตั้งข้อสงสัยส่วนใหญ่มุ่งไปที่หลักการทำงานของอุปกรณ์ ที่ผู้ผลิตสินค้าภายใต้ชื่อยี่ห้อ NP Faster ระบุว่า สามารถทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะส่งพลังไปหักล้างกับแรงดึงดูดของโลก ส่งผลให้รถเบากว่าปกติ และยังทำให้เกิด โพรงอากาศ ด้านหน้ารถ ทำให้แรงลมต้านลดลง ซึ่งจะช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานน้อยลง เมื่อบวกกับการที่รถเบาลงดังกล่าว ก็จะส่งผลให้อัตราการสิ้นเปลืองลดลง และสามารถประหยัดน้ำมันได้ประมาณ 10 - 30% นั้น ก็ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ โดยผู้โพสต์บางรายระบุด้วยว่า หากทำได้ตามหลักการดังกล่าวจริงย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา และผู้คิดค้นควรจะได้รับรางวัลโนเบล อ้างอาจารย์ 2 ม.ทดสอบและรับรอง นอกจากนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ยังรวมไปถึงการทดสอบและออกใบรับรอง โดยผู้โพสต์วิจารณ์วิธีการทดสอบว่าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ข้อมูลในเว็บไซต์ www.npfaster.com อ้างว่า ผลิตภัณฑ์ของตนได้รับการทดสอบและรับรองจาก 2 มหาวิทยาลัยใน จ.เชียงใหม่ โดยมีการแสดงภาพถ่ายใบรับรองทั้งคุณภาพและการทดสอบไว้ในเวบไซต์ พร้อมด้วยตราของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง อีกทั้งยังมีคลิปการให้สัมภาษณ์ของ ผศ.ด้านวิศวกรรมผู้หนึ่ง จากมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงนามรับรอง โดยในคลิป ผศ.คนดังกล่าวได้กล่าวชมเชยผลิตภัณฑ์ 'NP Faster.com' โผล่ตั้งกระทู้ท้าพิสูจน์ อ้างชื่อลูกค้า เมื่อเวลา 01.06 น. ของวันที่ 1 ส.ค.52 ได้มีผู้ใช้บัตรผ่านนามแฝง 'NPFASTER.COM' อ้างตัวเป็นเจ้าของสินค้ายี่ห้อ NP Faster ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และเป็นเจ้าของเว็บไซต์ www.npfaster.com เข้ามาตั้งกระทู้ 'NPFaster.com เชิญมาพิสูจน์ หาความจริง อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน'โต้ตอบกับผู้ที่ตั้งข้อสงสัย โดยระบุว่า หากสินค้าของตนไม่มีคุณภาพ ก็คงไม่ได้รับการรับรองจาก 2 มหาวิทยาลัย ไม่มีคนซื้อไปเป็นจำนวนมาก และถูกผลิตเลียนแบบถึง 4 ยี่ห้อดังที่เป็นอยู่ โดยได้อ้างชื่อ ตำแหน่งทางวิชาการ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่ออกใบรับรอง อีกทั้งยังเปิดเผยชื่อ ตำแหน่ง และประวัติการศึกษาของลูกค้า 2 ราย ที่ยอมรับว่าอุปกรณ์ดังกล่าวใช้ได้ผลจริง นอกจากนี้ยังท้าให้มีการพิสูจน์ โดยให้ผู้ที่สงสัยเดินทางไปที่บริษัทใน จ.เชียงใหม่ หรือโทรศัพท์เข้าไปเพื่อขอรับอุปกรณ์ไปทดสอบฟรีเป็นเวลา 7 วัน แต่ต่อมาได้ระบุว่าตนขอสงวนสิทธิ์ในการเลือกผู้ที่จะพิสูจน์ และขอเงินมัดจำสินค้า 1,500 บาท แต่เมื่อถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว 'NPFASTER.COM' กลับไม่สามารถโต้แย้งได้ชัดเจน นอกจากอ้างข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ของสินค้า ก่อนจะบอกว่า NP Faster ไม่ต้องการจะโต้แย้งทางทฤษฏีกับทุกท่าน และตนเป็นเพียง ฝ่าย sale & marketing จึงไม่จำเป็นต้องไปเรียนกลศาสตร์ วิ่งบนถนนเท่านั้น ห้ามผ่าดู งัดกม.