 |
ความคิดเห็นที่ 4 |
ก็อปมาให้อ่านบางส่วน
=============================
มะเร็งคืออะไร
ที่มาของคำว่า “มะเร็ง” (Cancer)
คำว่ามะเร็ง หรือ Cancer มาจากคำศัพท์ในภาษากรีกว่า Carcinus หรือ Karkinos ที่แปลว่า ปู ซึ่งหมายถึง "กระบวนการไร้ระเบียบ ไม่มีอะไรมาขัดขวางการใช้อำนาจควบคุม" ที่ใช้คำนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะการโตของก้อนมะเร็ง จะมีส่วนยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาปู (ฉะนั้น สัญลักษณ์ของมะเร็งหรือเครื่องหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง จึงมักใช้รูปปูเป็นเครื่องหมาย) สำหรับแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็ง เรียกว่า "Oncology" ซึ่งมาจาก Onkos ในภาษากรีก แปลว่า Tumor หรือ Mass
ความหมายของมะเร็ง
สำหรับความหมายของ 'มะเร็ง' มีการให้ความหมายที่คล้ายคลึงกันจำนวนมาก ในที่นี้ ขอนำเสนอใน 2 ความหมาย ดังนี้
1. มะเร็ง หมายถึง โรคชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะของการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเซลล์เหล่านี้ มีความสามารถที่จะลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเช่น เจริญเติบโตโดยตรงเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียง (Invasion) หรือการอพยพเคลื่อนย้ายเซลล์ไปยังตำแหน่งที่ไกลๆ (Metastasis) การเจริญเติบโตแบบไม่เป็นระเบียบของเซลล์นี้ อาจมีสาเหตุที่เกิดขึ้นภายหลัง หรือเป็นกรรมพันธุ์ โดยการกลายพันธุ์ของ DNA ภายในเซลล์ มีการทำลายข้อมูลของยีน ซึ่งเป็นตัวกำหนดหน้าที่ของเซลล์ การเคลื่อนย้าย และการควบคุมความปกติของการแบ่งตัวของเซลล์
2. โดยปกติ อวัยวะและเนื้อเยื่อของร่างกาย จะประกอบด้วยส่วนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เรียกว่า 'เซลล์' เซลล์ที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจจะมีลักษณะและหน้าที่การทำงานแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่การสร้างหรือผลิตตัวเองขึ้นมาใหม่ จะเป็นในแบบเดียวกัน เซลล์จะเริ่มแก่และตายไปในที่สุด และเซลล์ตัวใหม่ ก็จะเริ่มผลิตขึ้นมาแทนที่ โดยปกติ การแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์ จะมีการควบคุมและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน แต่ถ้ากรรมวิธีนี้ไม่สามารถควบคุมได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม เซลล์ก็จะทำการแบ่งตัวต่อไปตามลำดับจนพัฒนาขึ้นมาเป็นก้อนที่เรียกว่า Tumor ก้อนนี้ อาจเป็นก้อนที่ไม่อันตราย (Benign Tumor) หรืออาจเป็นก้อนเนื้อร้าย (Malignant Tumor) ก็ได้ และมะเร็ง ก็คือชื่อของก้อนเนื้อร้ายนี้เอง การเรียกชื่อของมะเร็ง ให้เรียกชื่อจากจุดที่เริ่มต้นเป็น เช่น เริ่มเป็นที่มะเร็งเต้านม แล้วแพร่กระจายไปที่ตับ แต่จะยังคงเรียกว่า มะเร็งเต้านมอยู่ ไม่ใช่มะเร็งตับ
ประเภทของมะเร็ง
มะเร็งมีมากมายกว่า 200 ชนิด สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 5 กลุ่ม ดังนี้
1. Carcinoma 2. Sarcoma 3. Lymphoma 4. Leukemias 5. Melanoma
ความรุนแรงของมะเร็ง
ในทางพยาธิวิทยา จะแบ่งความรุนแรงของมะเร็งออกเป็น 4 ขั้น ตามการจำแนกลักษณะของเซลล์มะเร็ง (Differentiation) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ กล่าวคือ ตั้งแต่ขั้นที่มีการจำแนกลักษณะของเซลล์ชัดเจน (Well Differentiation) ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงน้อย จนกระทั่งถึงขั้นที่ 4 ที่เซลล์ไม่มีการจำแนกลักษณะเลย (Undifferentiation) ซึ่งมีความรุนแรงมาก
ในด้านการรักษา มีการแบ่งความรุนแรงของมะเร็งตามระยะของโรค โดยอาศัยการลุกลามของโรคออกไปเป็นระยะๆ ดังนี้
* ระยะที่ 1 มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในที่เริ่มเป็น * ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือลุกลามทะลุผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง * ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง * ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
มะเร็งมีการแพร่กระจายอย่างไร
