Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ฟื้นรถไฟหาดใหญ่-สงขลา ติดต่อทีมงาน

ฟื้นรถไฟหาดใหญ่-สงขลา 
'ไพร' ชี้แก้น้ำท่วม-จราจร/63 ชุมชน ถอย 10 ม. 
นสพ.โฟกัสภาคใต้ ปีที่ 11 (2) ฉบับที่ 677 (86) 29 ก.พ.- 4 ก.พ. 54 

การรถไฟฯ เดินหน้าโครงการรถไฟรางคู่ทั่วใต้ นัดเคลียร์ชาวชุมชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และสงขลา กรณีสัญญาเช่าและการบุกรุก แกนนำชุมชนยอมถอยฝั่งละ 5 เมตร เพื่อที่อยู่ใหม่และความเจริญ 'ไพร' เล็งแผนรองรับแก้น้ำท่วมและจราจร ด้านรองนายกฯ นครสงขลา ระบุยากที่จะใช้ทางรถไฟเก่า เชื่อชาวบ้านยังไม่ยอมย้ายออก 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนชุมชนที่ดินรถไฟกับ 3 องค์กร คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชนหรือ พอช.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสหพันธ์องค์กรชุมชนพัฒนาคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาชุมชนที่ดินรถไฟทั่วประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย 

เส้นทางรถไฟร้างสายหาดใหญ่-สงขลา ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ซึ่งได้ยกเลิกเดินรถเมื่อปี 2521 ทำให้มีผู้บุกรุกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันถึงขนาดมีการสร้างที่อยู่อาศัยคร่อมราง จนไม่สามารถเหลือสภาพความเป็นทางรถไฟไว้ให้เห็นอีก 

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม มีแผนที่รื้อฟื้นเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาอีกครั้งตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลา ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และจากการศึกษาพบว่า ระบบรถไฟชานเมืองที่วิ่งบนทางรถไฟเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด อันส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยที่ดินรถไฟทั้ง 63 ชุมชนตลอดเส้นทาง 

โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2554 นายอุดร ขันชะลี ผู้อำนวยการศูนย์ประจำการ การรถไฟได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินการรถไฟชุมชนกุโบว์ อ.เมืองสงขลา และชุมชนทุ่งเสา อ.หาดใหญ่เพื่อชี้แจงถึงแนวเขตที่ชุมชนต้องคืนให้กับการรถไฟ เพื่อขยายเส้นทางรองรับโครงการ รถไฟรางคู่สายหาดใหญ่-สงขลา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ 

นายอุดร กล่าวว่า แต่ละชุมชนให้เข้าใจว่ามันจะเกิดอะไรและต้องทำอย่างไร ซึ่งพบว่าจาก 63 ชุมชนขึ้นอยู่กับเครือข่ายสลัม 4 ภาค 12 ชุมชน ส่วนที่เหลือจะขึ้นกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) โดยทั้ง 2 องค์กร จะเป็นผู้เช่าที่ของการรถไฟแทนชุมชน อย่างการลงพื้นที่ อ.เมืองสงขลา มีการเสนอยื่นเช่ามา 12 ชุมชน ซึ่งเมื่อตรวจสอบบัญชีก็พบว่า ซ้ำกับที่ สอช. ได้ยื่นเช่าไว้ก่อนหน้านี้ ทางเราก็เลยเชิญผู้แทนชุมชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาถามความสมัครใจ ว่าจะให้ทาง สอช. เป็นผู้ยื่นเช่าหรือจะให้ทางเทศบาลเป็นผู้ยื่นเช่า โดยข้อสรุปที่ อ.เมืองสงขลา ให้ สอช.เป็นผู้ทำการเช่าแทน

สำหรับพื้นที่ อ.หาดใหญ่ เดิมนายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่เสนอขอเช่าไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนว่า ถ้าหากจะเช่าที่ริมทางรถไฟทั้งหมดในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ให้ชุมชนจัดรูปแบบของโครงการในชุมชนให้กับทางรถไฟดูว่าจะใช้พื้นที่ส่วนไหนอย่างไรใหม่ เพราะเมื่อครั้งที่นายไพรเสนอไปนั้นยังไม่มีโครงการรถไฟรางคู่ 