ขู่ กระทู้ดังกล่าวร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีผู้แสดงความสนใจขอรับอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดสอบ และบางรายที่พักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้โพสต์นัดหมายกันไปขอมาแกะดูวงจรภายใน แต่ 'NPFASTER.COM' ได้มาโพสต์กติกาเพิ่มอีกว่า ห้ามผ่าดูวงจรด้านใน โดยอ้างว่าที่ผ่านมามีผู้นำไปเปิดดูและผลิตลอกเลียนเป็นจำนวนมาก หรือหากจะทำก็ขอเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่มีการพิสูจน์ ทดสอบ ทดลอง มีการรับรองผลที่น่าเชื่อถือได้ โดยระบุในกระทู้เดียวกันด้วยว่า ในเมื่อ NP Faster ได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัย ดังนั้นผลการพิสูจน์โต้แย้งก็ควร ได้รับการรับรองผลจากผู้ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่ามหาวิทยาลัย 'NPFASTER.COM' ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่เปิดดูวงจรภายในและนำมาเปิดเผยในที่สาธารณะ จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าหากไม่อยากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ให้โทรศัพท์ไปคุยกับทนายความของตนก่อน ข้องใจทำไมไม่ให้เปิด ลงขันซื้อผ่า เมื่อเวลา 18.22 น. ของวันที่ 2 ส.ค. 52 สมาชิกนามแฝง 'ปลากวน' ได้เสนอให้ผู้ที่สนใจดูวงจรภายในอุปกรณ์ดังกล่าวรวบรวมเงินซื้อ โดยตนอาสาที่จะเป็นผู้ผ่า ถ่ายภาพ และวิเคราะห์วงจรให้ทุกคนดู ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับเป็นจำนวนมาก และต่อมาได้มีการไปตั้งกระทู้ใหม่เพื่อรวมรวมเงินโดยเฉพาะ เจ้าของแล็บเสนอวัดค่าสนามแม่เหล็ก เมื่อเวลา 14.27 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 52 สมาชิกนามแฝง 'NaCl' ได้โพสต์ข้อความที่ 337 ในกระทู้เดียวกันนี้ ยื่นเสนอให้ใช้ห้องทดลอง (LAB) ที่บริษัทและที่บ้านของตนซึ่งมีเครื่องมือพร้อม ดำเนินการทดสอบตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็ก โดยให้สัญญาว่าจะไม่เปิดดูวงจรภายใน ส่วนการทดลองว่าทำให้อัตราเร่งของรถดีขึ้นหรือไม่นั้น 'NaCl' ระบุว่า ตนจะไม่ใช้ความรู้สึกวัด แต่จะทดลองกับอัตราเร่งรถจริงๆ โดยจะวัดน้ำหนักรถก่อนทดลอง ติดเซนเซอร์อัตราเร่งไว้ที่รถ ก่อนที่จะนำไปเร่งความเร็วจาก 0 - 100 กม./ชม. ซึ่งความเร่งจะถูกวัดเพื่อนำมาวิเคราะห์ สำหรับการทดสอบวิ่งทางราบนั้นจะไม่วิ่งบนถนน แต่จะวิ่งบนทางที่จัดไว้ เป็นวงกลมรัศมี 100 เมตร วนไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วคงที่ตลอด และรักษาอัตราเร่งให้คงที่ทุกครั้งของการทดลอง คือคนขับจะต้องเร่งให้เท่าเดิมทุกครั้ง โดยจะมีการมอนิเตอร์อัตราเร่งและนำกราฟมาเปรียบเทียบกับการทดลองครั้งต่อๆ ไป หากพบว่ามีการเร่งต่างกันมากเกิน 3% การทดลองครั้งนั้นต้องทำใหม่ทันที รวมทั้งจะมีการวัดความเร็วลมขณะทดลอง ซึ่งหากมีลมส่งท้ายหรือลมต้านต่างกันเกิน 3% การทดลองครั้งนั้นต้องทำใหม่ทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้ 'NaCl' ระบุว่า หากอุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการทดสอบเหล่านี้ทางตนยินดีโฆษณาให้ แต่ถ้าไม่ผ่าน ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องจ่ายค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ น้ำมัน และค่าเสื่อมราคารถ โดยทางตนยินดีจะจ่ายค่าอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันที่นำมาใช้ แต่จะดำเนินการฟ้อง สคบ.และศาล เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในข้อหาหลอกลวง
จากคุณ |
:
xx
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ส.ค. 52 18:06:43
A:58.10.155.249 X: TicketID:228512
|
|
|
|  |