โนเบลฟิสิกส์ให้คู่ศิษย์-อาจารย์ ผู้พัฒนา กราฟีน วัสดุบางสุดในโลก
|
 |
โนเบลฟิสิกส์ 2010 ยกให้ 2 นักฟิสิกส์คู่ศิษย์อาจารย์ผู้พัฒนา กราฟีน แผ่นคาร์บอนบางแค่ 1 อะตอม แต่มีคุณสมบัติพิเศษกลายเป็นสุดยอดวัสดุทั้งแข็งแรงและบางเบา แถมนำไฟฟ้าได้ ประยุกต์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจแทนที่ทรานซิสเตอร์ซิลิกอนในอนาคต และนำไปสู่คอมพิวเตอร์ทรงประสิทธิภาพ ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศให้ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2010 คือ อังเดร ไกม์ (Andre Geim) และ คอนสแตนติน โนโวเซลอฟ (Konstantin Novoselov) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) สหราชอาณาจักร ในฐานะผู้พัฒนาแผ่นกราฟีน 2 มิติ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. เวลา 16.45 น. ตามเวลาประเทศไทย สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่า ทั้ง 2 คนได้ทำให้เห็นว่าคาร์บอนจะอยู่ในรูปบางที่สุดได้แค่ไหน โดยพวกเขาสามารถทำให้แผ่นคาร์บอนบางได้เพียง 1 อะตอม ซึ่งสร้างคุณสมบัติพิเศษ ที่เป็นต้นกำเนิดของโลกแห่งฟิสิกส์ควอนตัม ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานคำแถลงของคณะกรรรมการฯ เพิ่มเติมว่า กราฟีนนั้นเป็นรูปแบบของคาร์บอนที่สามารถนำไฟฟ้าได้ และกราฟีนยังเป็นการจัดเรียงอะตอมที่สมบูรณ์อีกด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์รางวัลโนเบลระบุว่า กราฟีนคือการเรียงตัวรูปแบบหนึ่งของคาร์บอน และเป็นตัวอย่างหนึ่งของวัสดุที่มีความสมบูรณ์แบบ คือ มีความบางที่สุดเพียง 1 อะตอม และยังแข็งแรงที่สุดอีกด้วย อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดีพอๆ กับทองแดง และยังนำความร้อนได้ดีกว่าวัสดุใดๆ ที่เรารู้จัก นอกจากนี้ ยังมีความโปร่งใสแต่ทึบ จนแม้ฮีเลียมซึ่งเป็นอะตอมของก๊าซที่เล็กที่สุดก็ไม่สามารถผ่านได้ และครั้งนี้คาร์บอนซึ่งเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่เราอีกครั้ง ไกม์และโนโวเซลอฟได้แยกกราฟีนออกจากกราไฟต์ ซึ่งก็คือส่วนประกอบของไส้ดินสอ แล้วใช้เทปกาวใสจัดการกับผลึกคาร์บอนให้ได้ความหนาเพียง 1 อะตอม นับวัสดุที่บางที่สุดในโลก แต่หลายคนไม่เชื่อว่าวัสดุที่มีผลึกบางแค่นั้นจะเสถียรอยู่ได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้นักฟิสิกส์สามารถศึกษาวัสดุ 2 มิติประเภทใหม่ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้วยแผ่นกราฟีนนี้ได้ ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย จึงมีการประยุกต์ใช้กราฟีนเพื่อพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เห็นบ้างแล้ว โดยคาดว่าทรานซิสเตอร์จากกราฟีนจะเร็วกว่าทรานซิสเตอร์จากซิลิกอนที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ และจะทำให้ได้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งคุณสมบัติโปร่งแสงและเป็นตัวนำที่ดีทำให้กราฟีนเหมาะที่จะพัฒนาเป็นหน้าจอสัมผัสหรือทัชสกรีน แผงไฟส่องสว่าง หรือแม้กระทั่งเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากนี้ หากผสมพลาสติกกับกราฟีนจะได้ตัวนำไฟฟ้าที่ต้านความร้อนได้และแข็งแรงด้วย ซึ่งความยืดหยุ่นนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นสุดยอดวัสดุที่ทั้งบาง ยืดหยุ่นและเบา โดยในอนาคตสามารถใช้วัสดุใหม่นี้ได้ในการผลิตดาวเทียม เครื่องบินและรถยนต์ ทั้งนี้ ไกม์และโนโวเซลอฟทั้งคู่เป็นชาวรัสเซียโดยกำเนิด ซึ่งไกม์เกิดที่เมืองโซชี อดีตสหภาพโซเวียตในปี 1958 ศึกษาจนได้ปริญญาเอกในปี 1987 จากสถาบันโซลิด สเตท ฟิสิกส์ (Institute of Solid State Physics at the Russian Academy of Sciences.) ก่อนหน้านั้นในปี 1982 ไกม์ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งปริญญาโทวิทยาศาสตร์ จากสถาบันมอสโกว ฟิสิคัล-เทคนิค (Moscow Physical-Technical Institute) จากนั้นไปเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ขณะที่โนโวเซลอฟ เกิดที่นิซไนย์ทากิล ประเทศรัสเซีย ในปี 1974 และได้เข้าศึกษาระดับปริญญาโท ที่สถาบันเดียวกันกับไกม์ (แต่ตามหลัง) ในปี 1997 จากนั้นโนโวเซลอฟได้ศึกษาระดับปริญญาเอก และได้ร่วมงานกับไกม์ที่เนเธอร์แลนด์ ในฐานะลูกศิษย์ในที่ปรึกษา จากนั้นก็ติดตามไกม์มาที่อังกฤษ ทั้งคู่ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน จนกระทั่งปี 2008 พวกเขาก็ได้รับรางวัลยูโรฟิสิกส์ (Europhysics prize) ในฐานะที่ค้นพบและแยกชั้นอะตอมเดี่ยวๆ ของคาร์บอน (สามารถแยกกราฟีนออกจากการ์ไฟต์) ออกมาได้ ซึ่งทำให้เกิดข้ออธิบายว่าคาร์บอนจะสามารถนำไฟฟ้าได้อย่างไร ปัจจุบันไกม์อายุ 51 ปีและมีสถานภาพเป็นพลเมืองดัตซ์ยังคงทำงานร่วมกับโนโวเซลอฟวัย 36 ปี ที่ได้เป็นพลเมืองอังกฤษ-รัสเซีย ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยทั้งคู่จะได้รับรางวัลร่วมกัน 10 ล้านโครน หรือ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การประกาศรางวัลของคณะกรรมการจากราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนครั้งนี้เป็นการประกาศรางวัลโนเบลสาขาที่ 2 ประจำปี 2010 ส่วนสาขาแรกคือการแพทย์ได้ประกาศไปแล้วในวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังเหลืออีก 4 สาขาคือ เคมี, วรรณกรรม, และสันติภาพ ที่จะประกาศวันละสาขาไปจนถึงวันที่ 8 ต.ค. ตามลำดับ จากนั้นจะเปิดท้ายด้วยสาขาเศรษฐศาสตร์ในวันที่ 11 ต.ค ---------- โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 ตุลาคม 2553 19:16 น.
แก้ไขเมื่อ 05 ต.ค. 53 22:57:52
จากคุณ |
:
Mr.Feynman
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ต.ค. 53 22:57:07
|
|
|
|