"วันนี้ผมเรียนท่านประธานที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีฯ ไปว่า ให้เรียนนายกไพรไปด้วยว่าตอนนี้มันรถไฟรางคู่แล้วนะ ถ้าเกิดว่าจะขอพื้นที่ของการรถไฟก็ให้เร่งรัดทำแผนมา เราจะได้คุยกันว่าพื้นที่ตรงไหนที่เราจะให้ได้" นายอุดรกล่าว และว่า ระยะทางโครงการรถไฟรางคู่หาดใหญ่ สงขลา ตามแผนงานมันเป็นการรื้อฟื้นทางรถไฟขึ้นมาใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่า จะให้เป็นรางรถไฟหรือถนนรถยนต์ แต่ว่าใช้พื้นที่ของการรถไฟเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเวนคืนที่ของชาวบ้าน 

นายอุดร กล่าวต่อว่า เวลานี้การบุกรุกเกือบจะเต็มพื้นที่ไปแล้ว แต่ที่เราจัดพื้นที่ให้ จะมีมาตรฐานการจัดพื้นที่ เช่น แต่ละครัวเรือนไม่เกิน 32 ตารางเมตร และก็จะมีพื้นที่สาธารณูปโภค อีกทั้งหากซึ่งหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ ชาวชุมชนกับ สอช. เครือข่ายสลัม 4 ภาค และที่ชุมชนสังกัดจะต้องทำแผนผังที่จะขอเช่าร่วมกัน และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของการรถไฟ ฝ่ายบำรุงทางของการรถไฟไปทำการตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ขอเช่าดังกล่าวกีดขวางการเดินรถในอนาคตหรือไม่ อย่างไร หลังจากนั้นจึงจะรู้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีเท่าไร 

ซึ่งโดยปกติแล้ว เขตทางรถไฟวัดจากศูนย์กลางรางแล้ว จะมีพื้นที่ข้างละ 40 ขณะนี้ผมให้คำตอบไม่ได้ว่าพื้นที่บุกรุกมีกี่ไร่แน่ ส่วนการวัดพื้นที่ให้เช่า เรานับจากศูนย์กลางของรางไป 20 เมตร ก่อนจะให้เช่าในเฉพาะบริเวณพื้นที่ 20 เมตรหลัง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการบุกรุกเข้ามามาก แต่ก็อนุโลมให้ 

เมื่อสำนักนโยบายและแผนขนส่งของกระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษาร่วมกันว่า จะทำทางเชื่อมเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลาขึ้นมาใหม่อีกเส้นทางหนึ่งโดยใช้ทางรถไฟเดิม ปัญหาจึงเกิดกับผู้ที่บุกรุก แต่ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการก็ได้มีการดำเนินการมาตลอด ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆ ที่บุกรุกก็เข้าใจแล้ว และยอดหลีกออกมาวัดจากกึ่งกลางรางข้างละ 5 เมตร ชาวบ้านเข้าใจและไม่ขัดขวางอะไร เพราะเรามีมาตรฐานในการจัดการ ไม่ว่าเป็นการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจต่าง ๆ หรือกับคนจนที่เช่าเพื่อที่อยู่อาศัย 

สำหรับธุรกิจบนที่ดินรถไฟที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ บางแห่งก็ได้ทำสัญญา บางแห่งก็บุกรุกเข้ามา แต่ทุกสัญญาจะมีอยู่ข้อหนึ่งระบุว่า หากการรถไฟต้องการใช้พื้นที่คืน ให้แจ้งไปภายใน 30 วัน ผู้ประกอบการจะต้องคืนพื้นที่ให้กับการรถไฟ ลักษณะเดียวกันในส่วนของชาวบ้านที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่า เราก็ต้องตกลงกันก่อน เพื่อไม่ให้เขาเสียหาย คุณจะได้ไม่ต้องไปรื้อทีหลัง 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาของ สนข. แต่ในแผนพัฒนาจะเริ่มในระยะแรกที่จังหวัดหนองคาย คู่รถไฟของประเทศจีนจะมาทางประเทศลาวและเข้ามาทางจังหวัดหนองคายและยังมีรถไฟของประเทศจีนจากจังหวัดหนองคายลงไปประเทศมาเลเซีย ลงมาทางใต้อีกหนึ่งเส้นทาง 

