Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"เซิร์น" ประกาศจับ "ปฏิสสาร" ได้นานพอให้ศึกษาคุณสมบัติ ติดต่อทีมงาน

“เซิร์น” ประกาศผลิตและตรวจจับ “ปฏิสสาร” ได้ ชี้เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้ จะเป็นก้าวสำคัญต่อการเข้าใจในปัญหาพื้นฐานของเอกภพว่า “ปฏิสสาร” และ “สสาร” ต่างกันอย่างไร และนำไปสู่การทดสอบทฤษฎีพื้นฐานทางฟิสิกส์ที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
     
      ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการทดลองอัลฟา (ALPHA) ของเซิร์น (CERN) ซึ่งผลิตและตรวจจับอะตอมของแอนตีไฮโดรเจน (antihydrogen) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานดังกล่าวลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) และเซิร์นนั้นมีห้องปฏิบัติการที่สร้างขึ้นเพื่อศึกษาแอนตีโปรตอนพลังงานต่ำ โดยเฉพาะเพียงแห่งเดียวในโลกและประสบความสำเร็จในงานวิจัยครั้งนี้
     
      ทั้งนี้ ปฏิสสาร (Antimatter) เป็นหนึ่งในปัญหาวิทยาศาสตร์ลึกลับที่สุด ซึ่งสสารและปฏิสสารนั้นมีประจุต่างกัน และจะทำลายล้างซึ่งกันและกันเมื่อมาพบกัน และตามทฤษฎีระหว่างเกิดระเบิดบิกแบง (Big Bang) ทั้งสสารและปฏิสสารน่าจะถูกผลิตขึ้นในจำนวนเท่าๆ กัน แต่โลกที่เป็นอยู่นั้นสร้างขึ้นจากสสาร และดูคล้ายว่าไม่มีปฏิสสารปรากฏอยู่
     
      เพื่อหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับปฏิสสารนั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยหลายวิธีในการค้นหาคุณสมบัติที่แตกต่างเพียงเล็ก น้อยระหว่างสสารและปฏิสสาร ซึ่งอาจจะชี้ทางสว่างให้แก่พวกเขาได้ และการใช้อะตอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นระบบพื้นฐานที่สุดในทางฟิสิกส์นั้นเป็นอีก 1 ในหลายวิธีเพื่อหาคำตอบ และตรวจสอบไปถึงปฏิสสารของอะตอมไฮโดรเจนด้วย
     
      อะตอมของไฮโดรเจนสร้างขึ้นจากโปรตอน 1 ตัวและ อิเล็กตรอน 1 ตัว ส่วนแอนตีไฮโดรเจนประกอบไปด้วยแอนตีโปรตอน (antiproton) 1 ตัว และโพสิตรอน (positron) 1 ตัว ซึ่งทั้งไฮโดรเจนและแอนตีไฮโดรเจนนั้นประพฤติตัวไปในลักษณะเดียวกัน
     
      สำหรับโครงการศึกษาแอนตีไฮโดรเจนนั้น มีประวัติย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 ซึ่งแอนตีไฮโดรเจน 9 อะตอมแรกถูกสร้างขึ้นที่เซิร์น จากนั้นในปี 2002 ห้องปฏิบัติการอาเธนา (ATHENA) และ อะแทรป (ATRAP) ของเซิร์นได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะผลิตแอนตีไฮโดรเจนในปริมาณมากๆ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราศึกษารายละเอียดได้มากขึ้น และการทดลองจากห้องปฏิบัติการอัลฟานี้ถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุด
     
      ด้านเอพีระบุว่า การทดลองก่อนหน้านี้ของเซิร์นที่ผลิตแอนตีโปรตอนขึ้นได้นั้น ผลิตปฏิสสารที่มีช่วงอายุไม่นานพอที่จะให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาคุณสมบัติของ มันได้ เนื่องจากเมื่อสัมผัสกับสสารซึ่งคู่หักล้าง ปฏิสสารก็หายไป
     
