 |
ความคิดเห็นที่ 36 |
|
มนุษย์คนสุดท้ายก่อนถึงอีที (แปลกแต่จริง)
หนังสือพิมพ์ฝรั่งในกรุงเทพฯ เอาเรื่องมนุษย์ต่างดาวคนหนึ่งมาลง ผมอ่านแล้วก็อยากนำมาเล่าต่อ
เขาชื่อ ศาสตราจารย์เคน ซากามูระ เป็นศาสตราจารย์อยู่มหาวิทยาลัยโตเกียว หลายปีดีดักมาแล้ว เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มถูกนำไปใช้มากขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวันและในเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เขาคิดระบบปฏิบัติการขึ้นมาชนิดหนึ่ง เรียกว่า the real-time operating system nucleus หรือ รู้จักกันว่า TRON
แล้วแจกฟรีครับ TRON เป็นระบบปฏิบัติการที่ดีอย่างไร วิศวกรคอมพิวเตอร์บอกว่า มันเร็วกว่าระบบปฏิบัติการอื่น คือสามารถปฏิบัติงานได้ใน real-time ที่วิเศษสุดคือเป็นระบบปฏิบัติการที่ไม่มีแฮงก์
ไม่แฮงก์นี่สำคัญมากนะครับ เพราะ TRON ถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ใช้ในโทรศัพท์มือถือ กำลังจะบอกเลิกกับแฟนอยู่ครึ่งๆ กลางๆ เกิดโทรศัพท์ตายขึ้นมากลางคัน จะรวบรวมกำลังใจที่ไหนโทรไปบอกเลิกใหม่ได้อีก ที่น่ากลัวกว่าก็คือ ใช้ในคอมพิวเตอร์ซึ่งควบคุมรถยนต์สมัยใหม่ด้วย ตั้งความเร็วอัตโนมัติไว้แล้ว มันไม่ยอมหลุดเมื่อเวลาเหยียบเบรก ก็มีโอกาสเละได้
TRON คือระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องอื่นๆ อีกมาก ตั้งแต่กล้องถ่ายรูปดิจิตอลไปจนถึงตู้เย็น วิทยุ เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี ฯลฯ ไม่ว่าเครื่องอะไรที่มีคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุม ก็มักจะใช้ระบบปฏิบัติการนี้ทั้งนั้น ในปัจจุบันระบบนี้คุมเครื่องต่างๆ ดังกล่าวอยู่ทั่วโลกประมาณ 60%
ก็มันเป็นของดีและฟรีนี่ครับ และเพราะอย่างนี้ จึงมีความคิดในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 ว่า น่าจะเอามาปรับใช้เป็นระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์เสียเลย อันจะเป็นผลทำให้บริษัทห้างร้านและเอกชนในญี่ปุ่นไม่ต้องไปซื้อระบบปฏิบัติ การของอเมริกันมาใช้อีกเลย ด้วยเหตุดังนั้น จึงถูกรัฐบาลอเมริกันสร้างกระแสกดดัน อ้างว่าเป็นการสร้างอุปสรรคในการค้าเสรี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยอมจำนน และเลิกสนับสนุนแผนการนี้ไปเลย
แม้แต่ไม่ได้นำเอามาใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่ลองคิดว่ามันไม่ฟรีสิครับ เฉพาะที่ใช้กันอยู่ในเครื่องต่างๆ ในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ซากามูระจะรวยขนาดไหน ที่แน่นอนก็คือ รวยกว่า นายบิล เกตส์ เจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดวส์อย่างแน่นอน เขาคำนวณว่า แม้แต่คิดค่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" แค่เซนต์เดียว ก็รวยเละแล้ว
ศาสตราจารย์ซากามูระรู้สึกอย่างไร เมื่อพลาดโอกาสเป็นมหาเศรษฐีนี้ไป เขาหัวเราะร่วนในการให้สัมภาษณ์ว่า
" ผมมีความสุขดีอยู่แล้วกับเงินเดือนที่มหาวิทยาลัยจ่ายใหตราบเท่าที่ผมยังสามารถดำเนินชีวิตธรรมดาๆ ไปได้ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร"
แต่ อะไรคือธรรมดาเล่าครับ คุณบิล เกตส์ และคนอีกจำนวนนับไม่ถ้วนในโลกปัจจุบัน มองว่าชีวิตธรรมดาคือชีวิตที่ไขว่คว้าหาความมั่งคั่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อะไรที่จับจองเป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้ก็ควรรีบจองเอาไว้
ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับเดียวกันนี้ยังลงข่าวว่า มีบริษัทอเมริกันอีกแห่งหนึ่งกำลังพยายามดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อว่าในที่สุดแล้วจะได้สามารถเก็บค่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" กับระบบปฏิบัติการและโปรแกรมลีนุกซ์ เพราะถึงอย่างไรลีนุกซ์ยูนิกซ์ ก็เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาจากยูนิกซ์ และเขาถือกรรมสิทธิ์ยูนิกซ์ ฉะนั้น ขอแบ่งบ้างฮี่ เอ็งอยากแจกฟรีก็เรื่องของเอ็ง แต่ส่วนที่ข้าคิดว่าข้าเป็นเจ้าของนั้นต้องจ่าย
