 |
ความคิดเห็นที่ 21 |
จาก link ... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=830
ฝ่านค้าน .... (ต่อ)
การคิดต้นทุนในการผลิตพลังงานมี ๓ ส่วน สองส่วนแรกคือต้นทุนการผลิต กับอีกส่วนคือต้นทุนจากผลกระทบภายนอก ดังนั้นเวลาพูดว่าทางเลือกนี้แพงหรือถูก ต้องดูว่ารวมต้นทุนจาก ผลกระทบภายนอกเข้าไปด้วยหรือไม่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินมีคนรอบโรงไฟฟ้าต้องเจ็บป่วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงต้องมีคนกลุ่มหนึ่งแบกรับความเสี่ยงไปหลายสิบหลายร้อยปี พลังงานหมุนเวียนก็มีต้นทุนเช่นนี้ แต่สิ่งสำคัญคือต้นทุนภายนอกที่ต้องจ่ายมีไม่มาก แม้ว่าในช่วง ๗ ปีจะต้องลงทุนมากกว่า เช่น พลังงานชีวมวล (Biomass) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแกลบ ชานอ้อย ฯลฯ ขณะนี้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ ๒-๓ บาทต่อหน่วย แข่งขันได้ ส่วนก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ขยะ น้ำเสีย ต้นทุนในแง่ผลกระทบภายนอกติดลบ เพราะสร้างประโยชน์ให้สังคม นำขยะมาใช้ประโยชน์ หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ผลกระทบภายนอกติดลบเช่นกัน เพราะไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ลดการสูญเสีย พื้นที่ป่า พลังงานหมุนเวียน ๓ ชนิดนี้แข่งขันในตลาดพลังงานได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐมากนัก
คำถามอีกข้อคือเรากำลังจ่ายค่าไฟฟ้าให้ใคร ถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องนำเข้ายูเรเนียม จ่ายค่าก่อสร้าง ค่าเทคโนโลยี ส่งคนไปเรียน ถ้าผลิตไฟฟ้าขายได้หน่วยละ ๒.๐๘ บาทจริง ใน ๒.๐๘ บาทนี้จะเก็บไว้ในประเทศได้กี่สตางค์ จ้างคนงานได้กี่คน เมื่อเทียบกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน อาทิ ก๊าซชีวภาพ คนไทยทำได้เองทุกขั้นตอน อุปกรณ์ทุกอย่างผลิตในประเทศ อีก ๑๐ ปีข้างหน้า ลาว กัมพูชา คงอยากส่งเสริมพลังงานชนิดนี้ เราก็ไปลงทุนได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพ้นจาก การเป็นผู้บริโภคอย่างเดียว
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดภาวะโลกร้อนนั้นก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะการได้มาของยูเรเนียมนั้นมีหลายขั้นตอน มีการปล่อยก๊าซซึ่งส่งผลกระทบกับภาวะโลกร้อนเช่นกัน แต่มีประเด็นอื่นๆ อีกมากที่ต้องเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการลดภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ก็ลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน
ที่ผ่านมารัฐบาลพูดถึงพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ แบบแยกส่วนแล้วบอกว่าแพง ทดแทนความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ยากเพราะไม่มีศักยภาพ แต่ผมมองว่าความต้องการไฟฟ้า ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์จากพลังงานนิวเคลียร์สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะจากพลังงานชีวมวล ในปี ๒๕๔๒ ไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลได้ไม่กี่ร้อยเมกะวัตต์ แต่เมื่อปี ๒๕๔๙ ทำได้ถึง ๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ นี่แสดงว่าเรามีศักยภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ผลิตไฟฟ้าได้ ๕๐ เมกะวัตต์ เช่น โรงงานน้ำตาลที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เอาไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อยมาใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนขายให้ กฟผ. และขายกากน้ำตาลให้โรงงานผลิตเอทานอลด้วย นอกจากนี้เคยมีการศึกษาศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนของไทยเสนอต่อธนาคารโลก ก็ได้ข้อมูลว่าเรามีศักยภาพผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง ๒,๒๐๐-๒,๔๐๐ เมกะวัตต์ภายในปี ๒๕๕๔ แต่ในแผน PDP 2007 จำกัดไว้ที่ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์เท่านั้น
ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังน่ากังวล ต่างประเทศเคยมีอุบัติเหตุระหว่างขนส่งเชื้อเพลิง แท่งเชื้อเพลิงตกแล้วเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายขึ้น ส่วนเตาปฏิกรณ์ผมได้ข้อมูลว่าไทยจะเลือกใช้เตาเจเนอเรชันที่ ๓ ซึ่งเครื่องแรกจะผลิตเสร็จในปี ๒๕๕๓ นี่ยังเป็นคำถามว่าเสี่ยงหรือไม่เพราะยังไม่เคยมีใครใช้งาน มองไปที่เหตุการณ์เชอร์โนบิล เตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง จากสถิติช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ๙ ครั้ง บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงสูง อุบัติเหตุมีตั้งแต่ความรุนแรงระดับ ๓ ขึ้นไป เช่น กัมมันตภาพรังสีรั่วสู่สิ่งแวดล้อม ระบบไฟสำรองไม่ทำงานทำให้ไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาในเตาปฏิกรณ์ได้ กรณีหลังเกิดในสวีเดนซึ่งโชคดีที่ไฟฟ้าสำรองกลับมาติดอีกครั้ง เมื่อสถิติเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะทำให้คนในพื้นที่ก่อสร้างยอมรับความเสี่ยง เพราะเขาต้องอยู่กับมันอีกนานแต่ประโยชน์ไม่รู้ไปตกอยู่กับใคร จากงานวิจัย ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มกว่าร้อยละ ๗๐ มาจากภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปต้องการไฟฟ้าเพิ่มแค่ร้อยละ ๒๐-๓๐ เท่านั้น เรากำลังให้คนส่วนใหญ่มาแบกรับความเสี่ยงของคนส่วนน้อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้นยิ่งเสียเปรียบ
ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีวิธีกำจัดกากนิวเคลียร์ได้อย่างสมบูรณ์ มีเพียงการเก็บในที่ปลอดภัย ที่น่ากลัวคือกากเหล่านี้มีกัมมันตภาพรังสี ยกตัวอย่างครึ่งชีวิตของยูเรเนียมคือ ๔.๕ พันล้านปี (ทุก ๔.๕ พันล้านปีสารกัมมันตรังสีในยูเรเนียมจะลดลงครึ่งหนึ่ง) หมายถึงต้องเก็บอีกนาน ไม่รวมสารกัมมันตรังสีอื่นๆ ที่ได้จากกระบวนการในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตลูกหลานในระยะยาว ทั่วโลกตอนนี้ก็ไม่มั่นใจเทคโนโลยีฝังกลบ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามสร้างที่เก็บกากถาวรในทะเลทรายของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถาวรตามชื่อหรือไม่ เพราะวัสดุที่หุ้มกากเหล่านี้ต้องมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับกาก และมนุษย์ยังไม่เคยค้นพบวัสดุอะไรที่มีอายุยืนขนาดนั้น ผมไม่สบายใจที่รัฐบาลบอกว่ากากนิวเคลียร์มีอันตรายน้อยกว่าภัยจากถ่านหิน เพราะกัมมันตภาพรังสีของมันน่ากลัวกว่ามาก
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังได้กลายเป็นจุดวิกฤตของประเทศโดยไม่ต้องรอภาวะสงคราม แค่มีอุบัติเหตุหรือการก่อการร้าย ไฟฟ้าอาจหายไปจากระบบมากพอที่จะดึงระบบไฟฟ้าของประเทศล่มไปด้วยถ้าโรงไฟฟ้านั้นมีกำลังการผลิตมาก มันยังต้องการน้ำระบายความร้อน ต้องการระบบขนส่งเชื้อเพลิงที่ปลอดภัย ดังนั้นส่วนมากจึงนิยมสร้างโรงไฟฟ้าไว้ใกล้ทะเล เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกัมมันตภาพรังสีจะไหลลงทะเล นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยน่าจะอยู่แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร เพราะรัศมีโดยรอบร้อยละ ๕๐ เป็นทะเล ร้อยละ ๔๐ เป็นเขตพม่า ร้อยละ ๑๐ เป็นพื้นที่จังหวัดประจวบฯ กับชุมพร ผมไม่ค่อยสบายใจกับแนวคิดนี้ เพราะเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปลอดภัย การที่รัฐบาลบอกประชาชนว่าไม่มีความเสี่ยงจึงเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูก ถ้าจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐบาลควรจะบอกเลยว่าจำเป็นต้องเสี่ยง และเราต้องช่วยกันวางมาตรการดูแลให้เสี่ยงน้อยที่สุด
