Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิธี "ขจัดทุกข์" อาจเริ่มต้นจาก "ขจัดสุข" ใน Zero summation ภาค 2 สมมุติฐานที่น่าคิด  

“ Zero Summation” ภาค 2

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเขียนเรื่องนี้ และก็อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ผมยังคิดว่าต้องเขียนเรื่องนี้อีกหลายครั้งทีเดียว (ถ้าไม่ตายเสียก่อน)

ผมขอเข้าเรื่องเลยว่า ในสายตาของผมมี Zero Summation 2 ประเภท กล่าวคือ

ประเภทแรก  เรียกว่า Sum โดยสมบูรณ์ กล่าวคือไม่ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ผลรวมก็ไม่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น คนตาบอดกลับมีหูที่ดีมาก หรือคนโง่อย่างหนึ่งกลับฉลาดอีกอย่างหนึ่งทดแทนในคนเดียวกัน หรือเป็นคนร่ำรวยแต่กลับมีปัญหาบางอย่าง หรือกระทั่งโดยหลักการถ้าเราเป็นสถาปนิก ถ้าย้อนอดีตได้ไปเป็นหมอ ก็จะให้ผลรวมดีแย่ในที่สุดรวมพอ ๆ กัน  กฏนี้คล้าย ๆ กับกฏได้อย่างเสียอย่าง

แต่กฏนี้ พิสูจน์ยังไม่ได้และเป็นที่ถกเถียงจนผมคิดว่า  ไม่ควรจะนำมากล่าวถึงในที่นี้

ประเภทที่ 2  ประเภทนี้ต่างหากที่ผมมั่นใจว่าพิสูจน์ได้ง่ายกว่า ประจักษ์ได้ง่ายกว่า ผมจึงกำลังกล่าวถึง Zero Summation แบบนี้และอีกนั่นแหละ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะแย้งผมก็พร้อมจะถกด้วย เพราะผมก็พยายามหารูรั่วปรับปรุงเหมือนกัน

Zero Summation ในความหมายประเภทที่ 2 นี้ หมายถึง ผลรวมของอารมณ์ด้านบวกกับด้านลบ  ในที่สุดจะพยายามวิ่งกลับมาที่ศูนย์ และหมายถึงเมื่อเกิดอารมณ์บวก ก็จะค้างติดหนี้ด้านลบ (เมื่อเกิดด้านลบก็จะค้างติดหนี้ด้านบวกเช่นกัน) โดยเราอาจสร้าง Model ว่าเป็นมิเตอร์ที่สัมพัทธ์ตลอดเวลา ทำได้ทั้งสมมุติว่า  ตอนแรกเข็มอารมณ์อยู่ที่ “ศูนย์” ต่อมามีอารมณ์ด้านบวกเข้ามา เข็มมิเตอร์ชี้ด้านบวกก็ให้สังเกตว่า จะเกิดติดหนี้ว่าภายหน้าจะมีการตีมิเตอร์กลับมาที่ด้าน “ลบ” ในขนาดเดียวกัน  เช่น มีอารมณ์บวก 3 อยู่พอวันข้างหน้าก็ต้องตีกลับมาที่ลบ 3 สักวัน (ในเรื่องรวมเดียวกันอีกด้วย)

บางที Model นี้อาจใช้วิธีว่าเมื่อเข็มมิเตอร์ตีบวกอยู่ที่ “X” การที่เข็มมิเตอร์เริ่มตีกลับบวกน้อยลง ก็คือว่าเริ่มมีอารมณ์ติดลบคืน จากการสัมพัทธ์ก็ได้ แต่ข้อนี้ยังเป็นที่ถกเถียงว่า ความเคยชินทำให้เข็มมิเตอร์ทางอารมณ์ย้อนมาทางด้านบวกน้อยลง ยังถือว่าไม่ใช่ความทุกข์ ผมจะขอนำไปคิดให้ได้บทสรุปที่ดีขึ้น

