 |
ความคิดเห็นที่ 7 |
ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ประชาชนในพื้นที่ ต.ตะกรบ อ.ไชยา และ ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ เกิดปฏิกิริยา "ต้าน" คณะทำงานสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่มี พล.อ.อ.พิเนต ศุกรวรรณ หัวหน้าคณะเป็นหัวหน้า ทำให้ภารกิจการสำรวจล้มเลิกกะทันหัน
นายดำริห์ บุญจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า สาเหตุเกิดจากคณะทำงานสำรวจฯไม่ได้ปรึกษาทำความเข้าใจหรือสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของคณะทำงานสำรวจฯและ กฟผ.ต้องปรับความเข้าใจและหาวิธีการทำความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่น ให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้วจะไม่เกิดปัญหาและอันตรายผลกระทบใดๆ อีกทั้งควรจัดนำประชาชนไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างรูปแบบเดียวกันว่าเป็นอย่างไร
นายวินัย ชัยรัตน์ อายุ 70 ปี บ้านเลขที่ 199 หมู่ 2 ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ กล่าวว่า ทางอำเภอท่าชนะเข้าไปในพื้นที่ พร้อมกับคณะช่างสำรวจที่ หมู่ 1, 6, 7, 10 และ 11 ต.คันธุลี ในพื้นที่นับพันไร่ ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรู้มาก่อน เหมือนกับว่าปิดบังข้อมูลข่าวสาร จึงไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้า และมีขั้นตอนอย่างไร
นายณรงค์ศักดิ์ แป้นคล้าย รองนายกเทศมนตรี ต.ท่าชนะ กล่าวว่า หน่วยงานควรบอกความจริง เพราะขณะนี้กระแสต่อต้านเพิ่มมากขึ้น ทั้งมาตรการป้องกันโรงไฟฟ้าไม่ให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างเข้มงวดได้อย่างไร
ที่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็น 1 ใน 5 แห่งที่ กฟผ.เล็งเป้าน่าจะเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ภายหลังคณะสำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่มี พล.อ.อ.พิเนตร ศุภวรรณ เป็นประธานประชุมชี้แจงให้กับผู้นำท้องถิ่นและ อบต.ใกล้เคียงว่า ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก เหมาะสมด้านโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ไม่มีรอยแยกหรือรอยเลื่อน อยู่ห่างจากแหล่งน้ำคือบึงบอระเพ็ดเพียง 13 กิโลเมตร อีกทั้งยังใกล้กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
นายกวี กิตติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแผนของการสำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับโครงการเพราะปัญหาพลังงานเป็นเรื่องใหญ่
"การสำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะที่สุดการตัดสินใจของคณะกรรมการย่อมต้องเลือกในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ถ้าไม่สำรวจเมื่อถึงวันนั้นแล้วถึงค่อยสำรวจจะไม่ทันกาลและเสียโอกาสของ จ.นครสวรรค์ด้วย" นายกวีกล่าว
แต่มีข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เดินทางเข้าไปตั้งเวทีปราศรัยที่โรงเรียนบ้านพนมรอก ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก เพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยชี้แจงให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
นายณัฐพนธิ์ ส้มแสง นายก อบต.พนมรอก อ.ท่าตะโก นครสวรรค์ชี้แจงว่า อบต.พนมรอกทุกคน เปิดเสรีภาพอย่างเต็มที่ เพราะถึงที่สุดประชาชนในพื้นที่เท่านั้นตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
"โครงการนี้เป็นเพียงก้าวแรก เพิ่งเริ่มต้นและไม่ใช่ว่าวันนี้จะสรุปว่าเอาพื้นที่ตรงนี้สร้างเป็นเพียงพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น ที่สุดแล้วอาจจะไม่เลือกที่นี่ก็ได้" นายณัฐพนธิ์กล่าวสรุป
ด้านนายสนธยา กล่อมสังข์ นายก อบต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ให้ความเห็นถึงพื้นที่ ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ เป็น 1 ใน 5 จุดเหมาะสมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ว่า ไม้รูดเป็นตำบลขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ทั้งทรายแก้ว ป่าชายเลน และสัตว์ทะเล การจะมาทำให้เสียหายในพื้นที่ อบต.ไม้รูด และประชาชนคงไม่ยอมแน่นอน
"ผมรู้ว่าประเทศไทยต้องการพลังงานสูงมากและจำเป็นต้องนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เป็นพลังงานทดแทน แต่ผมและชาวบ้านไม่ต้องการให้มาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากมาจริงจะต่อต้านอย่างสุดสุด" นายสนธยากล่าว
ขณะที่นายสมเกียรติ สมรรถการ นายกสมาคมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตราด กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ จ.ตราด จะเกิดปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
นายสมเกียรติกล่าวว่า ตราดเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ต.ไม้รูดเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรายแก้วมีมหาศาล ป่าชายเลนสมบูรณ์ ชายหาดขาวสะอาด หากตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้น้ำทะเลอ่าวไทยมีมลพิษสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน ปลา สิ่งมีชีวิต ในทะเลต้องเสียชีวิต
"ผมไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ แม้มีเทคโนโลยีระดับสูง แต่ไว้วางใจได้แค่ไหนว่าจะไม่มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา ผมว่า จ.ตราด ไม่เหมาะสมกับการตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์" นายสมเกียรติยืนกรานน้ำเสียงหนักแน่น
http://matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pro35241152§ionid=0112&day=2009-11-24
จากคุณ |
:
กกร่ม
|
เขียนเมื่อ |
:
25 พ.ย. 52 19:48:57
|
|
|
|
 |