Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
NASA กับ เทคโนโลยีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม [ย้ายจาก : ] ติดต่อทีมงาน

อ่านข่าวนี้ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341037287&grpid=00&catid&subcatid) แล้วรู้สึกว่าหลายคนน่าจะหาเวลาไปศึกษาการทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบ้างคงจะดี

ตามเนื้อหาในข่าวที่ผู้ให้ข่าวพูดนั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ทราบกันและทำกันโดยทั่วไป มันดูหลุดโลกไปหน่อย ดังนี้

1) การสำรวจหาปิโตรเลียม ไม่มีเครื่องมืออะไรในโลกนี้บอกได้ว่าตรงไหนมีปิโตรเลียม NASA เชี่ยวชาญเรื่องอวกาศหรือจะเรื่องก้อนเมฆที่จะมาสำรวจกันก็แล้วแต่ จะหาความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจปิโตรเลียมได้เท่าบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ อย่างเช่น ปตท.สผ.ของประเทศไทย คงไม่มี (ในทางปฏิบัติคงทำได้ แต่ไม่ใช่งานหลักของ NASA) และแน่นอน Chevron ก็เก่งกว่าบริษัทไทย Chevron ยิ่งไม่จำเป็นต้องไปพึ่ง NASA เพื่อทำการสำรวจหาปิโตรเลียม การจะพิสูจน์ทราบว่ามีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้นั้น ต้องเจาะหลุมรวจ (Exploration Well) เพียงอย่างเดียว ไม่มีทางทำอย่างอื่นได้ การกำหนดนิยามของปริมาณสำรองน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ก็จะใช้หลุมเจาะเป็นเกณฑ์เท่านั้น ถ้าไม่มีจะผลักไปอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ทรัพยากรที่มีศักยภาพ (เพราะมันยังไม่เจอด้วยหลุม)

2) การก่อสร้างท่าเรือขนถ่ายกำลังบำรุง (logistic base) ที่ นครศรีธรรมราชของ Chevron เขาสร้างเพื่อรองรับการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เขามีอยู่แล้ว อีกอย่างโครงการที่ Chevron มีอยู่ผลิตก๊าซธรรมชาติไปจนหมดระยะเวลาที่รัฐบาลให้สัมปทานก็คิดว่ายังไม่หมด สิ่งที่ Chevron ต้องการทำคือการขยายกำลังผลิตเพื่อให้ผลิตได้มากที่สุดและคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก่อนหมดสัมปทาน แต่ในฐานะผู้ดำเนินการและเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ที่รับสัมปทาน เขาอาจจะได้ต่อสัมปทานก็ได้

3) ประเทศกัมพูชาอาจจะพอมีศักยภาพทางปิโตรเลียมบ้าง แต่ค่อนข้างต่ำ แปลงที่ Chevron ได้สิทธิสำรวจก็มีข่าวมาหลายปีแล้วว่าสำรวจพบน้ำมัน แล้ว 400 ล้านบาร์เรล แต่ไม่เห็นจะพัฒนาเพื่อผลิตสักที เห็นข่าวรั่วมาทาง Wikileaks (http://www.cablegatesearch.net/cable.php?id=08PHNOMPENH128) ว่าอาจจะไม่คุ้มการลงทุน พัฒนาด้วยตัวเองไม่ได้ พื้นที่ที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมที่เหลืออยู่คือ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา (Overlapping Claims Area) ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามีข้อมูลเพียงพอในระดับที่สามารถประเมินศักยภาพและความเสี่ยงทางธรณีวิทยาในเบื้องต้น ถ้าต้องการจะศึกษาเพิ่มเติม ต้องดำเนินการสำรวจตามวิถีการสำรวจทั่วไป ซึ่งต้องลงไปในพื้นที่ เช่นการทำ Seismic และสุดท้ายก็ต้องเจาะหลุมสำรวจ ซึ่งขณะนี้ไม่มีฝ่ายใดสามารถลงพื้นที่ทำการสำรวจได้ตั้งแต่มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนกันเมื่อราว 40 ปีก่อน

4)  ส่วน สิงคโปร์ เท่าที่ติดตามข่าวสารในวงการมา ไม่เคยได้รับรู้รับทราบว่ามีพื้นที่ตรงไหนของสิงคโปร์ที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียม เนื้อที่ประเทศพอๆ กับจังหวัดภูเก็ต เล็กว่าแปลงสัมปทานในเมืองไทยอีก ตรงนั้นมีแอ่งสะสมตัวปิโตรเลียมด้วยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยอยู่ในเรดาร์ของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใดๆ มาก่อน ไม่เคยเห็นรายงานใดๆ ปรากฏอยู่ในข่าวสารของสำนัก Wood Mackenzie หรือ IHS หรือสำนักอื่นๆ ที่เคยผ่านตามา

