ประวัติความเป็นมาของ NIA 
ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านการข่าวกรองมาตั้งแต่โบราณและตลอดทุกยุคทุกสมัย ในประวัติศาสตร์ยามศึกสงคราม ทหารมีหน้าที่สอดแนม ลาดตระเวนใช้ไส้ศึก แต่การดำเนินงานในลักษณะหน่วยข่าวกรองสมัยใหม่และเป็นหน่วยข่าวกรองกลางของชาติเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ต่างประเทศมีการพัฒนาองค์การข่าวกรองอย่างจริงจัง รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยราชการที่เป็นศูนย์กลาง รวบรวมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานการข่าวตามปกติ หรือจากหน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ หน่วยข่าวฝ่ายทหาร และหน่วยข่าวตำรวจ รวมทั้งข่าวที่ได้จากวิธีการทางลับ และข่าวจากแหล่งข่าวเปิดที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายและท่าทีทางการเมืองภายในและต่างประเทศของรัฐบาล จึงได้จัดตั้ง "กรมประมวลราชการแผ่นดิน" อยู่ในสังกัดทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2497 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2496 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 81 หน้าที่ 13 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2496) โดยได้แต่งตั้งให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เป็นอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กรมประมวลราชการแผ่นดิน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประมวลข่าวกลาง" เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2502 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2502 และต่อมาในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กรมประมวลข่าวกลางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)" เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติและพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 213 มีฐานะเป็นหน่วยข่าว แห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
สขช. จึงเป็นหน่วยข่าวระดับชาติหน่วยเดียวของประเทศไทยที่ เป็นหน่วยราชการพลเรือน มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ปัจจุบัน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ แบ่งส่วนราชการออกเป็นหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
สำนักอำนวยการ
สำนัก 1 (ส่วนกลาง ภาคกลาง ภาคตะวันออก)
สำนัก 2 (ภาคเหนือ)
สำนัก 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
สำนัก 4 (ภาคกลางเฉพาะนอกเขตของสำนัก 1 ภาคตะวันตก และภาคใต้ ยกเว้นสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล)
สำนัก 5 (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล)
สำนัก 6 (อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย)
สำนัก 7 (ความมั่นคงของโลก องค์การระหว่างประเทศ องค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ และประเทศมหาอำนาจ)
สำนัก 8 (ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียแปซิฟิก เอเชียกลาง เอเชียใต้ ทวียุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา)
สำนัก 9 (ต่างประเทศ)
สำนัก 10 (การรักษาความปลอดภัย และการรักษาความลับของทางราชการสำหรับฝ่ายพลเรือน)
สำนัก 11 (การปฏิบัติการข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรองด้วยเครื่องมือเทคนิค)
กอง 1 (สนับสนุนปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติการทางการข่าวและต่อต้านการข่าวประจำท่าอากาศยานนานาชาติในภูมิภาค)
กอง 2 (สืบสวนสอบสวนและต่อต้านข่าวกรอง)
สถาบันข่าวกรอง
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
กลุ่มตรวจสอบภายใน
กลุ่มยุทธศาสตร์ข่าวกรอง
กลุ่มนิติการ