 |
ความคิดเห็นที่ 65 |
นี่เป็นของแถม
พอดีไปเจอบทความ "จาก climategate สู่ wikigate และ googlegate" (โดยคุณหมูอวบ) เห็นว่าน่าสนใจ ขออนุญาตนำมาให้อ่าน http://www.thaiclimate.org/Forum.cfm?ID=582
จากกรณี climategate ที่มีการล้วงและลัก (hack) เอา e-mail และข้อมูลงานวิจัย จาก server ของศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัย east anglia ซึ่งศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นดั่งศูนย์กลางงานวิจัยเรื่องโลกร้อนที่สำคัญของโลกเลยทีเดียว อีเมล์ที่ถูกลักออกมา ได้ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะกระทบกับนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของฝ่ายที่เชื่อว่าโลกร้อนเกิดจากมนุษย์แล้ว ยังลุกลามไปสู่ความมั่นใจของสาธารณชนต่อขุมทรัพย์ข้อมูลบนโลก internet นั่นคือ wikipedia.com และ google.com ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีส่วนอย่างมากในการกระพือความเข้าใจและความเชื่อว่าโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ ให้กระจายไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นความเชื่อหลักของคนบนโลกใบนี้
wikipedia ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกุให้โลกร้อนเกินปกติ เมื่อมีอีเมล์พาดพิงไปถึง william connolley ซึ่งเป็นผู้ดูแลเนื้อหาด้านสภาพภูมิอากาศของ wikipedia ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2546 connolley นอกจากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ งานสำคัญของ connolely นั้นเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษ 1970 โดย connolly เสนอค้านว่าเป็นทศวรรษที่โลกมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น ซึ่งสวนทางกับข้อมูลวิชาการเดิมที่ชี้ว่าเป็นช่วงหนาวเย็น
ในปี พ.ศ. 2548 มีรายงานว่า connolley ได้ถูกตรวจสอบกรณีการแก้ไขข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับโลกร้อน ซึ่งฝ่ายที่สงสัย ได้ส่งเรื่องให้อนุญาโตของ wikipedia ตรวจสอบ ในประเด็นที่ว่า connolley ใช้อำนาจของผู้ดูแลเนื้อหาแก้ไข หรือลบทิ้งเนื้อหาที่มีข้อขัดแย้งกับมุมมองของเขา ผลคือ connolley ถูกสั่งจำกัดการแก้ไขข้อมูลเป็นเวลา 6 เดือน แต่ต่อมาคำสั่งถูกยกเลิก และเขาก็กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิมอีกครั้งเมื่อมกราคม 2549 และถูกยื่นให้ตรวจสอบพฤติกรรมแบบเดิมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2552 จนกระทั่งอนุญาโตได้เพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้ดูแลเนื้อหาตั้งแต่ 13 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา (แต่โดยข้อเท็จจริง connelley ก็ยังวนเวียนเข้ามาแก้ไขข้อมูลใน wikipeadia อยู่จนถึง ณ ปัจจุบัน)
ชื่อของ connolley กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อมีชื่ออยู่ใน e-mail ที่ถูกล้วงออกมาในฐานะ peer review ภายในของ realclimate.org และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีการกล่าวถึงการลบทิ้งข้อมูล medieval warm period เพื่อทำให้เห็นว่าข้อมูลอุณหภูมิในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับที่อนุญาโตของ wikipedia ตรวจสอบ