** อย่างไรก็ตาม ผมกำลังกล่าวถึงเรื่องสำคัญว่า เมื่อไรที่เรารับความสุข (หรืออารมณ์บวก) เข้ามาโดยหลักการแล้ว เราก็จะติดหนี้อารมณ์ลบในปริมาณเดียวกันอยู่  เพียงแต่รอสถานการณ์ที่อารมณ์ลบจะเกิดเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น เมื่อไรที่เราเกิดความรัก เราก็คิดว่าเป็นสิ่งดี มีความวิเศษ มีความสุขแบบแปลก ๆ แบบเลิศเลอ  แต่เราต้องแลกกับความคิดถึง, ความทรมานจากการคิดถึง, จากความหึงหวง จากความระแวง จากการอกหัก หรืออื่น ๆ อีกมาก  ซึ่งคาดว่าความทุกข์ในผลรวมก็คงพอ ๆ กับความสุขที่ได้รับ

บางคนอาจเถียงว่า “พี่นี้มีแต่ให้” หรือ “พ่อนี้มีแต่ให้ลูก” ย่อมไม่เป็นทุกข์ ผมก็ยังแย้งว่า ถ้ามีแต่ให้จริง ๆ โดยไม่มีความสุข ความพอใจรับเข้ามาเลย โดยสมมุติฐานนี้จึงจะไม่โดนอารมณ์ลบมาทวงหนี้ แต่ถ้ารับอารมณ์บวกเข้ามาไม่ว่ามากหรือน้อย ก็ต้องทำให้ติดหนี้อารมณ์ลบอยู่ดี

ซึ่งหลังจากคิดเรื่องนี้มาได้สัก 3-4 ปี ก็พบว่า  บังเอิญใช้อธิบายเรื่องราวคำสอนในพุทธศาสนาได้อย่างสอดคล้อง เพราะหลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องการไม่รับ “นันทิ” (ถ้าสะกดผิดขออภัยด้วย) หรือความพอใจใด ๆ หรือเกี่ยวกับสติปัฎฐาน 4 ที่สังเกตว่าไม่เพียงแต่ให้เพิกเฉยไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์ลบเท่านั้น แต่ยังไม่ให้ถลำเข้าไปในอารมณ์บวกอีกด้วย

ผมคิดเอาเองว่า เราเหมือนโดนหลอกมาตลอดชีวิต ที่วิ่งหาโน่นหานี่เพื่อสนองอารมณ์ของเรา ทั้งที่ผลรวมก็ยังเป็น “ศูนย์” ถ้าถามว่าทำไม เราต้องวิ่งสนองอารมณ์ ทั้งที่ผลรวมอาจเป็น “ศูนย์” คำตอบ คงต้องไปอ่านในหนังสือ คู่มือที่แจก เรื่อง ฝึกจิตสู่เทคนิเคิล ในหัวข้อ “โปรแกรมมนุษย์” โดยขอกล่าวคร่าวๆ ในที่นี้ว่า เพราะโปรแกรมทำใว้ให้เราเกิดกิจกรรมดำรงชีวิต และ สืบพันธุ์ เท่านั้นเอง แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ เราอาจมองเห็นการหลอกให้เรา (ทุกคน) วนเวียนสร้างกิจกรรม ทั้งที่พระเจ้าอาจสร้างผลรวมของอารมณ์ให้เป็นศูนย์

ถึงผมจะคิดอย่างนี้  ผมก็ไม่ใช่ว่าตัวเองจะเลิกมีอารมณ์ได้ในทันที  แต่ด้วยความรู้ มันอาจค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเรา เพราะผลงานของเรามาจากการกระทำ , การกระทำมาจากความคิด ถ้าความคิดเปลี่ยนในระยะยาว การกระทำก็จะเปลี่ยนเช่นกัน

ดังนั้นสำหรับผู้ที่ทนความทุกข์ทรมานในจิตใจไม่ได้มาก ก็ไม่ควร “ถลำลึก” (In) ในอารมณ์บวกมากมายจนเกินไป เพราะเวลาเจ็บจะทนไม่ได้ ส่วนผู้ที่คิดว่า ไม่อยากจะเป็นก้อนหิน เพราะแค่กลัวด้านลบก็เลยไม่รับบวก ก็ขอให้อย่าลืมเวลาเจ็บว่าต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อดทนต่อความทุกข์เพราะกู้เงินมาแล้วต้องใช้หนี้ เมื่อสุขมาแล้วต้องใช้คืน

“และถ้าใครขี้เกียจต้องมารอรับทุกข์ ก็พยายามอย่ารับอารมณ์บวกเข้ามา” (คุณเชื่อหรือไม่?)

แก้ไขเมื่อ 18 ส.ค. 53 19:27:21

จากคุณ : Lowhonor
เขียนเมื่อ : วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 53 19:08:46




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com