ผมขอเสนอให้ทำกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวให้โปร่งใส เราน่าจะมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร เช่น ถ้า ๒ ปีหลังจากนี้นอกจากศึกษาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์แล้ว เราศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ด้วยได้หรือไม่ โดยตั้งคณะกรรมการและให้งบประมาณเท่ากันแล้วเอาข้อมูลมาให้สังคมพิจารณา ผมกำลังเสนอหลักการต่อสู้ทางความคิดบนเวทีที่มีมาตรฐาน ถ้าคุณตอบคำถามได้ดีสังคมไทยย่อมเชื่อคุณแน่
ผมมีสูตร ๒๐ : ๒๐ ภายในปี ๒๕๖๓ เสนอแทนแผน PDP 2007 เริ่มต้นจากปีนี้เป็นต้นไป ๒๐ แรกคือชะลออัตราเพิ่มความต้องการพลังงานให้เหลือเพียงร้อยละ ๔-๕ ต่อปี หรือลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ ๒๐ คือทำให้การเพิ่มนั้นเท่ากับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มปีละ ๔-๕ โดยจัดการการใช้ไฟฟ้า กำหนดมาตรฐานอาคาร เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ ฯลฯ โดยเฉพาะการจัดการช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพราะในบ้านเราความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ในช่วง ๑๕ ชั่วโมงของเดือนเมษายน ตั้งเป้ากันว่าปีนี้ต้องไม่เกินเท่าไร อาจขอความร่วมมือทางโทรทัศน์ว่าในวันดังกล่าวขอให้งดกิจกรรมบางอย่าง ถ้าควบคุมตรงนี้ได้สามารถลดการใช้พลังงานได้แน่ แทนที่จะดีใจว่าทำลายสถิติอีก วิธีนี้ต้นทุนถูกกว่าผลิตพลังงานหมุนเวียนเสียอีก อย่างนี้ลดลงได้แล้ว ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ เมกะวัตต์
ส่วน ๒๐ หลังคือ สร้างระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์แทนที่โรงไฟฟ้ารวมศูนย์ ระยะสั้นมุ่งไปที่พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก แล้วปรับปรุงให้โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งผลิตทั้งไฟฟ้าและความร้อนเป็นระบบพลังงานร่วม จะทำให้การใช้พลังงานทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่ได้อีก ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ขึ้นไป ส่วนระยะยาวก็พัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ได้อีกไม่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ ยังมีพลังงานลม แสงอาทิตย์ที่ต้องเริ่มทำ คือฟูมฟักมันโดยเพิ่มการใช้งานให้อยู่ในระดับที่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งตามศักยภาพพลังงานหมุนเวียนตรงนี้จะเพิ่มได้ถึง ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ จะเห็นว่า ๔,๐๐๐ เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หายไปแล้ว ผมพบว่าถ้าใช้วิธีนี้ ในอนาคตก็ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือถ่านหิน ประหยัดได้หลายแสนล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมาก
สุดท้ายอยากถามว่า เรามีทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่านี้หรือไม่ ทุกประเทศที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ภายใต้ความเสี่ยงทั้งนั้น ถ้ามีทางที่เสี่ยงน้อยกว่าแผน PDP 2007 เราจะไม่เลือกเดินไปหรือ
จากคุณ |
:
นิสิต
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.พ. 53 12:54:38
|
|
|
|
 |