      ในการทดลองล่าสุดนั้น อะตอมแอนตีไฮโดรเจนถูกผลิตขึ้นในห้องสุญญากาศของเซิร์น แต่ปฏิสสารเหล่านี้ไม่ได้อยู่ล้อมรอบด้วยสสารทั่วไป เพราะสสารกับปฏิสสารจะทำลายล้างซึ่งกันเมื่อมาเจอกัน และแอนตีไฮโดรเจนยังมีช่วงชีวิตสั้นมาก แต่สามารถยืดช่วงชีวิตให้ยาวขึ้นโดยใช้สนามแม่เหล็กที่เข้มมากและซับซ้อน เพื่อดักจับแอนตีไฮโดรเจนและป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสสาร
     
      ห้องปฏิบัติการอัลฟาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเก็บอะตอมแอนตี ไฮโดรเจนด้วยวิธีดังกล่าวได้นาน 0.1 วินาที ซึ่งนานพอที่เราจะศึกษาปฏิสสารนี้ได้ โดยในจำนวนแอนตีไฮโดรเจนนับพันที่ผลิตขึ้นได้นั้น ทางห้องปฏิบัติการสามารถตรวจจับแอนตีไฮโดรเจนได้ 38 อะตอม ในเวลาที่นานพอจะศึกษารายละเอียดได้มาก
     
      “สำหรับเหตุผลที่ยังไม่มีใครเข้าใจว่าธรรมชาติขัดขวางปฏิ สสารทำไม ดังนั้น มันจึงทั้งคุ้มค่าและทำให้รู้สึกตื้นตันเล็กๆ ที่ได้มองเข้าไปในเครื่องมือของอัลฟาและได้เห็นว่ามีอะตอมปฏิสสารที่เป็น กลางและเสถียร และสิ่งที่ได้เห็นนี้จุดแรงบันดาลใจให้เราต้องทำงานหนักกว่านี้เพื่อดูว่า ปฏิสสารยังเก็บงำความลับอะไรไว้บ้าง” เจฟฟรีย์ แฮงสต์ (Jeffrey Hangst) จากมหาวิทยาลัยอาร์ฮัส (Aarhus University) เดนมาร์ก และโฆษกจากห้องปฏิบัติการอัลฟา กล่าว
     
      นอกจากอัลฟาแล้วเซิร์นยังมีโครงการอาซาคุซา (ASACUSA) ที่ศึกษาปฏิสสารอีกโครงการหนึ่ง โดยโครงการนี้มีเทคนิคใหม่ที่ใช้ผลิตอะตอมแอนตีไฮโดรเจนที่เรียกว่า “คัสป์แทรป” (Cusp trap) ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นสำหรับผลิตลำปฏิสสาร โดยโครงการนี้มีแผนที่จะพัฒนาเทคนิคดังกล่าวให้ลำปฏิสสารมีความเข้มที่มี ประสิทธิภาพมากพอที่จะคงอยู่ได้นานพอให้ศึกษา
     
      “ด้วยวิธีทดสอบที่แตกต่างกันในการผลิตปฏิสสาร 2 ทางเลือกนี้ ทั้งแอนตีไฮโดรเจนและปฏิสสารไม่อาจที่จะเก็บซ่อนคุณสมบัติของตัวเองให้เล็ด ลอดสายตาเราได้มากนัก เรายังต้องเดินหน้าต่อไป แต่เราก็มีความสุขมากที่ได้เห็นว่าเทคนิคนี้ทำงานได้ดีแค่ไหน” ยาซุโนริ ยามาซากิ (Yasunori Yamazaki) จากศูนย์วิจัยริเกน (RIKEN) ของญี่ปุ่น และสมาชิกโครงการอาซาคุซากล่าว
     
      “สิ่งเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญยิ่งในการศึกษาปฏิสสาร และเป็นส่วนสำคัญของโครงการวิจัยหลักในเซิร์น” รอล์ฟ ฮิวออร์ (Rolf Heuer) ผู้อำนวยการใหญ่ของเซิร์นกล่าว

ที่มา:http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000165785&CommentReferID=17544969&CommentReferNo=8&#Comment

จากคุณ : vars
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 53 09:17:56




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com