โดยทางกระแสเลือด เซลล์มะเร็งจะหลุดเข้ากระแสเลือด แล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมองเป็นต้น โดยทางกระแสน้ำเหลือง เซลล์มะเร็งหลุดเข้าหลอดน้ำเหลืองแล้วไปเจริญเติบโต ในต่อมน้ำเหลือง บริเวณใกล้เคียง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตได้มาก ๆ จากต่อมน้ำเหลืองนี้เอง เซลล์มะเร็งอาจจะแพร่กระจาย เข้าสู่หลอดเลือดอีกทอดหนึ่งได้ โดยการฝังตัวของเซลล์มะเร็ง (Implantation) โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากตำแหน่งเดิม ไปเจริญที่ส่วนอื่น อาจจะเป็นการหลุดโดยธรรมชาติ หรือโดยมีการกระตุ้น เช่น จากการผ่าตัด เป็นต้น โดยการไปจับหรือรวมตัวตามพื้นผิวของผนังเยื่อบุ (Transcoelomic) โดยเซลล์มะเร็งหลุดจากก้อนมะเร็ง ไปงอกตามพื้นผิวของเยื่อบุต่างๆ เหมือนกับต้นกาฝาก ที่แพร่จากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปยังกิ่งติดๆ กัน เช่น ตามพื้นผิวของเยื่อบุช่องท้อง ช่องปอด เป็นต้น
การแบ่งตัวของเซล
ยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์
การที่เซลล์มะเร็ง แบ่งเซลล์ไปได้เรื่อยๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ แสดงว่า กลไกการควบคุมการแบ่งเซลล์มีความผิดปกติ โดยปกติยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ - ยีนที่ทำงานโดยการยับยั้งการแบ่งเซลล์ - ยีนที่ทำงานโดยการกระตุ้นการแบ่งเซลล์
1. ยีนที่ทำงานโดยการยับยั้งการแบ่งเซลล์ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Tumor Suppressor Gene ยีนกลุ่มนี้ มีลักษณะการทำงานที่สำคัญคือ เมื่อยีนทำงาน เซลล์จะหยุดการแบ่งตัว ยีนจะหยุดการแสดง ออกเพื่อให้มีการแบ่งเซลล์ และเมื่อใดก็ตามที่ยีนกลุ่มนี้สูญเสียหน้าที่ ไม่สามารถแสดงออกได้ เซลล์จะแบ่งตัวโดยไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือนการขับรถโดยไม่มีเบรกคอยห้ามล้อ จึงหยุดรถไม่ได้
ตัวอย่างยีนชนิดนี้ ได้แก่ p53 gene โดยมีการทำงาน ดังนี้ เมื่อเซลล์ถูกแสงอัลตร้าไวโอเลต ซึ่งอาจทำให้ DNA เกิดความเสียหายได้ p53 gene จะทำงานโดยสร้าง Transcription Factor โดยหยุดเซลล์ไว้ที่ระยะ G1 เพื่อซ่อมแซม DNA ที่แตกหักเสียหาย ก่อนที่จะปล่อยให้เซลล์เข้าสู่ระยะ S ซึ่งมีการสังเคราะห์ DNA ใหม่ ในกรณีที่ DNA แตกหักเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมให้กลับดังเดิมได้ p53 จะกำหนดให้เซลล์ตาย (Apoptosis) ในภาวะที่เซลล์ขาด p53 เซลล์ไม่สามารถหยุดการแบ่งเซลล์ ไว้ที่ระยะ G1 เพื่อซ่อมแซม DNA ที่แตกหักเสียหาย ก่อนที่จะปล่อยให้เซลล์เข้าสู่ระยะ S ซึ่งใช้ DNA ที่แตกหักเสียหายนั้นเป็นต้นแบบในการสร้าง DNA ใหม่ ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์มากขึ้น ภาวะขาด p53 จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง บางคนจึงเรียก p53 ว่า ผู้พิทักษ์พันธุกรรม (Guardian of the Genome)
2. ยีนที่ทำงานโดยการกระตุ้นการแบ่งเซลล์ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Proto Oncogene ยีนกลุ่มนี้มีลักษณะการทำงานที่ตรงกันข้ามกับ Tumor Suppressor Gene กล่าวคือ ยีนส์จะแสดงออกเพื่อให้มีการแบ่งเซลล์ และเมื่อใดก็ตามที่ยีนหยุดการแสดงออก เซลล์จะหยุดการแบ่งตัว ดังนั้น การเกิดการกลายพันธุ์ จนยีนแสดงออกมาตลอดเวลา เซลล์จะแบ่งตัวโดยไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือนกับการขับรถโดยเหยียบคันเร่งตลอดเวลา ทำให้หยุดรถลำบาก ยีนกลุ่ม แรกๆ ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็ง คือ Oncogene ยีนนี้ พบครั้งแรกในไวรัสก่อมะเร็ง ตัวอย่างเช่น Rous Sarcoma Virus (RSV) ซึ่งเป็น RNA Virus เมื่อเข้าไปในเซลล์แล้ว จะใช้เอนไซม์สร้าง DNA ขึ้นจาก DNA ของตนเอง DNA นี้ เรียกว่า Provirus สามารถแทรกตัวเข้ากับ DNA ของเซลล์ แล้วทำให้เซลล์เป็นเซลล์มะเร็งได้
มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาจจะสรุปได้ว่า มีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ 2 อย่างร่วมกัน อันจะทำให้เซลล์นั้นๆ ทำงานผิดปกติไป คือ - เหตุส่งเสริม หรือเหตุที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย - เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย
เหตุส่งเสริมหรือที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย 1. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล โดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถสร้างสารต่างๆ ออกมาในรูปของโปรตีน และโพลีเปปไทด์ (Polypeptides) หลายๆ ชนิด ซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิวหรือผนังของเซลล์มะเร็ง เรียกว่า Tumor Associated Antigen -TAA) หรือ Tumor Specific Transplantation Antigen - TSTA) ตามปกติ ร่างกายของคนเรา สามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้ จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบ หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น 2. เชื้อชาติ มะเร็งบางชนิด จะพบมากในเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก พบมากในชาวจีน เป็นต้น 3. เพศ มะเร็งบางชนิดพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ แต่มะเร็งบางชนิดพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งเต้านม 4. อายุ มะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า Sarcoma ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่า Carcinoma จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็งบางชนิดจะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา (Retinoblastoma) 5. กรรมพันธุ์ (Genetics) 6. ความผิดปกติต่างๆ เช่น ในกรณีที่เป็นไฝ หรือปานดำ มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนบาชนิดร้าย (Malignant Melanoma)
เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย 1. สารกายภาพต่างๆ (Physical Agents) ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหาร จะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก อาจจะทำให้เกิดมะเร็งของเหงือกหรือเพดานปากได้ การกระทบกระแทก การคลอดบุตรหลายๆ คน หรือการมีกระบังลมหย่อนในหญิงสูงอายุ ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ง่าย รังสีต่างๆ เป็นต้น 2. สารเคมี (Chemical Agents) 3. ฮอร์โมน (Hormone) 4. เชื้อไวรัส มีไวรัสหลายชนิด เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (Oncogenic Viruses, Tumour Viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอ และไวรัสอาร์เอ็นเอ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้ว ก็จะมีการเพิ่มจำนวน (Productive Infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้ แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (Transformation) จากการที่ยีนหรือ DNAของไวรัส (Viralgnome หรือ Viral DNA) ไปแทนที่ DNA ของเซลล์ สำหรับในคน ไวรัสอาจจะเป็นสาเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิด เช่น Epstein-Barr Virus มีความสัมพันธ์กับมะเร็งโพรงหลังจมูก และมะเร็งของต่อม น้ำเหลืองเบอร์คิดต์ (Burkitt’s Lymphoma) หรือ Herpes Simplex Virus ชนิดที่ 2 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด เป็นต้น 5. สารพิษ (Toxin) 6. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ 7. ภาวะขาดอาหาร
กลไกการเกิดมะเร็ง
การเกิดโรคมะเร็งเป็นขบวนการหลายขั้นตอน มีกลไกที่สลับซับซ้อน ที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง การเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตจากเซลล์มะเร็งเพียงเซลล์เดียว กลายเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา ต่อมา จะมีการลุกลามเฉพาะที่ และเกิดการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นในที่สุด
ปัจจุบัน พอจะสรุปขบวนการของการเกิดมะเร็งเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ 1. ขบวนการเริ่มต้นโดยมีตัวกระตุ้น (Initiator) เป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำความเสียหาย หรือทำลายยีน (Gene) ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ตามปกติ เกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) ซึ่งใช้เวลาหลายปี 2. ตัวกระตุ้นเสริม (Promoter) เมื่อเซลล์ปกติที่เกิดการกลายพันธุ์ได้รับสิ่งกระตุ้นเสริมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดการเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งขึ้น
โดย น.ส.ณิชาภัทร อิสระกุลฤทธา
จากคุณ |
:
(-_-")
|
เขียนเมื่อ |
:
วันเถลิงศก 53 10:02:39
|
|
|
|
 |