เอาความพยายามของบริษัทอเมริกันนี้ไปเปรียบเทียบกับวิธีคิดของศาสตราจารย์ซา กามูระแล้วก็น่าอัศจรรย์ใจ ศาสตราจารย์ซากามูระให้เหตุผลที่เขาไม่คิดเงินจากระบบปฏิบัติการของเขาว่า
" มันไม่ดีนะครับที่ไปคิดเงินกับผู้คนซึ่งใช้อะไรบางอย่างอันเป็นเหมือนโครง สร้างพื้นฐานทางสังคม ทั้งยังเป็นการขัดขวางการพัฒนาของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานชนิดพื้นฐานอย่างยิ่งเช่นนี้ควรเป็นของฟรีครับ"
ผมขอขยายความตามความเข้าใจของผมเองอย่างนี้ ชีวิตมนุษย์, สังคม หรือระบบเศรษฐกิจ จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานช่วยจรรโลง เช่น อากาศเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ เป็นต้น สังคมดำรงอยู่ได้ก็โดยการที่มนุษย์สามารถติดต่อสัมพันธ์กันได้นับตั้งแต่พูด คุยกัน ซึ่งมักจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวทักทายว่าสวัสดี ไปไหนมา ถ้าใครสักคนขอคิดค่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" กับคำกล่าวทักทายนี้ เพราะปู่ของเขาคิด เราจะเริ่มพูดจากันเพื่อนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างไร
ระบบปฏิบัติการก็เหมือนกันนะครับ ถ้าไม่มีเจ้านี่ คอมพิวเตอร์ทุกชนิดก็เหมือนกล่องบ้าอะไรสักกล่องที่คนส่วนใหญ่แทบใช้การอะไร ไม่ได้ เพราะไม่สามารถสื่อสารกับมันได้ ชิพทั้งหลายที่ฝังอยู่ในเครื่องต่างๆ ก็เหมือนกัน ฉะนั้น ระบบปฏิบัติการจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างแน่นอน ก็ไหนอ้างกันอยู่เสมอว่าคอมพิวเตอร์เปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมไปอย่างสิ้นเชิง แล้วไงถึงมาคิดเงินกับสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทำให้คอมพิวเตอร์ แผลงอิทธิฤทธิ์ของมันได้อย่างว่าล่ะครับ
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านศาสตราจารย์บอกว่า การคิดเงินกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมนั้นมัน "ไม่ดี" ครับเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ในปัจจุบันอาจฟังดูไม่สมบูรณ์ในตัวเอง เพราะเราไม่เชื่อเสียแล้วว่ามีสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในตัวเอง ต้องหาเหตุผลอื่นๆ มารับรองว่ามันดีเพราะอะไร หรือไม่ดีเพราะอะไร จะบอกว่ามันดีเพราะมันดี หรือไม่ดีเพราะไม่ดีนั้นไม่ได้ แต่ดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องของศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ เราใช้เหตุผลอธิบายความดีและไม่ดีได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่หมด เช่น จะใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์อะไรมายืนยันความดีของพระนิพพาน หรือของพระผู้เป็นเจ้า
เหตุผลทางศีลธรรมที่ศาสตราจารย์ใช้ว่าการซื้อขายโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม นั้น "ไม่ดี" ฝรั่งและนักเศรษฐศาสตร์จะเถียงว่า "ดี" เพราะจะเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้คนพัฒนา "สินค้า" ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมขอนอกเรื่องตรงนี้นิดหน่อยว่า พระบาลีที่คนไทยมักแปลว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นั้น ในภาษาบาลีจริงๆ ควรแปลว่า "ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว" ไม่ได้มีความหมายถึงการค้ากำไรในตลาดแต่อย่างใด
เหตุผลทางศีลธรรมอ่อนพลังจนกระทั่ง ผมไม่ค่อยเคยได้ยินใครอธิบายอะไรด้วยเหตุผลทางศีลธรรมเสียแล้ว จึงรู้สึกสะดุดกับคำพูดของศาสตราจารย์ซากามูระเป็นพิเศษ
