 |
เอามาจากหนังสือ "โครงกระดูกในตู้" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขียนในปี พ.ศ. 2514 นะครับ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยสร้างพระปรางค์ฐานไม้สิบสองอีกองค์หนึ่งที่วัดสระเกศนอกกำแพงพระนคร ทรงกะว่าจะให้ใหญ่โตและสูงยิ่งกว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ ฐานนั้นด้านหนึ่งยาว ๕๐ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คิดเป็นเนื้อที่แล้วก็ตก ๒,๕๐๐ ตารางวา หรือ ๖ ไร่เศษ หากสร้างสำเร็จก็จะเป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่ที่สุดในโลก การก่อสร้างนั้นขุดดินทั้ง ๒,๕๐๐ ตารางวา ลึกลงไปจนถึงเลน แล้วเอาหลักแพทั้งต้นตอกเป็นเข็ม เอาไม้ซุงปูเป็นตารางแล้วเอาศิลาแลงก่อเป็นกำแพงรอบขึ้นมาจนเกือบเสมอดิน แล้วจึงก่อต่อขึ้นมาเหนือดินด้วยอิฐ ในช่องว่างในองค์พระปรางค์นั้นให้ซื้อหินซึ่งราษฏรนำขายใส่จนเต็ม แล้วใส่เติมเรื่อยขึ้นไป พอก่ออิฐขึ้นไปจนถึงฐานปทักษิณชั้นที่สอง น้ำหนักหินภายในก็มากขึ้นจนอิฐที่ก่อไว้รอบั้นทานน้ำหนักไม่ได้ แตกร้าวไปรอบองค์พระปรางค์ ฐานล่างซึ่งก่อด้วยแลงก็ทรุดลงไปถึง ๙ วาเพราะน้ำหนักหิน และระเบิดออกด้วย เมื่อเห็นการเหลือแก้ ก็โปรดฯ ให้เลิกก่อสร้างเสีย
ฐานปทักษิณเพียงชั้นที่สองที่เหลือพังอยู่นั้นคือองค์ภูเขาทองที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าหากสร้างสูงขึ้นไปจนถึงยอดปรางค์แล้วก็จะสูงขนาดที่ตึกระฟ้าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ยังไม่สามารถเทียบเทียมได้ แต่เมื่อเลิกสร้างแล้วพระปรางค์ที่สร้างไม่เสร็จนั้นก็เริ่มจะทลายลงอีกในเวลาต่อมาและมีต้นไม้ขึ้นเต็ม แลดูเหมือนภูเขาจริงๆ ลูกย่อมๆ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒนา (แพ) ผู้เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย และเป็นตาของผู้เขียนเรื่องนี้ไปตกแต่งให้งดงาม และสร้างสถูปองค์เล็กขึ้นไว้บนยอดเป็นรูปบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ชาวกรุงเทพฯ รู้จักกันทุกวันนี้
แก้ไขเมื่อ 05 เม.ย. 54 23:21:35
จากคุณ |
:
เกียรตินำ
|
เขียนเมื่อ |
:
5 เม.ย. 54 22:35:38
|
|
|
|
 |