Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมื่อนักวิทยาศาสตร์เตือนสติสังคมไทย จาก GT 200 สู่ อีเอ็มบอล…เราเรียนรู้อะไรจากอดีต ติดต่อทีมงาน

(ตั้งกระทู้ข่าวตัวเองถูกสัมภาษณ์ ให้คนอื่นหมั่นไส้เล่นครับ ฮะฮะ)
(บอกก่อนว่า คราวนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ในนามตัวผมเองนะ ไม่ได้พูดกั๊กๆ ในนามคณะฯ อ่านกันแล้วมีอะไรไม่เห็นด้วย ก็ให้ถือว่าไม่ใช่ความเห็นของหน่วยงานนะครับ)

จาก http://thaipublica.org/2011/12/scientists-gt-200-em-ball/

วิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ Pseudo Science เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่ทำตัวเหมือนเป็นวิทยาศาตร์ โดยใช้การแอบอ้างแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆแล้วไม่เคยผ่านการทดสอบที่ถูกต้อง ไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มารองรับและไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆ หากไม่มีการอธิบาย คนทั่วไปมักเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลก คือเนื้อเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง และเมื่อพูดลอยๆ ก็คงจะนึกไม่ออกว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าบอกว่า GT 200 หลายคนคงจะเริ่มเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นมาทันที

เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT 200 เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกๆที่ทำให้คนไทยได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกในสื่อกระแสหลัก จากกรณีที่มีนักวิทยาศาสตร์ออกมากระตุกให้สังคมได้ขบคิด โดยนำข้อมูลหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มาชี้ให้เห็นว่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่มีการโฆษณากันว่ามหัศจรรย์ แท้จริงแล้วเป็นแค่ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบกัน ไม่สามารถใช้ตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงตามที่กล่าวอ้าง

มาวันนี้คำว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกถูกนำกลับมาพูดอีครั้ง แต่เปลี่ยนบริบทจากคำว่า “GT 200” มาเป็น “อีเอ็มบอล” หรือจุลินทรีย์มหัศจรรย์ที่สามารถแก้ไขน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีได้ แม้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าปรากฎการณ์อีเอ็มเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลกหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมากระตุกสังคมให้ฉุกคิดอีกครั้ง ก็พบว่ามีความน่าสนใจ ที่ปรากฎชื่อ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย

ผศ.ดร.เจษฎา เป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวกับที่ออกมาพูดเรื่อง GT 200 จนนำไปสู่ปรากฎการณ์ตื่นตัวครั้งสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงแค่เผยให้เห็นความจริงของวิทยาศาสตร์ลวงโลกเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ตัวเล็กๆ สามารถยันกับทหารทั้งกองทัพได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นการกรุยทางให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆกล้าออกมาพูดความจริงในสังคมไทย ที่คำว่าเหตุผลถูกความเชื่อและความงมงายเบียดจนไม่มีที่ยืน

เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ในการกลับไปทบทวนว่าทุกวันนี้สังคมไทยมีความเป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจากวันนั้น จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้รับบทเรียนและหาจุดลงตัวระหว่างคำว่า ความจริง ความเชื่อและความงมงายได้อย่างไร

 
 

จากคุณ : JD300
เขียนเมื่อ : วันรัฐธรรมนูญ 54 12:46:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com