เหตุที่ผมเอาเรื่องของท่านศาสตราจารย์มาเล่าก็เพราะ ผมรู้สึกว่าเรื่องของเขาแสดง "ธรรมชาติของมนุษย์" อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่คุ้นเคย และออกจะเห็นว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติไปเสียแล้ว
ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่า "ธรรมชาติของมนุษย์" จริงๆ เป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าที่เราให้ชื่ออะไรว่าเป็น "ธรรมชาติของมนุษย์" นั้นล้วนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมทั้งนั้น และวัฒนธรรมของสมัยปัจจุบันได้สร้าง "ธรรมชาติของมนุษย์" ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้คนอย่างศาสตราจารย์ซากามูระกลายเป็นมนุษย์ต่างดาว
"ธรรมชาติของมนุษย์" ที่วัฒนธรรมสมัยปัจจุบันสร้างขึ้นก็คือ มนุษย์มีธรรมชาติที่จะแสวงหาความมั่งคั่งด้านทรัพย์สินเงินทองอย่างไม่จำกัด ...ไม่จำกัดหมายความว่าไม่มีขีดขั้นในทางใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม, ความชอบธรรม, ความพอเหมาะพอควร หรือแม้กระทั่งกฎหมายซึ่งถูกก้าวข้าม หรือถูกอำนาจการเมืองซึ่งซื้อได้รื้อทำลายลงอยู่เสมอ
อีกด้านหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับข้างต้นก็คือ ความมั่งคั่งของบุคคลบางคนในโลกนั้น มันมากมายมหาศาลอย่างชนิดที่คนรุ่นพ่อของเราจินตนาการไปไม่ถึง แล้วก็สามารถอวดมั่งอวดมีได้อย่งไม่ต้องขวยเขินใดๆ ทั้งสิ้นด้วย
ซูเปอร์แมนของคนสมัยนี้ไม่ใช่คนเหาะได้ที่เที่ยวช่วยเหลือคุ้มครองผู้อ่อนแอ แต่คือคนที่รวยล้นฟ้าอย่าง บิล เกตส์, แบร์ลุสโคนี, ทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ คนเหล่านี้แหละครับที่เป็นเป้าหมายแห่งความใฝ่ฝันตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน
การยอมรับ "ธรรมชาติของมนุษย์" อย่างนี้ ทำให้เรายอมรับอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างว่าเป็นธรรมชาติเหมือนกัน เช่น ความมั่งคั่งเหลือล้นดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางการกระจุกตัวมากขึ้นของทรัพย์สินทั่วโลกในมือคนน้อยลง ยิ่งนับวันคนข้างบนสิบเปอร์เซ็นต์ก็ถือครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนมากขึ้นๆ ในขณะที่คนสิบเปอร์เซ็นต์ข้างล่าง ก็ยิ่งถือครองทรัพย์สินในสัดส่วนน้อยลงๆ แต่เรากลับรู้สึกว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นธรรมชาติ
เราจัดการศึกษา, จัดระบบเศรษฐกิจ, จัดระบบการเมือง, จัดระบบการปกครอง, จัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, หรือแม้แต่จัดระบบศีลธรรม ด้วยสมมติฐานว่า "ธรรมชาติของมนุษย์" เป็นอย่างนี้ คือสร้างคำสัญญาว่าเราจะให้โอกาสแก่ทุกคนในการสร้างความมั่งคั่งได้อย่างไม่ มีขีดจำกัด ความมั่งคั่งกลายเป็นเป้าหมายของชีวิตตามธรรมชาติ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอันนี้ได้ แต่มันก็เป็นเป้าหมายซึ่งกำหนดวิถีของการดำเนินชีวิตของทั้งบุคคล และของสังคม
เราจึงไม่รู้สึกว่า "ธรรมชาติของมนุษย์" นั้นอาจมีอย่างอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการมี "ธรรมชาติ" อย่างอื่นหรือไม่ต่างหาก เรื่องของศาสตราจารย์ซากามูระ ชี้ให้เห็นว่าเขามี "ธรรมชาติ" ที่แตกต่าง แต่ทำไม "ธรรมชาติของมนุษย์" ของเขาจึงแตกต่าง ข้อนี้ผมอธิบายไม่ได้ รู้แต่ว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมของเราให้สร้าง "ธรรมชาติของมนุษย์" ที่แตกต่างออกไปแล้ว คนอย่างศาสตราจารย์ซากามูระจะเป็นมนุษย์ต่างดาวยิ่งไปกว่านี้ คือเมื่อเหยียบย่างลงบนโลกแล้ว ไม่มีใครสามารถเข้าใจเขาได้เลย และมนุษย์อื่นๆ ทุกคนจะมองเขาเป็นศัตรูที่น่ากลัวสำหรับโลก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
http://artsmen.net
จากคุณ |
:
Bahamut
|
เขียนเมื่อ |
:
29 ส.ค. 52 15:16:29
A:118.172.50.180 X: TicketID:230823
|
|
|
|
 |