 |
ความคิดเห็นที่ 18 |
ที่มา: http://www.larntum.in.th/cgi-bin/kratoo.pl/000648.htm
เหตุที่ทำให้มนุษย์ แตกต่างไปจากสัตว์ดิรัจฉาน ( พระธรรมปิฎก )
ลักษณะที่ ๑๐ เชื่อว่ามนุษย์ประเสริฐด้วยการฝึกฝนพัฒนา พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ศักยภาพนี้เป็นศักยภาพสมัยใหม่ ยืมเอามาใช้ เดิมนั้นเราพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คำศัพท์ที่แท้ของท่านว่า "ทัมมะ" แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก พระพุทธศาสนายอมรับความสำคัญของมนุษย์ว่ามีภาวะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึงการพัฒนาตน ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาตนไม่ฝึกตนแล้ว ก็จะเป็นสัตว์ที่ต่ำทราบที่สุด มนุษย์นั้นแพ้สัตว์ดิรัจฉานในด้านสัญชาตญาณ สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายส่วนมาก พอเกิดมาก็ดำรงชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ มักรู้จักเป็นอยู่ รู้จักหากินดำรงชีวิตได้ทันที แต่มนุษย์นั้นไม่ได้เรื่องเลย ไม่รู้สักอย่าง ถ้าปล่อยก็ตายทันทีต้องเอาใจใส่เลี้ยงดู ฝึกสอน จึงอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ นับว่าตรงกันข้าม แต่มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาแล้วก็เป็นสัตว์ประเสริฐสุด สัตว์อื่นนั้นพัฒนาได้แค่เป็นละครสัตว์เก่งแค่เป็นละครสัตว์ หรือเอามาให้มนุษย์ใช้งาน เป็นได้สองอย่าง แต่ว่าที่จริง ถึงเป็นละครสัตว์ก็คือให้มนุษย์เอามาใช้งานนั่นแหละ ได้อย่างดีก็ให้มนุษย์ใช้งาน เอามาเป็นลิงขึ้นต้นมะพร้าวบ้าง เอามาเป็นช้างลากซุงบ้าง และที่ฝึกให้ทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ แต่มนุษย์นั้นฝึกตนเองได้ และฝึกแล้วประเสริฐสุด ดังพุทธพจน์ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ และ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือฝึกดีแล้วนี้ ประเสริฐสุดทั้งในหมู่เทพ และบรรดามนุษย์ คือ ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทพทั้งหลายมนุษย์นั้นก็ยังสูงกว่า หรืออีกแห่งหนึ่งที่น่าจดจำมากว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ ........................... เทวาปิ นมสฺสนฺติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่ฝึกพระองค์ดีแล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ มีคาถาพุทธภาษิตมากมายที่บอกย้ำว่า บุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว พัฒนาศักยภาพดีแล้ว แม้แต่เทวดาและพรหม ก็เคารพบูชา
พระพุทธเจ้าได้ทรงทำกิจสำคัญอย่างหนึ่งคือการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ในสมัยพุทธกาลให้มนุษย์ ในสมัยพุทธกาลนั้น มนุษย์พากันฝากชีวิตจิตใจมอบชะตากรรมของตนให้แก่เทพทั้งหลาย ถือว่าเทพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้บันดาลชะตากรรมของมนุษย์ มนุษย์มีหน้าที่บวงสรวงอ้อนวอน ทำการสังเวยต่าง ๆ ขอร้องเทพเจ้าให้ยกเว้นปลดเปลื้องให้พ้นจากโทษเคราะห์กรรมต่าง ๆ และขอให้อำนวยลาภผลประทานรางวัลสิ่งที่ต้องการจนถึงกับมีการบูชายัญ เอามนุษย์เอาสัตว์มาฆ่าบูชาเทพเจ้าก็มี พอพระพุทธเจ้าประสูติ พระองค์ก็ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทันที ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส. เราเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศแห่งโลก นี่คือ วาจาประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ที่พระพุทธเจ้าประกาศแทนมนุษย์ทั้งหลาย บอกให้รู้ว่าต่อไปนี้มนุษย์มีอิสรภาพแล้ว เราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ ไม่ต้องฝากชะตากรรมไว้กับเทพเจ้า ไม่ต้องบวงสรวงอ้อนวอนรอให้เทวดาโปรดปราน ถ้าเราฝึกตนเอง แม้แต่เทวฤทธิ์ มนุษย์ก็มีได้ มมุษย์ที่ฝึกแล้วมีมนุษยฤทธิ์ที่ประเสริฐเหนือกว่าเทวฤทธิ์ เพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาทศักยภาพของตนเอง มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงอย่างหนึ่ง คือคอยจะประมาณให้ศักยภาพของตนเอง มัวให้หวังพึ่งปัจจัยภายนอก พระพุทธเจ้าทรงนำทางไว้แล้วให้เรานับถือตนเอง มัวไปหวังพึ่งปัจจัยภายนอก พระพุทธเจ้าทรงนำทางไว้แล้วให้เรานับถือตนเอง แต่อย่าหยิ่งลำพอง อย่านึกว่าเราเป็นมนุษย์ประเสริฐแล้ว จะต้องฝึกฝนต้องพัฒนาตนอยู่เสมอ การที่ถือว่าตนเองเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกฝนพัฒนา จะทำให้เราเป็นอ่อนน้อมถ่อมตน พระพุทธเจ้าสอนให้เราทุกคนอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเราเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกต้องพัฒนา แต่ในเวลาเดียวกันนี้ พร้อมกับความอ่อนน้อมถ่อมตนก็จะมีความมั่นใจในตนเองด้วยว่า เรามีศักยภาพที่พัฒนาได้ นี้คือหลักของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ได้ประทานไว้แล้ว อันเป็นไปตามสัจธรรม เพราะฉะนั้น เราจะต้องยึดหลักการนี้ไว้เป็นสำคัญ พระพุทธศาสนาสอนให้ถือว่า มนุษย์พอเริ่มต้นเป็นชาวพุทธ ก็ต้องมีโพธิสัทธา (เรียกเต็มว่า ตถาคตโพธสัทธา) เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระคถาคต คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพระพุทธเจ้า เราก็ต้องพัฒนาปัญญาของเราสิ ถ้าเราพัฒนาปัญญาแล้ว เราก็เป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก่อนคนอื่น ทำหน้าที่ประกาศพระศาสนา ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เป็นอนุพุทธะ แม้แต่ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าที่ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง แต่มีความรู้ดี ท่านยังยกย่องให้เป็นสุตพุทธะ เราทุกคนนี้สามารถเป็นพุทธะได้ แต่ขั้นแรกจะต้องมีตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า นี้เป็นศรัทธาเบื้องแรกที่ชาวพุทธจะต้องมี เพราะฉะนั้นชาวพุทธจะต้องเริ่มต้นด้วยการเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนา ได้ สาระสำคัญของศักยภาพก็คือปัญญา ดังที่ว่ามีปัญญาซึ่งสามารถพัฒนา จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพุทธะได้ เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่แม้แต่เทวยเทพและประดามนุษย์ทั้งหลายต้องบูชา เป็น สตฺถา เทวมนุสฺสานํ คือพระพุทธเจ้านั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่ทรงเป็นศาสนาทั้งของหมู่มนุษย์และของเหล่าเทวดา ชาวพุทธทั้งหลายจะต้องจำหลักการนี้ไว้ เพราะฉะนั้น มนุษย์อยู่ดูถูกตนเอง ต้องมั่นใจในตัวเอง ต้องนับถือตนเองอย่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตน อันนี้คือลักษณะของพระพุทธศาสนาที่ว่า เชื่อในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้.
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา พระธรรมปิฎก (ป.อ. ประยุตโต)
จากคุณ |
:
I'AM
|
เขียนเมื่อ |
:
1 พ.ย. 52 12:14:45
|
|
|
|
 |