Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ความในใจของสไนเปอร์ ติดต่อทีมงาน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20120129/121458/ความในใจของสไนเปอร์.html


=======================================================



คริส ไคล์ คาวบอยหนุ่มจากเมืองโอเดสซา รัฐเทกซัส ที่เติบโตมากับการล่ากวางและนกป่าด้วยปืนพกที่พ่อซื้อให้ ก่อนสมัครเข้าร่วมหน่วยซีล แห่งนาวิกโยธินสหรัฐ กลายเป็นพลซุ่มยิง หรือ สไนเปอร์ ผู้ปลิดชีพศัตรูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพอเมริกา ด้วยสถิติเหยื่อกระสุน 160 ศพ ตามบันทึกอย่างเป็นทางการของเพนตากอน หรือ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในอิรักนาน 10 ปี

จำนวนชีวิตที่สูญสิ้นไม่ใช่สถิติที่น่าอภิรมย์ แต่หนังสือของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ ต่างหากที่น่าสนใจ เพราะไคล์ได้เผยสภาพจิตใจของทหารหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องเฝ้ารอ จับตามอง ก่อนส่องกระสุนสังหารเหยื่ออย่างที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง

เมื่อครั้งทหารสหรัฐเริ่มบุกอิรักเพื่อโค่นซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2546 ไคล์ได้รับมอบหมายให้เฝ้าคุ้มกันอยู่บนตึกซอมซ่อ ขณะที่หน่วยนาวิกโยธินของเขาเข้าเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองเมืองหนึ่ง ฝูงชนอิรักเข้ามาห้อมล้อมต้อนรับ โดยไม่สังเกตเห็นว่า ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเดินเข้าใกล้ พร้อมระเบิดในมือที่พร้อมจุดชนวน

หัวหน้าของไคล์สั่งทันทีว่าให้เก็บผู้หญิงคนนั้น ไคล์บอกว่า แต่...หัวหน้าต้องสั่งซ้ำอีกรอบว่า ยิงเดี๋ยวนี้

"นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมต้องฆ่าคน รู้สึกสับสนในใจ หลายคำถามประเดประดัง อย่างแรก นั่นเป็นผู้หญิง สอง ผมถามตัวเอง แน่ใจหรือว่าจะลงมือจริงๆ มันถูกต้องหรือ ถ้าทำไปแล้วจะโดนไล่กลับบ้านมั้ย จะมีทนายมาตามหาผมแล้วบอกว่า คุณฆ่าผู้หญิงตาย คุณต้องเข้าคุก"

แต่ในที่สุด สไนเปอร์มือใหม่ไม่มีเวลาหาคำตอบให้คำถามมากมายนัก ผู้หญิงคนนั้นกับระเบิดในมือช่วยให้ไคล์ตัดสินใจได้ หากต้องการให้เพื่อนทหารรอดก็จะต้องกำจัดเธอ ไคล์จึงเหนี่ยวไก

หลังจากถูกส่งไปอิรัก 4 ผลัด ไคล์เรียนรู้จนชำนาญว่า เมื่อไหร่ควรเลิกลังเล และเริ่มเหนี่ยวไก

ไคล์ปฏิบัติหน้าที่ในอิรักจนถึงปี 2552 ตามข้อมูลเพนตากอน เหยื่อกระสุนของสไนเปอร์รายนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 160 ราย แต่เจ้าตัวนับเองได้มากกว่าที่จำนวน 255 ราย

ฝ่ายข่าวกรองของกองทัพระบุว่า ในสมรภูมิเมืองราห์มาดี ชื่อเสียงของไคล์ขจรขจายในกลุ่มต่อต้าน ที่พร้อมใจกันตั้งฉายาว่า "ปีศาจแห่งราห์มาดี" และตั้งค่าหัว 2 หมื่นดอลลาร์

แต่ในสายตาของเพื่อนร่วมหน่วยซีล ไคล์ได้ชื่อที่ต่างออกไปว่า "เดอะ เลเจนด์" จากผลงานนอกเมืองซาดร์ เมื่อปี 2551

ไคล์เห็นนักรบฝ่ายต่อต้านคนหนึ่งกำลังจะยิงจรวดโจมตีขบวนรถทหารสหรัฐ ไคล์ส่องไรเฟิล .338 ลาปัว แม็กนั่ม จากระยะ ดับชายคนนั้นทันทีที่อยู่ห่างออกไป 2,100 หลา