สื่อมวลชนจึงได้สืบข้อมูลและพบว่า ในระหว่างที่ connolley เป็นผู้ดูแลเนื้อหาด้านสภาพภูมิอากาศของ wikipedia นั้น เขาได้ใช้อำนาจของผู้ดูแลเนื้อหา ลบบทความใน wikipedia ที่เป็นของฝ่ายที่เชื่อว่าโลกร้อนเกิดขึ้นตามวงจรธรรมชาติมากกว่า 500 ครั้ง อย่างเช่น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 เขาลบเนื้อหาเรื่อง little ice age และ 11 ตุลาคม 2546 ลบเนื้อหาเรื่อง medieval warm period เขายังทำการแก้ไขบทความของนักวิทยาศาสตร์ในฝ่านที่ไม่เห็นด้วย รวมกว่า 5,428 หัวข้อ และยังทำการปิดกั้นผู้ใช้งานที่ขัดแย้งกับเขามากกว่า 2,000 คน
Connolley เป็นหนึ่งในบุคคลที่สังคม wikipedia เรียกว่า wiki nazi และพฤติกรรมของ connolley ข้างต้น ใช่หรือไม่ว่าได้ทำให้ wikipedia กลายเป็นแหล่งข้อมูล (ที่จงใจ) เผยแพร่ทฤษฎีโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ และโดย (จงใจ) ปิดบังข้อมูลที่เห็นต่างออกไป
หันกลับมาดูค่าย google กันบ้างครับ ภายหลังมีข่าวเหตุการณ์ climategate ผู้คนจำนวนมากใช้ google ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และเมื่อมีการค้นคำว่า climategate เพิ่มมากขึ้น ระบบแนะนำอัตโนมัติซึ่งเป็นมาตรฐานของ google จะช่วยให้ผู้ค้นหาเข้าถึงคำที่ต้องการค้นได้เร็วขึ้น เพียงแค่พิมพ์ c-l-i ก็จะปรากฏคำว่า climategate ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นมีส่วนทำให้ภายในเวลา 10 วัน (28 พฤศจิกายน 2552) ได้ทำให้จำนวนหน้าของ link ที่ปรากฏคำว่า climategate ที่ google สามารถเข้าถึงได้ มีมากถึง 10,400,000 หน้า ซึ่งมากกว่าจำนวนหน้าของ link เมื่อค้นคำว่า global warming เสียด้วยซ้ำ
แต่แล้วหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ระบบแนะนำอัตโนมัติของ google สำหรับคำว่า climategate กลับไม่ทำงาน แม้ว่าจะพิมพ์ climategate เต็มๆ แล้วก็ตาม นั่นหมายถึง มีการดึงคำว่า climategate ออกจากระบบการค้นหาของ google ไปเรียบร้อยแล้ว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความสงสัยที่มากยิ่งขึ้นแก่ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ จนนำไปสู่การมีข้อสรุปที่ว่า google ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสมรู้ร่วมคิดเรื่องโลกร้อน โดยพยายามกันไม่ให้สาธารณชนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลเรื่อง climategate ได้ง่าย มีรายงานปัญหาการสืบค้นในลักษณะข้างต้น ทั้งใน google.com / google.co.uk หรือ แม้แต่ google.co.th ก็ตาม
ทั้งนี้มีความพยายามที่จะขอคำอธิบายจาก Eric Schmidt ซึ่งเป็น CEO ของ google แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา งานนี้ว่ากันว่า Schmidt ในฐานะผู้สนับสนุนการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของ al gore และในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนทุนลำดับ 3 ให้แก่ Obama คงเป็นคนจัดการเรื่องนี้เอง
ถึงตอนนี้หากจะค้นคำว่า climategate ก็มีคำแนะนำให้ค้นหาผ่าน yahoo.com หรือไม่ก็ bing.com แทนจะดีกว่า
ถึงที่สุด ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะจบลงเมื่อไรและผลออกมาเป็นอย่างไร และผมก็ไม่รู้ว่าคุณจะยังเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัยในข้อมูลที่ได้จาก wikipedia ต่อไปหรือไม่ และจะยังเชื่อผลการค้นหาที่ google บอกได้อย่างวางใจหรือไม่ ผมรู้แต่เพียงว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ผมในฐานะผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารตัวยง ต้องตระหนักในข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในโลกดิจิตอลให้มากขึ้นครับ
จากคุณ |
:
กาลามะชน
|
เขียนเมื่อ |
:
9 ม.ค. 53 17:25:22
|
|
|
|
 |