|
ความงามของดาบซามูไร
ตลอดทั้งตัวดาบหากสังเกตจะเห็นว่าดาบนั้นมีความงดงามมาก งามตามธรรมชาติทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องประดับใดๆ จุดเด่นคงอยู่ที่ลักษณะใบดาบที่โค้งได้รูป ถือเป็นการออกแบบที่สุดยอด
ลวดลายน้ำบนใบดาบเรียกว่า "ฮามอน" ถูกประดิษฐ์ขึ้นมากว่าพันปีโดย "อามากุนิ" ไม่เป็นเพียงลวดลายที่งดงามอย่างเดียว แต่เป็นความลับของคมดาบด้วย
ในส่วนของที่กั้นมือเรียกว่า "Tsuba" (Handguard) มักทำจากเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง หรือเงิน เป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม มีการทำลวดลายต่อเนื่องทั้งสองด้านมาตั้งแต่โบราณ มีมากมายหลายแบบจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ยกเว้นของดาบทหารที่มีลวดลายเดียวเฉพาะเท่านั้น)
ส่วนด้ามจับที่ทำด้วยไม้ หุ้มทับด้วยหนังปลากระเบนและผ้าไหม พับเว้นช่องเป็นรูปข้าวหลามตัด คือเอกลักษณ์ของดาบที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
เรื่องราวของดาบยังมีอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นลายของเนื้อเหล็กที่เกิดจากการตีเหล็กและหลอม, ชนิดของลวดลายฮามอนบนใบดาบ หรือดาบกับการทำ "เซปปุกุ" หรือการคว้านท้อง เป็นต้น
จากประสบการณ์ของผู้เขียน...ที่ได้สัมผัสกับดาบซามูไรเก่า พบว่าตัวดาบมีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถทรงตัวให้วางตั้งอยู่บนฝ่ามือได้โดยตัวดาบไม่ล้มแม้จะขยับมือไปมา จากการทดลองดูด้วยดาบซามูไรจำนวน ๓ เล่ม ซึ่งสามารถตั้งได้ทั้งหมด คงไม่ใช่เพราะความบังเอิญ เพราะว่ายังทดลองเอาดาบของไทยมาวางดู แต่ไม่สามารถตั้งได้อย่างดาบญี่ปุ่น
ปัจจุบันดาบญี่ปุ่นกลายเป็นงานศิลปะที่มีราคาสูงมาก ดาบที่ขายเป็นของที่ระลึกนั้นจะไม่คม และทำด้วยสเตนเลส เป็นของประดับบ้าน
ดาบยังมีการผลิตในต่างประเทศด้วย เช่น ประเทศสเปนและไต้หวัน ส่วนดาบที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นตามขั้นตอนแบบพิธีโบราณนั้น ก็ยังมีอยู่มากมาย ยังคงเป็นดาบแท้ตีใบดาบด้วยเหล็ก หลายๆ ตระกูลอย่าง "ตระกูลกัสสัน" ยังใช้เหล็กเนื้อดีมีความคมกริบเหมือนเกือบพันปีที่ผ่านมา
ดาบถูกตกแต่งหลายๆ แบบมากมายด้วยเงิน, ทอง การประดับประดาและการแกะลวดลายลงบนใบดาบ
รัฐบาลญี่ปุ่นดูแลการผลิตดาบอย่างเข้มงวดเพื่อให้ทรงคุณค่าต่อไปอย่างมีเอกลักษณ์ แม้ปัจจุบันดาบจะไม่ได้เป็นจิตวิญญาณของซามูไรอย่างแต่ก่อน แต่ก็คงเป็นตำนานแห่งอาวุธสังหาร และงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดสืบไป
ข้อมูลประกอบการเขียน
๑. อิชิอิ โยเนะโอะ, โยชิกาวะ โทชิฮารุ. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๒.
๒. ภิรมย์ พุทธรัตน์ แปล. ซามูไร นักรบชนชั้นของญี่ปุ่น. อมรการพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๓๐.
๓. John M. Yumoto. Samurai Swords a Handbook. thirty-sixth printing, Charles E. Tuttle Publishing Company, Inc. Tokyo, 2000.
๔. David Miller. Samurai Warriors. Pegasus Publishing Ltd, New York, 1999.
๕. Soul of The Samurai Sword. Discovery Channel.
ที่มา ::
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 7
จากคุณ |
:
ผมเอง (ฟ้าสีหมอก)
|
เขียนเมื่อ |
:
28 พ.ค. 55 10:47:56
|
|
|
|
|