Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทำไมถึงควรใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ (ในความเห็นส่วนตัว){แตกประเด็นจาก X10922403} ติดต่อทีมงาน

ทำไมถึงควรใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ (ในความเห็นส่วนตัว)

ถ้าลองสังเกตดูในครั้งที่เริ่มก่อสร้างสนามสุวรรณภูมิ ก็บอกว่ารองรับได้ 45 ล้านคน ซึ่งในตอนนั้นถือว่ามากอยู่ เมื่อเทียบกับสนามบินดอนเมืองที่รองรับได้ 38 ล้านคน แต่พอเวลาผ่านไป ความสามารถที่รองรับได้นั้นมันไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากความเติบโตทางการบินที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้วันนี้สนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถรองรับความต้องการเดินทางได้อีก ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาเร่งด่วน ภายในอาคารผู้โดยสารจะแออัดไปด้วยผู้คน ทั้งคนเดินทาง ญาติมิตรสหายที่มารับมาส่ง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ต่างๆ รวมถึงการต้องบินวนเพื่อรอลง หรือการต่อคิวเพื่อขึ้นของเครื่องบิน เป็นต้น

แม้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีแผนขยายแบ่งเป็นเพสต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็อาจจะมั่นใจได้ว่า เมื่อขยายเฟสนั้นๆแล้วจะสามารถรองรับได้นานเท่าไหร่ และการขยายนั้นจะเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการวางแผนเพื่อรองรับอนาคตกันแน่!

การสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ของสนามบินสุวรรณภูมินั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะทำให้อาคารผู้โดยสารหลักสามารถรองรับและใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ ตามแบบที่มันควรจะเป็น แต่การสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศนั้นก็ไม่ใช่ การแก้ปัญหาเรื่องความจุของสนามบินสุวรรณภูมิได้มากเท่าไหร่ เพราะกว่าจะสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเสร็จก็อีกหลายปี ซึ่งความต้องการก็ย่อมเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน เลยเป็นที่มาของประโยคในย่อหน้าด้านบนว่า "การขยายนั้นจะเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการวางแผนเพื่อรองรับอนาคตกันแน่!"

เพราะวันนี้เรามองว่าที่จะสร้างเพิ่มนั้นมันรองรับได้แน่ ถูกที่มันรองรับได้ แต่รองรับได้นานเท่าไหร่ล่ะ นี่สิคำถาม การขยายส่วนต่างๆนั้นต้องใช้ระยะเวลาทั้งการออกแบบ การขออนุมัติ การจัดหาแหล่งเงินทุน และการก่อสร้างจนพร้อมใช้งาน ซึ่งระยะเวลาที่ดำเนินการนั้น ความต้องการเดินทางก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตเป็นอย่างมาก

ความต้องการเดินทางภายในประเทศ ณ เวลานี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างที่ทุกคนเข้าใจ คือ มีทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง แต่ในอนาคตตามแผนของทอท. ก็จะให้เหลือเพียงแห่งเดียว นั้นคือที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อถึงเวลานั้น อาคารผู้โดยสารภายในประเทศก็คงรองรับได้ แต่ก็ต้องวางแผนขยายเพื่อให้รองรับความต้องการในอนาคต ซึ่งก็เหมือนกันการใช้ไปขยายไป โดยไม่ได้มองระยะยาวเพื่อให้รองรับความต้องการในอนาคต ซึ่งแนวทางนี้บางคนอาจมองว่าก็ถูกแล้วหนิ ที่ใช้ไปขยายไป แต่โดยส่วนตัวมองว่า เป็นการทำอะไรที่ไม่เผื่อไว้เลย ถ้าทำสอบก็คือสอบไม่ตก แต่ก็ใช่ว่าจะได้คะแนนดี

มองแนวคิดไปแล้ว มามองของจริงบ้างดีกว่า จากข่าวเมื่อปลายเดือนที่แล้ว บอร์ดทอท.มีมติให้ขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส
เฟสแรก ปี 56-59 สร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และรันเวย์ที่ 3
เฟสสอง ปี 60-63 ขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รันเวย์ที่ 4 และอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 2
เฟสสาม ปี 63-67 สร้างรันเวย์ที่ 5 และอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้

อ้างอิง http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1311923384&grpid=00&catid=&subcatid=

งั้นมาดูกันทีละเฟสดีกว่า เฟสแรก อันนี้สมควรทำจริงๆ และมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าดูเฟสสองประกอบไป ก็จะเกิดคำถามว่า ทำไมอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่อยู่ในเฟสหนึ่งนั้น ทำไมเฟสสองถึงต้องขยายมันล่ะ? ทำไมไม่สร้างให้มันเสร็จทีเดียวเลย นี่แหละคือที่มาของคำว่าใช้ไปขยายไป

