 |
ความคิดเห็นที่ 6 |
|
Neil Postman นักสังคมศาสตร์ผู้หยั่งรู้อนาคตและรู้ทันเทคโนโลยี
Mon, 29/10/2007 - 12:05 — สฤณี อาชวานันทกุล
........................................ ........................................
การทดลองของผมคืออย่างนี้ครับ ตอนเช้าๆ เวลาผมเห็นเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ถือหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ (The New York Times) ติดมือมาด้วย ผมจะถามเขาว่า "คุณอ่านเดอะ ไทม์ส์ เช้านี้หรือยัง?" ถ้าเขาตอบว่าอ่านแล้ว วันนั้นผมก็จะไม่ทำการทดลอง แต่ถ้าเขาตอบว่ายัง ผมก็จะเริ่มการทดลองด้วยการแนะว่า "คุณน่าจะลองอ่านหน้า 23 ดูนะ มีข่าวเรื่องผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด น่าสนใจทีเดียว" เมื่อได้ยินอย่างนั้น เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ก็จะถามกลับว่า "จริงเหรอ? งานวิจัยเรื่องอะไรล่ะ?" คำตอบของผมหลังจากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับจินตนาการเป็นหลัก แต่ผมจะพูดอะไรประมาณนี้ – "นักวิทยาศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดพยายามหาคำตอบว่าอาหารแบบไหนช่วยคนลดน้ำหนักได้ ดีที่สุด พวกเขาค้นพบว่า มื้อปกติที่เราทานทุกวัน เสริมด้วยการกินขนมเอแคลร์ใส้ช็อกโกแลตวันละ 6 ครั้ง เป็นวิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุด เพราะเอแคลร์มีสารอาหารพิเศษชื่อ เอนโคเมียล ไดอ็อกซิน ที่เผาผลาญแคลอรี่ได้เร็วกว่าปกติ" อีกคำตอบหนึ่งที่ผมชอบใช้กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นห่วงสุขภาพตัวเองมากคือ "ผมคิดว่าคุณน่าจะอยากรู้เรื่องนี้นะ นักวิทยาศาสตร์สมองที่มหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ท ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการวิ่งจ็อกกิ้ง กับการลดลงของระดับสติปัญญา พวกเขาทดสอบคนจำนวน 1,200 คนเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี แล้วก็พบว่าเมื่อคนใช้เวลาวิ่งมากขึ้น สติปัญญาของพวกเขาก็ลดลงเป็นเงาตามตัว นักวิทยาศาสตร์หาคำอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ รู้แต่ว่ามันเกิดขึ้นจริง"
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงรู้แล้วว่าผมเล่นบทไหนในการทดลองนี้ – ผมกุเรื่องที่ฟังดูเหลือเชื่อมากๆ ให้คนอื่นฟัง หลายท่านอาจจะบอกว่า ไร้สาระจนเชื่อไม่ได้ ผลการทดลองเป็นแบบนี้นะครับ คนส่วนใหญ่ที่ถูกผมหลอกเป็นครั้งแรกจะเชื่อในสิ่งที่ผมพูด หรืออย่างน้อยก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่เชื่อ บางครั้งพวกเขาจะถามกลับว่า "จริงเหรอ? ที่เล่ามานี่เป็นไปได้เหรอ?" บางครั้งพวกเขาก็จะทำหน้าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งก่อนจะตอบว่า "คุณว่าการทดลองนี่ทำที่ไหนนะ?" และบางครั้งพวกเขาจะตอบว่า "อืม ฉันเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาแล้วล่ะ"
ผมคิดว่าผลการทดลองนี้บอกอะไรเราหลายอย่าง บทสรุปประการแรกตรงกับที่ เอช. แอล. เม็งเคน (H. L. Mencken) เคยกล่าวไว้เมื่อห้าสิบปีก่อนว่า ไม่มีไอเดียอะไรที่งี่เง่าเสียจนคุณจะหาศาสตราจารย์มาเชื่อมันไม่ได้ นี่อาจเป็นคำกล่าวหามากกว่าคำอธิบาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมทำการทดลองนี้ซ้ำๆ กับคนจำนวนมากที่ไม่ใช่ศาสตราจารย์ ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิม บทสรุปประการที่สองที่ผมว่าการทดลองนี้สนับสนุน คือสิ่งที่จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) เคยกล่าวไว้เมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้วเหมือนกันว่า คนธรรมดาวันนี้ไร้เดียงสาเท่ากับคนธรรมดาในยุคกลาง ผู้คนในยุคกลาง (ประมาณคริสตศตวรรษที่ 9-13) ศรัทธาในอำนาจอธิบายของศาสนาของพวกเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้เราก็ศรัทธาในอำนาจอธิบายของวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