ไคล์ เลิกอาชีพสไนเปอร์เมื่อปี 2552 เพื่อรักษาชีวิตสมรส มีลูกสาว 2 คน ปัจจุบันอาศัยในดัลลัส และเปิดบริษัทรับช่วงสัญญากองทัพ ชื่อ คราฟต์ อินเตอร์เนชั่นแนล ช่วยฝึกการซุ่มยิงแก่ทหารกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และตีพิมพ์หนังสือชื่อ "อเมริกัน สไนเปอร์" ที่ไคล์อ้างว่า ไม่เคยนึกเสียใจ และมองคนที่ถูกฆ่าด้วยน้ำมือของเขาว่าเป็นพวกป่าเถื่อน การยิงศัตรูเป็นหน้าที่ของผม ผมเสียใจสำหรับเพื่อนทหารและคนที่ผมไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้มากกว่า

แต่ผลการศึกษาความในใจสไนเปอร์ในอิสราเอลชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า สไนเปอร์มองศัตรูของเขาเป็น "มนุษย์" มากกว่า เมื่อเทียบกับทัศนคติของทหารหน่วยอื่นๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสไนเปอร์มองเห็นเป้าหมายอย่างชัดเจนกว่า และหลายครั้งต้องเฝ้าสังเกตการณ์เป็นหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

เนตาร์ บาร์ นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า เป็นการสังหารระยะไกลก็จริง แต่เป็นภารกิจที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่า คุ้นเคยกับเหยื่อกระสุน

จากการศึกษาทัศนคติของสไนเปอร์อิสราเอล 30 คน ที่เคยทำหน้าที่เป็นมือสังหารในดินแดนปาเลสไตน์ช่วงปี 2543-2546 เพื่อสำรวจว่า การสังหาร ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ และจะเป็นบาดแผลทางใจหรือไม่ โดยสาเหตุที่นักมานุษยวิทยาท่านนี้เลือกศึกษาสไนเปอร์ ก็เพราะมีความต่างจากนักบินเครื่องบินรบหรือคนควบคุมรถถัง ที่โจมตีเป้าหมายใหญ่ อย่างเช่น อาคาร แต่เป้าหมายของสไนเปอร์ คือตัวบุคคล

สิ่งที่ได้พบก็คือ แม้ทหารอิสราเอลส่วนใหญ่มองว่า กลุ่มหัวรุนแรงปาเลสไตน์ เป็น "ผู้ก่อการร้าย" แต่ก็มองพวกเขาว่าเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน

"คำภาษาฮิบรูที่หมายถึงมนุษย์คือ "ลูกชายของอาดัม" เป็นคำที่สไนเปอร์อิสราเอลใช้มากกว่าคำอื่นๆ เวลาพูดถึงคนที่พวกเขาปลิดชีพ" เนตาร์ บาร์ กล่าว และว่าสไนเปอร์แทบไม่เคยพูดถึงคนที่พวกเขาฆ่าว่าเป็นเป้าหมาย เปรียบเปรยเป็นสัตว์ หรือเครื่องจักรกลอะไรสักอย่างเลย  

บางคนที่ถูกสัมภาษณ์ พูดด้วยซ้ำว่า เหยื่อของพวกเขาคือ นักรบที่ชอบธรรม

สไนเปอร์คนหนึ่งที่มองเห็นเหตุการณ์ผ่านกล้องขณะครอบครัวห้อมล้อมชายที่เขาเพิ่งยิงตาย กล่าวว่า "คนคนนั้น เป็นใครบางคนที่มีเพื่อนๆ ที่รักเขา และผมก็แน่ใจว่า เขาเป็นคนดี เพราะเขาออกมาทำตามอุดมการณ์ กระนั้นพวกเราที่อยู่คนละฝั่ง ได้ช่วยป้องกันการสังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ดังนั้น พวกเราไม่เสียใจ"

เหตุและผลเช่นนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ครอบครัวและสังคมอิสราเอลในวงกว้าง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สไนเปอร์ไม่มีปัญหาด้านจิตใจ หลังลงมือเก็บเหยื่อ

การเตรียมพร้อมทุกสิ่งอย่างเพื่อป้องกันความรู้สึกผิด ช่วยให้สไนเปอร์อิสราเอลสังหารเหยื่อโดยไม่รู้สึกทรมานจนเกินไป

นักมานุษยวิทยาผู้นี้ ยังได้พบข้อมูลน่าสนใจจากสไนเปอร์ที่เธอได้ศึกษาว่า พวกเขาเป็นชายหนุ่มที่ฉลาด และจับความรู้สึกเก่ง

สำหรับกองทัพส่วนใหญ่ สไนเปอร์คือทหารที่จะต้องผ่านการทดสอบและฝึกอย่างสุดทรหด และถูกเลือกเพราะปฏิภาณไหวพริบ

ในอังกฤษ สไนเปอร์จะต้องผ่านการฝึกหนัก 3 เดือน และอัตราการผ่านบททดสอบมีเพียง 1 ใน 4