4) การบินสำรวจภูมิประเทศ หรือจะทำการสำรวจแบบ Magnetic หรือ Gravity หรือจะบินดูภูมิประเทศ (ทำได้เฉพาะบนบก ในทะเลจะเห็นแต่น้ำ ซึ่งใช้ดาวเทียมดีกว่า)  มันก็ทำได้ผิวเผินมาก ปรกติเอาไว้ทำเป็นตัวกรองพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถบอกอะไรได้มาก ต้องทำอย่างอื่นอีกเยอะ และที่สำคัญ ส่วนใหญ่จะรู้กันหมดแล้วว่า พื้นที่ตรงไหนมีศักยภาพ มีแอ่งที่พอจะสามารถสะสมตัวปิโตรเลียม ข้อมูลพื้นฐานแบบนี้ เขาไม่ดูกันแล้ว ถ้าอยากรู้ก็ใช้ google หาได้ เช่น
http://greywolf.se/KhmerebasinGeology.pdf
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5

5) การสำรวจปิโตรเลียมเป็นเรื่องที่บริษัทใดๆ มีเงินมีความสามารถ ก็ไปขอสิทธิการสำรวจจากแต่ละประเทศไปเลย ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ลับๆ ล่อๆ แอบบินไปบินมา เพื่อสำรวจ ทุกประเทศอ้าแขนรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหลือคืนจากที่บริษัทสำรวจก่อนหน้าที่มาทำแล้วล้มเหลว ในกัมพูชามีบริษัทฝรั่งทั้งนั้น ญี่ปุ่นก็มี ปตท.สผ.ก็มี ไม่จำเป็นต้องทำการสำรวจแบบ ลับๆ ล่อๆ

6) ขณะนี้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ นั้นต่ำกว่าราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยสำคัญมาจากผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งที่เขาเรียกว่าเป็น Unconventional Plays เช่นทรายน้ำมัน (Oil Sand) ในแคนาดา Shale Oil, Shale Gas, Tight Gas ในสหรัฐฯ ที่มีปริมาณสำรองสูงมาก แต่เพิ่งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีต้นทุนต่ำลง และสามารถผลิตมาสู้กับแหล่งน้ำมันและก๊าซทั่วไปได้ เพราะได้ประโยชน์ทั้งด้านไม่ต้องขนส่งไกล ความมั่นคงพลังงาน และปริมาณที่มีจำนวนมาก ราคาน้ำมัน WTI เลยต่ำกว่า Brent หรือ Dubai มาเป็นปีและต่ำกว่า 10-20 USD/BBL ในขณะที่เมื่อก่อนมีราคาสูงกว่า

เนื้อข่าวบางส่วนบางตอนที่เกี่ยวข้อง
-------------------------------------------------------------------------
จากการเข้าไปตรวจสอบในเวปไซต์ของนาซา พบว่า มีภาพถ่ายคู่กันระหว่างผู้บริหารเชฟร่อนและผู้นำนาซา ซึ่งมีข้อความระบุด้วยว่า นาซ่าจับมือกับเซฟร่อนเป็นพันธมิตร ในการหาผลประโยชน์ในธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานในทุกประเทศ และทำกันอย่างเปิดเผย โดยนาซามีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูล และส่งข้อมูลให้แก่เชฟร่อนที่มีบทบาทในการขุดเจาะสัมปทานผูกขาดพลังงาน และส่งน้ำมันและแก๊สไปขายให้แก่ประเทศอเมริกา จึงถือว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง

"ขณะนี้เชฟร่อนได้ลงทุนก่อสร้าง ท่าเรือ และสำนักงานที่จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรองรับอุตสาหกรรม และธุรกิจพลังงานที่มีอยู่ในอ่าวไทย ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเปิดสัมปทานอีก 13 หลุม ทำให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้ถึงกับหูผึ่ง จะสังเกตได้ว่าประเทศกัมพูชา และสิงค์โปร์ ไม่ให้นาซาบินผ่านในเขตที่มีแหล่งพลังงาน แต่เรื่องนี้รมว.วิทยาศาสตร์ฯกลับไม่รู้เรื่อง"นายถาวรระบุ

จากคุณ : ThaiExplorer
เขียนเมื่อ : 1 ก.ค. 55 06:45:13




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com