เฟสหนึ่งกว่าจะเสร็จตามแผนก็ปี 59 แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะทัน เร็วสุดน่าจะปี 60 ตามสไตล์บ้านเรา ปี 60 ก็คือ 6 ปีนับจากวันนี้ การบินจะเติบโตเท่าไหร่ ไม่มีใครบอกได้ ตัวเลขต่างๆที่นำมาคำนวณก็เกิดจากการคาดการณ์ โดยอ้างอิงสถิติเก่าๆ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่ามันคลาดเคลื่อนแน่นอน เพราะความต้องการในการเดินทางไม่ใช่ ต้นไม้ ที่จะโตตามรูปแบบเดิมๆ เหมือนในอดีต ตัวอย่างเช่น ครั้นก่อนมีสายการบินต้นทุนต่ำ การเติบโตการบินในบ้านเรา เป็นไปรูปแบบนึง แต่พอมีสายการบินต้นทุนต่ำ ก็ทำให้รูปแบบการเติบโตผิดแปลกไป และในปัจจุบันก็มีปัจจัยต่างๆที่จะส่งผลให้รูปแบบการเติบโตในอนาคตผิดแปลกไปจากปัจจุบัน เช่นเดียวกับในอดีต

ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ ถือว่าเต็มความจุ และอีก 6 ปี ที่รออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิจะถือว่าล้น เหมือนเช่นดอนเมืองในอดีตที่รอการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อปี 60 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศสร้างเสร็จ ก็จะทำให้สุวรรณภูมิรองรับได้ แต่อีกแปบก็จะเต็มความจุ และก็ต้องรอสร้างเฟสต่อๆไป เพื่อให้สนามบินรองรับได้

แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราใช้อะไรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์และช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับความจุนั้นๆได้นานขึ้น ไม่ใช่ว่าการใช้สนามบินดอนเมืองจะทำให้ไม่ต้องขยายสนามบินสุวรรณภูมิหรอกนะ เพียงแต่ชะลอให้ถึงความจุนั้นๆช้าลง และใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

และถ้าอ่านในเฟสสามดีๆ จะเห็นว่ามีแผนสร้างรันเวย์ที่ 5 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิในปััจจุบันแน่นอน เพราะพื้นที่ในปัจจุบันรองรับได้เพียง 4 รันเวย์เท่านั้น และถ้าจะสร้างจริงก็ต้องมีการเวรคืน วุ่นวาย ยุ่งยาก สร้างปัญหาอีกแน่นอน และถ้าศึกษาดีๆ สนามบินโดยมาก จะมีก็แค่ 4 รันเวย์ หรือ 2 คู่ เพราะมันจะใช้งานรันเวย์ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด รันเวย์สร้างเพิ่มได้ตามต้องการ แต่มีอย่างหนึ่งที่เพิ่มได้แต่มีข้อจำกัดก็คือ แอร์เวย์ หรือถนนในอากาศ ที่ถ้าเพิ่มจนขีดสุดแล้ว มันก็จะได้แค่นั้น ไม่สามารถเพิ่มได้อีก หรือก็คือสร้างรันเวย์เพิ่ม แต่แอร์เวย์ไม่เพิ่มก็ไม่มีประโยชน์

จริงอยู่ว่าสนามบินทั้งสองใกล้กันมาก และมีผลต่อแนวเส้นทางการบินในการเข้าออกสนามบินที่ตัดกันนั้น แต่ถ้าต้องใช้จริงๆก็มีแนวทางของการจัดการจราจรทางอากาศอยู่ โดยการแบ่งระดับความสูง ว่าแนวเส้นทางของสนามบินนั้นๆอยู่ที่แนวความสูงใดบ้าง (คล้ายๆกับการแบ่งลิฟท์ว่าตัวนี้ใช้ชั้นโซนด้านล่างนะ และอีกตัวใช้ชั้นโซนด้านบนนะ)

แนวทางเรื่องเส้นทางบินเข้าออกสนามบินนั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าทาง AEROTHAI มีทางออกแน่นอน และถึงแม้จะปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง แต่ยังไงเส้นทางบินเข้าออกสนามบินดอนเมืองนั้นก็ยังต้องมีอยู่ดี เพราะสนามบินดอนเมืองยังมีการใช้งานในด้านอื่นๆอยู่อีก เช่น โรงซ่อมหลักของการบินไทย เครื่องบินของทอ. เครื่องบินเช่าเหมาลำ และเครื่องส่วนตัว เป็นต้น

ยังไงสนามบินดอนเมืองก็ยังมีการใช้งาน เพียงแต่จะใช้งานในระดับใด หรือรูปแบบไหนบ้าง ก็แค่นั้นเอง