หลักสูตรฝึกสไนเปอร์นาวิกโยธอินอเมริกันเป็นหนึ่งในหลักสูตรหินที่สุดของกองทัพ อัตราสอบตกมีมากกว่าร้อยละ 60 หลังจากนั้นยังมีสิ่งที่จะต้องฝ่าฟันอีกเป็นหางว่าวกว่าจะได้รับเลือกเข้าหน่วย รวมถึงการทดสอบวุฒิภาวะ ความสุขุม และการตัดสินใจเบื้องต้น ที่ล้วนจะต้องมีคะแนนอยู่ในระดับยอดเยี่ยม

ผลการวิจัยในแคนาดาก็พบเช่นกันว่า ในการทำแบบทดสอบความเครียดหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้าย (post-traumatic stress) สไนเปอร์มักได้คะแนนต่ำ และมีคะแนนสูงกว่าทหารทั่วไป ในแบบทดสอบความพึงพอใจในงาน

ปีเตอร์ แบรดลีย์ แห่งวิทยาลัยทหารในแคนาดา ซึ่งศึกษาสไนเปอร์ 150 คนในอัฟกานิสถาน กล่าวว่า พวกเขามีสุขภาพที่ดี การปรับสภาพกายและใจดีเยี่ยมอย่างน่าทึ่ง

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาความรู้สึกนึกคิดของสไนเปอร์ ทั้งในอิสราเอลและแคนาดาดังที่กล่าวมา เป็นการศึกษาสไนเปอร์ที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่

จึงยังเป็นคำถามว่า พวกเขาเหล่านั้นจะมีปัญหารบกวนจิตใจบ้างหรือไม่หลังหลายปีผ่านไป หรือหลังจากที่พวกเขากลับไปอยู่ในสังคมปกติ

สำนักงานทหารผ่านศึกสหรัฐระบุว่า ความผิดปกติทางจิตใจที่เกี่ยวเนื่องกับสงคราม มาจาก 3 สาเหตุ คือ ตกอยู่ในความเสี่ยงขั้นชีวิต หรือบาดเจ็บ เห็นผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือถูกสังหาร และฆ่าหรือทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ สไนเปอร์มักไม่มีปัญหาจากสาเหตุแรก สองอย่างหลังยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

อดีตสไนเปอร์สหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2531 อย่าง อิลยา อาบิชอฟ วัย 20 ปีขณะนั้น มั่นใจว่า การสังหารฝ่ายตรงข้ามเพื่อปกป้องชาวอัฟกันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตามที่ถูกกรอกหูจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ พวกเรากำลังปกป้องคนอัฟกัน แต่ต่อมา ภายหลัง อาบิชอฟ ยอมรับว่า รู้สึกเสียใจ ไม่รู้สึกภูมิใจอีกต่อไปในสิ่งที่ทำ หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำเช่นนั้น

ไบรอัน เซน สไนเปอร์ที่มีสำนักงานอำเภอในเทกซัส หนึ่งในสมาชิก "สปอตเตอร์" สมาคมช่วยเหลือสไนเปอร์ที่มีปัญหาจิตใจในสหรัฐ กล่าวว่า หากเป็นสไนเปอร์ตำรวจที่ต้องทำงานเป็นเพชฌฆาตในสังคมปกติ มิใช่ในสงคราม ความเจ็บปวดทางใจอาจเกิดขึ้นไม่นานนัก

เซน กล่าวว่า สไนเปอร์ตำรวจและทหารต่างมีปัญหาเดียวกัน คุณเล่าให้ภรรยาฟังไม่ได้ ระบายให้บาทหลวงฟังก็ไม่ได้ มีแต่สไนเปอร์ด้วยกันเท่านั้นที่จะเข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร

แต่สำหรับสไนเปอร์เจ้าของสถิติปลิดชีพเหยื่อมากกว่าใครในสหรัฐ "รู้สึกผิดบาปหรือไม่" ไม่ใช่คำถาม

"มันเป็นความรู้สึกแปลกๆ มองเห็นศพจริงๆ โดยรู้แก่ใจว่าคุณคือคนที่ทำให้ร่างนั้นไม่ไหวติงอีกต่อไป แต่ทุกคนที่ผมสังหาร ผมเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าเป็นคนเลว เมื่อถึงเวลาที่ผมได้เฝ้าพระเจ้าจะมีเรื่องราวมากมายที่ผมต้องรับผิด แต่จะไม่มีเรื่องการสังหารคนเหล่านั้นรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน"



....................................
( แปลและเรียบเรียงจาก บีบีซี และ เดลี เมล์  )

โดย...อุไรวรรณ นอร์มา

จากคุณ : Marcopy
เขียนเมื่อ : 31 ม.ค. 55 01:20:01




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com