แต่ผมคิดว่ามีบทสรุปที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่า เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ออร์เวลชี้ แต่ดูเหมือนจะตั้งฉากออกไปหน่อย นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้นั้นเป็นโลกที่คนส่วนใหญ่แทบจะเข้าใจไม่ได้เลย แทบไม่มี “ข้อเท็จจริง” ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสัจธรรมหรือสิ่งที่ “จริง” แต่ในจินตนาการเท่านั้น ที่จะทำให้เราแปลกใจได้นาน เพราะเราไม่มีมโนภาพของโลกที่สมบูรณ์แบบและมั่นคงพอที่จะทำให้เรารู้สึกว่า ข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อขัดแย้งที่รับไม่ได้ เราศรัทธาก็เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราไม่ควรศรัทธา ไม่มีเหตุผลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ตรรกะ หรือจิตวิญญาณ เราอยู่ในโลกที่ดูไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิงสำหรับเรา ไร้แม้กระทั่งเหตุผลทางเทคนิค ผมไม่อยากจะทำการทดลองกับทุกท่านในที่นี้ เพราะผมก็เผยความลับไปหมดแล้ว แต่ถ้าผมบอกทุกท่านว่า เก้าอี้ที่ท่านนั่งอยู่นี้ทำจากหนังปลาเฮอริง ท่านจะเอาอะไรมาเถียงผมหรือครับ? ประสาทสัมผัสและความรู้ทั้งหมดที่เรามีบอกเราว่ามันอาจเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ได้ และถ้าผมหานักเคมีอุตสาหกรรมมายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริง ด้วยการให้เขาอธิบายกระบวนการสร้างเก้าอี้จากหนังปลาที่แสนจะเข้าใจยาก พรุ่งนี้ทุกท่านคงจะไปเล่าให้คนอื่นฟังว่า เออ เมื่อคืนนี้ได้นั่งเก้าอี้ที่ทำจากหนังปลาเฮอริงด้วย
บางที ผมอาจจะเข้าใกล้ประเด็นที่ผมอยากบอกมากขึ้น ด้วยการใช้อุปมาอุปไมยดังต่อไปนี้ ถ้าคุณแกะไพ่สำรับใหม่เอี่ยมอ่อง ค่อยๆ พลิกไพ่ขึ้นมาดูทีละใบ คุณก็จะรู้ได้ไม่ยากว่าไพ่สำรับนั้นเรียงลำดับกันอย่างไร ถ้าคุณเห็นไพ่ตั้งแต่หนึ่งโพดำไปจนถึงเก้าโพดำ คุณก็ย่อมจะคิดว่าใบต่อไปน่าจะเป็นสิบโพดำ ถ้ามันกลายเป็นสามดอกจิก คุณก็คงแปลกใจ และสงสัยว่าไพ่สำรับนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า แต่ถ้าผมสับไพ่สำรับนั้นยี่สิบครั้งก่อนจะยื่นให้คุณ แล้วขอให้เปิดดูทีละใบ คุณก็คงไม่คาดหวังว่ามันจะมีลำดับอะไรเป็นพิเศษ โอกาสที่ไพ่ใบต่อไปจะเป็นสามดอกจิกมีเท่าๆ กับสิบโพดำ ในเมื่อคุณไม่มีพื้นฐานอะไรที่จะเชื่อว่าไพ่สำรับนี้มีระเบียบแบบแผน คุณก็ไม่มีเหตุผลที่จะรู้สึกประหลาดใจที่ได้เห็นไพ่ใบใดใบหนึ่งโผล่ขึ้นมา
ประเด็นของผมก็คือ ใน โลกที่ไม่มีระเบียบทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา ไม่มีอะไรที่เหลือเชื่อ ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ และดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่ทำให้เราแปลกใจ
........................................ ........................................
จากคุณ |
:
Skywalker
|
เขียนเมื่อ |
:
1 ก.ย. 52 13:16:30
A:118.172.37.119 X: TicketID:231209
|
|
|
|
 |