ส่วนการแก้ปัญหากับผู้บุกรุกที่ไม่ได้ขึ้นกับชุมชน นายอุดรกล่าวว่า ปกติแล้วการเข้าใช้ที่ของการรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาตตามระเบียบของการรถไฟ ก็ต้องมีการฟ้องร้องขับไล่ออกไป แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดว่าชาวบ้านต้องการที่จะใช้เช่าที่ของการรถไฟ ก็ให้ยื่นหนังสือขอเช่าได้ที่ท้องที่ได้เลย อาจจะยื่นกับทางฝ่ายการเดินรถ หรือฝ่ายบำรุงทางที่หาดใหญ่ แล้วเขาก็จะพิจารณาว่า พื้นที่ที่ขอเช่าถ้ามันไม่กีดขวางการเดินรถ และอยู่ในอำนาจอนุมัติของใครก็จะให้เช่าไปชั่วคราวก่อน 

กรณีที่มีการโก่งราคาค่าเช่าที่ดินรถไฟ ซึ่งปกติตารางเมตรละ 20 บาทต่อปีนั้น นายอุดรกล่าวว่า เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะให้ พอช. เขาไปจัดการแล้ว แต่เราสามารถตรวจสอบ พอช. ได้ว่า เวลาที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นแล้ว ถ้าคุณไม่ไปจัดการให้เรียบร้อย เราก็ขอยกเลิกสัญญา ซึ่งในปัจจุบันนี้การตรวจสอบนี้แทบจะไม่ต้องทำอย่างไรเลย เพราะถ้าเกิดมีคนทำผิดเมื่อไร ก็จะมีคนร้องเรียนมาที่เราได้ทันที 

ด้านนางปรัชญา หนูคง หัวหน้าชุมชนที่ดินรถไฟเขารูปช้าง 2 อ.เมือง จ.สงขลา กล่าวว่า ทางชุมชนยินดีที่จะดำเนินการตามระเบียบของรถไฟ และก็เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะเมื่อมีถนนเพิ่มก็จะสะดวกมากขึ้นหรือเป็นรถไฟรางคู่ก็ดีเพราะจะนำความเจริญมาสู่ชุมชน 

นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่หรือถนน ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้แก้ปัญหาจราจรในตัวเมืองหาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในกระบวนการขนส่ง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ อย่าให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ของการรถไฟ และถ้าทางชุมชนจะให้เทศบาลฯ ดำเนินการเป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าเราก็ยินดี เพราะต่อไปทางเทศบาลก็จะสามารถดูแลเรื่องสาธารณูปโภคของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รถไฟได้ และที่สำคัญจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ได้ 

ด้านนายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า ณ วันนี้ เส้นทางรถไฟเดิมมันเต็มไปด้วยผู้บุกรุก ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ 

"ผมมองว่าเส้นทางเลียบทะเลสาบสงขลาน่าจะดีกว่า โดยเข้ามาถึงเขตเทศบาลบริเวณท่าเทียบเรือประมงใหม่ อาจจะตั้งเป็นสถานี ซึ่งทางเทศบาลก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเส้นทางเดิมน่าจะเป็นไปไม่ได้ ทางที่ดีมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่สามารถช่วยให้ประชาชนที่อยู่ที่ดินรถไฟได้มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นกว่าเดิม" นายสมชายกล่าว

จากคุณ : หม่องวิน มอไซ
เขียนเมื่อ : วันนักประดิษฐ์ 54 08:22:29




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com