 |
เอาข้อมูลงานวิจัยที่เจอมาแบ่งปันนะคะ
-----------------------------------------------------------------------------------------
งานวิจัยซุปไก่สกัดกับการทำงานของสมอง
รศ.ดร.มนัส พงศ์ชัยเดชา
ในโลกยุคดิจิตอล การดำเนินชีวิตของคนเราจำเป็นต้องปรับตัวให้รวดเร็วทันตามกระแส ความคิดต้องเฉียบแหลมฉับไว จึงจะส่งผลให้เราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ จนบางครั้งอาจทำให้คุณละเลยเรื่องความสำคัญ ของการเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยที่คุณไม่รู้ตัว
อาหารถือเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงที่คุณรู้สึกว่าถูกภาวะการณ์ต่างๆ กดดันมากกว่าปกติ ทั้งจากการทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังนั้นร่างกายจึงมีความต้องการสารอาหารหลายๆ ชนิดมากขึ้น เช่น สารแอนติออกซิแดนท์ (วิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน) วิตามินบี แมกนีเซียมและสังกะสี รวมทั้งโปรตีน การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานผักสด ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว เนื้อไก่ เนื้อปลา ฯลฯ ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จะสามารถรับมือกับความเหนื่อยล้าได้
ในบรรดาอาหารหลัก 5 หมู่ อาหารโปรตีนโดยเฉพาะกรดอะมิโนที่เป็นหน่วยย่อยของอาหารโปรตีน มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระดับของสารที่ทำหน้าที่สื่อสารในสมอง (neurotransmitters) ที่นอกเหนือจากหน้าที่เสริมสร้างซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกปลดปล่อยออกมามากในยามที่ร่างกายอยู่ในภาวะกดดัน ซุปไก่สกัดก็นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนบางชนิด ที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สนับสนุนถึงความสามารถในการช่วยเพิ่มสมาธิและความจำ
ซุปไก่สกัด อาหารเสริมสุขภาพที่มีมากว่าพันปี โดยชาวจีนโบราณได้นำซุปไก่สกัดมาใช้บำรุงร่างกายให้มีกำลังวังชา ช่วยฟื้นฟูสุขภาพยามเจ็บป่วย และด้วยความเชื่อในผลของซุปไก่สกัด ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีการศึกษาวิจัยถึงผลของซุปไก่สกัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลที่มีต่อความเครียดและ การเรียนรู้ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัยสาขาต่างๆ จากหลายประเทศ
โดยในปี 1996 Yang และคณะ ที่ได้ศึกษาถึงผลของซุปไก่สกัดในการป้องกันความเสียหาย ของขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสพบว่า ซุปไก่สกัดมีผลในการเข้าไปแก้ไขความผิดปกต ิของการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ซึ่งหมายถึงการป้องกันภาวะการทำลายร่างกาย ที่เกิดจากความเครียดนั่นเอง รวมทั้งยังมีการศึกษาของ Nagai และคณะ ในเรื่องของซุปไก่สกัดต่อความเหนื่อยล้าของสมอง โดยการทดลองกับนักศึกษาชายที่ไม่เคยดื่มซุปไก่สกัดมาก่อน โดยให้กลุ่มหนึ่งดื่มซุปไก่สกัด และอีกกลุ่มหนึ่งดื่มซุปไก่หลอกทุกเช้าติดต่อกัน 7 วัน แล้วให้สองกลุ่มทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์และการจดจำในระยะสั้น พบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดมีประสิทธิภาพในการใช้สมองเพิ่มขึ้น มีความกระปรี้กระเปร่าและอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานน้อยลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มซุปไก่หลอก และการประชุมวิชาการประจำ 2001 ของสมาคมนักโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกา มีรายงานการวิจัยว่า ซุปไก่สกัดเป็นอาหารเสริมที่มีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยลดความเครียด เพิ่มสมาธิ โดยการศึกษาในนักศึกษาจำนวน 50 คน ที่เป็นอาสาสมัครดื่มซุปไก่สกัดและซุปหลอก จากนั้นทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมองด้วยวิธีที่เรียกว่า Electroencephalogram (EEG) Topographic Brain Mapping พบว่า อาสาสมัครในกลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดมีคลื่นอัลฟาเพิ่มขึ้น ซึ่งคลื่นอัลฟานี้เป็นคลื่นที่แสดงถึงความมีสมาธิและ ความรู้สึกสงบของจิตใจเพิ่มขึ้น
ต่อมาในปี 2003 ศ.นพ.Azhar และคณะ ได้ทำการวิจัยแบบ Double blind controlled study โดยคัดอาสาสมัครเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ที่ลงเรียนในแผนกจิตเวช มหาวิทยาลัย Putra Malaysia (USM) ที่มีสุขภาพดี แต่มีความวิตกกังวลสูง จำนวน 164 คน โดยอาสาสมัครทุกคนได้รับการทดสอบในการทำทดสอบต่างๆ (GHQ, SF36, Digit span, Construction tests ทดสอบความจำ 3 นาที ทดสอบความเข้าใจและทดสอบปัญหาทางคณิตศาสตร์) โดยทำการทดสอบทั้งก่อนดื่มซุปไก่สกัดและหลังจากดื่มซุปไก่สกัดทุกเช้า เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า หลังดื่มซุปไก่สกัดอาสาสมัครทำคะแนนดีขึ้นทุกประเภท
จากผลการศึกษาวิจัยนี้ ศ.นพ.Azhar ชี้ให้เห็นว่า ผลการวิจัยของเขาสนับสนุนผลวิจัยที่นักวิจัยท่านอื่นเคยศึกษามาก่อน ในด้านการเพิ่มการเรียนรู้ โดยที่ซุปไก่สกัดอาจมีผลเพิ่มระบบการทำงานของเซโรโทนิน ทำให้ลดความวิตกกังวล เพิ่มความตื่นตัวและเพิ่มสมาธิในการทดสอบ มีผลทำให้ข้อสอบผิดน้อยลง จากการศึกษาค้นคว้าในหลากหลายลักษณะของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มต่างๆ นี้ จึงทำให้ซุปไก่สกัดเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ให้คุณค่าต่อร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตามการที่จะมีสุขภาพดีได้นั้นจะต้องหมั่นดูแลทั้งด้านโภชนาการ การพักผ่อนอย่างพอเพียง และการมีจิตใจที่แจ่มใสด้วย
เอกสารอ้างอิง
Nagai, H., Harada, M., Nakayawa, M., et al. (1996) Chicken extract on the recovery from fatigue caused by mental workload, Appl Human Sci, 1996 ; 15 (6) : 281 286. Yang, Z.B., Harada, M., Higuchi, N., et al. (1996) Effect of chicken extract on the disorder of metabolic functions in mice caused by restrain stress. The 5th Intenational Symposium on Clinical Nutrition : Training Course in Clinical Nutrition. Bangkok: 28 - 34. Food & Nutrition Conference & Exhibition (2001), Effects of the essence of chicken on subjective moods, brain electrical and serum cortisol. American Dietitian Association, October 20-23, St. Louis, USA. Azhar, M.Z. and Syed, M. (2003) Effect of Taking Chicken Essence on Stress and Cognition of Human Volunteers, Mal J Nut; 9 (1): 19-29. ที่มาข้อมูล : คอลัมน์ห่วงใยสุขภาพ ขวัญเรือน ฉบับปักษ์หลัง ต.ค.2550
จากคุณ |
:
พระจันทร์พันดวง
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ธ.ค. 53 13:12:27
|
|
|
|
 |