สมอเรือสมัยโบราณครับ คนปัจจุบันนึกว่าเป็นระฆังหิน
คำที่ใช้ค้น คือ ระฆังหิน สมอเรือ
สมอเรือ จากชุมชนบนเส้นทางการค้าโบราณ
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
สมอเรือ จากชุมชนบนเส้นทางการค้าโบราณ
ตามแหล่งโบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หลายแห่งในภาคกลางประเทศไทย มีโบราณวัตถุชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นแผ่นหินหนาประมาณ 15-20 ซม. มีรูปร่างไม่แน่นอน โดยทั่วไปมีรูเจาะ 1 รู มักถูกจัดแสดงโดยการแขวน และมีป้ายกำกับอธิบายว่า วัตถุชนิดนี้ คือ “ระฆังหิน”
ระฆังหิน(?)ดังกล่าว มักทำจากหินปูน เมื่อเคาะแล้วมีเสียงกังวาน นักวิชาการหรือคนทั่วไปจึงเชื่อกันว่าเป็นเครื่องเคาะลักษณะเดียวกับระฆัง หรือกังสดาลที่อยู่ตามวัดวาอาราม ที่ดูจะสอดคล้องกันกับการพบแผ่นหินเจาะรูเหล่านี้อยู่ตามแหล่งโบราณสถาน
แต่ในอีกทางหนึ่ง มีข้อเสนอที่น่าคิดว่า แผ่นหินเจาะรูเหล่านี้ ควรเคยทำหน้าที่เป็น “สมอเรือ” มากกว่า “ระฆัง” หรือ “กังสดาล”
ด้วยเหตุว่า แหล่งโบราณสถานที่พบแผ่นหินเจาะรูเหล่านี้ มักเป็นแหล่งโบราณหรือชุมชนโบราณยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือราว พ.ศ. 1100 – 1600) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวหน้ามากพอที่จะผลิตโลหะได้ อย่างชำนาญแล้ว ถ้าจะผลิตระฆังหรือกังสดาลด้วยการหล่อโลหะจึงน่าจะง่ายกว่าการใช้หินแล้ว เจาะรูเพื่อเป็นเครื่องเคาะตีให้เสียง
นอกจากนี้ คำว่า “สมอ” ยังมีที่จากคำว่า “ถมอ” ในภาษาเขมร แปลว่า หิน ชื่อเรียกนี้
แสดงให้เห็นถึงวัสดุดั้งเดิมของสิ่งที่ใช้ถ่วงเรือให้จอดอยู่กับที่ว่าเคยทำด้วยหินมาก่อน
และการมีสมอเรือ ที่เกี่ยวข้องกับเรือใหญ่อย่างสำเภาที่เข้าล่องตามทะเลและแม่น้ำ น่าจะช่วยสนับสนุนถึงความสำคัญของแหล่งที่พบว่าเคยเป็นเมืองท่า เมืองผ่าน หรือสถานที่แวะพักบนเส้นทางการค้ายุคโบราณที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค สุวรรณภูมิหลายพันปีก่อนจนมาถึงยุคทวารวดี
คุณสุรินทร์ เหลือลมัย ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นราชบุรี ก็กล่าวในบทความของวารสารศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นราชบุรี ว่า ที่ไหนมีก้อนหินแบบนี้ ที่นั่นต้องเป็นเมืองท่ามาก่อน มีเรือสำเภาที่จะต้องใช้สมอทอดจอดอยู่กลางแม่น้ำเข้าถึง
จากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เราทราบว่า ชายฝั่งทะเลโคลนตมอ่าวไทยเมื่อหลายพันปีก่อนเคยกินลึกเข้ามาเป็นบริเวณกว้าง ขวางกว่าในปัจจุบัน ถึงบริเวณจังหวัดลพบุรี บริเวณ อ.เมือง, อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และนครไชยศรี จ.นครปฐม บริเวณ จ. สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ดังนั้นเราจึงพบแผ่นหินเจาะรูจากแหล่งโบราณคดีที่เคยมีอาณาเขตใกล้ชายฝั่ง ทะเลเดิม เช่น ในจังหวัดกาญจนบุรี, นครปฐม, นครสวรรค์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี และสุพรรณบุรี
และถ้าดูจากชื่อบ้านนามเมืองหลายแห่งตามแนวชายฝั่งทะเลเดิมสมัยทวารวดี มักมีชื่อ ตะเภา หรือ สำเภา ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของเรือเดินทะเลค้าขาย เช่น บ้านอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท, บ้านสำเภาล่ม ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี, และบ้านอู่ตะเภา อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และชุมชนในบริเวณเหล่านี้ก็มักมีเรื่องเล่านิทานตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับการ ล่องเรือสำเภาอยู่ด้วย
ส่วนการที่สมอเรือเหล่านี้มักพบตามแหล่งโบราณสถานยุคทวารวดี คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า เพราะคนนำไปถวายให้ศาสนสถาน
และอาจสันนิษฐานไปได้ว่า สมอเรือหินเหล่านี้มีมาก่อนวัฒนธรรมทวารวดีตั้งแต่ยุคการค้าข้ามภูมิภาคแรกๆ แล้วผู้คนในยุคหลังได้นำวัตถุเหล่านี้มาถวายให้ศาสนสถานแล้วอาจแปลงการใช้ งานในภายหลัง เช่น พบว่ามีแผ่นหินเจาะรูชิ้นหนึ่งถูกสลักเป็นลายคล้ายอัฒจรรย์(แผ่นหินวางหน้า ทางขึ้นศาสนสถาน)
อย่างไรก็ดี ในสารนิพนธ์ระดับปริญญาตรี ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “ระฆังหินสมัยทวารวดี : ข้อสันนิษฐานเรื่องการใช้งาน” ของ สุนีย์รัตน์ เดชวิริยะกุล มีความเห็นว่า ลักษณะบางประการของกลุ่มแผ่นหินเจาะรู อาจไม่เหมาะสมกับการใช้งานเป็นสมอเรือ เช่น ลักษณะเมื่อแขวนส่วนใหญ่จะห้อยตกอยู่ในแนวนอน ซึ่งแตกต่างกับลักษณะของกลุ่มสมอเรือตามเมืองชายทะเลอื่นที่เน้นรูปแบบการ ห้อยตกในแนวตั้ง เพื่อให้เหมาะกับการยึดตัวสมอไว้กับพื้นทะเล และลักษณะที่เทอะทะหรือยาวมาก ก็อาจยากต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อใช้งาน
บทบาทการใช้งานของแผ่นหินเจาะรู หรือ “สมอเรือ”เหล่านี้ อาจเป็นร่องรอยหลักฐานของการติดต่อค้าขาย ที่มีเครือข่ายแพร่กระจายไปทั่วชุมชนบ้านเมืองที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อถึง กันกับชายฝั่งทะเล โบราณวัตถุสถานสถานต่างๆที่พบจึงคงไม่อาจตีความหรืออธิบายหน้าที่ของมันได้ โดยโดดเดี่ยว หากแต่สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นที่ต้อง เชื่อมโยงและแปลความร่วมกัน
http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2011/04/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97/
แก้ไขเมื่อ 22 ก.ย. 54 20:20:40