ปัจจุบันดอนเมืองมีการปรับเปลี่ยนการใช้อาคารจากในอดีตคือ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เปลี่ยนเป็นอาคารรองรับเครื่องบินส่วนตัว และย้ายการบริการเที่ยวบินในประเทศมาไว้ที่อาคารผู้โดยสาร 1 แทน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาที่ผ่านมา และการดำเนินการในส่วนต่างๆอีก เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของการใช้งาน

อ้างอิง http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02p0105050554&sectionid=0201&day=2011-05-05

และถ้ามองแผนของ สนข. ดีๆแล้ว จะมีโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินทั้งสองอยู่แล้ว เพียงแต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่สนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่ ถ้าใช้ก็มี ARL เชื่อมแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่รู้จะสร้าง ARL มาเชื่อมทำไม

อ้างอิง http://www.otp.go.th/th/Bkk_mrt/M2_newmap.html

และในการศึกษาของ IATA และ ICAO นั้นคิดว่าน่าจะศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่ ก็คือสนามบินทั้งสอง และระบบการขนส่งที่มีในปัจจุบัน แต่ถ้าในอนาคตเรามีการสร้าง ARL เชื่อมแล้ว ก็น่าจะศึกษาใหม่ ยิ่งในอนาคตจะมีสถานีกลางบางซื่อแล้ว การเชื่อมต่อของทั้งสองสนามบินก็จะเป็นรูปแบบมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการขนส่งระบบอื่นด้วย หรือการบูรณาการณ์ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศเข้าด้วยกัน จะดูเป็นเครือข่ายมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น การเดินทางไปมาทั้งสองสนามบินก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

รูปแบบดอนเมืองในความเห็นส่วนตัวก็คือ

1. เปิดให้มีการบริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันที่ดอนเมืองก็มีเจ้าหน้าตม.และศุลกากรอยู่แล้ว เนื่องจากมีเที่ยวบินส่วนตัว และเที่ยบินเช่าเหมาลำที่เดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศ

2. อย่าบังคับให้สายการบินนั้นสายการบินนี้ต้องมาใช้ที่สนามบินดอนเมือง เพราะแต่ละสายการบินเค้าก็มีนโยบายของตัวเองอยู่แล้ว และการใช้ดอนเมืองก็ไม่ได้แย่ไปกว่าสุวรรณภูมิ ไม่งั้นทำไมนกแอร์และวันทูโกถึงยังใช้สนามบินดอนเมืองล่ะ?

3. สร้าง ARL เชื่อมสองสนามบินตามโครงการที่วางไว้ และถ้าหากไม่เกิดปัญหาใดๆ การก่อสร้าง ARL เชื่อมสองสนามบินก็น่าจะใช้เวลาพอๆกับการสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อถึงเวลานั้น ความสามารถในการรองรับของทั้งสองสนามบินรวมกันก็จะเพียงพอ และอาจสามารถชะลอการขยายตัวของความต้องการที่สนามบินสุวรรณภูมิออกไปได้

4. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบการใช้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองควบคู่กันไป เช่น ถ้าหากต้องต่อเครื่องระหว่างประเทศที่สนามบินใดก็ควรเลือกเดินทางภายในประเทศด้วยสายการบินที่ลงสนามบินนั้นๆ ยกเว้นไม่มีเที่ยวบินหรือสายการบินลงสนามบินนั้นๆ เช่นมาจากแม่สอดโดยนกแอร์ลงที่ดอนเมือง แต่ต้องไปต่อการบินไทยไปฮ่องกงที่สุวรรณภูมิ ก็ควรให้คำแนะนำว่าต้องเผื่อเวลาไว้เท่าไหร่ (ในกรณีที่ ARL ยังไม่เสร็จ ก็ควรมีรถบัสเชื่อมต่อสองสนามบินให้บริการ อาจจะดีไม่เท่า ARL แต่ก็ดีกว่าไม่ให้บริการเลย) และพอ ARL เชื่อมต่อสองสนามบินเรียบร้อยแล้ว การเดินทางระหว่างสองสนามบินก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะปัญหาในการเดินทางเชื่อสองสนามบินคือ การที่ไม่สามารถควบคุมเวลาเดินทางได้! เช่น เดินทางช่วงเช้าหรือเย็นในช่วงเร่งด่วน ก็ต้องใช้เวลามากกว่าช่วงดึกที่รถโล่ง แต่ถ้ามีการขนส่งระบบรางมาให้บริการ ก็สามารถกำหนดเวลาเดินทางเชื่อมต่อสองสนามบินได้ เพราะระบบรางมีเวลาเดินทางที่แน่นอน

เป็นต้น

และนี่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวที่เห็นว่าควรใช้สองสนามบินควบคู่กันไป แทนการยกเลิกการใช้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง และย้ายโอนทั้งหมดไปไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ขอบคุณครับ

จากคุณ : ben_benz
เขียนเมื่อ : วันแม่แห่งชาติ 54 04:38:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com