ทีนี้มาดูลำกับการร่อนลงทีละขั้นเลยดีกว่าครับ
#T- (ทีไมนัส) และ T+(ทีพลัส) เป็นการบอกเวลาของภารกิจทางอวกาศมาตรฐานครับ T-คือก่อนเวลา และ T+คือภารกิจนั้นดำเนินไปแล้ว เช่นก่อนการปล่อยยานก็จะมีการนับ T- ตั้งแต่เป็นชั่วโมงจนถึง T-5 วิ และ 4,3,2,1 ก่อนจะยิงยานขึ้น
หลังการเดินทาง 8 เดือน ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง
6 สิงหาคม 2012 เวลา 12:24 น.ตามเวลาประเทศไทย(UTC+7)
ภาพวาดลำดับ EDL เต็มขั้นตอน
แบบใหญ่เบิ้ม
ENTRY STAGE
ยานทิ้ง Cruise stage ออกไป
T+00:00 min [เข้าชั้นบรรยากาศ]
เริ่มการเข้าบรรยากาศดาวอังคารด้วยมุมตื้นที่สุดเท่าที่เคยทำมา (ยิ่งมุมตื้นก็ยิ่งฝ่าบรรยากาศหนาครับ ซึ่งจำเป็นกับของที่มีโมเมนตัมขนาดนี้ แต่ก็เสี่ยงต่อการโดนเตะออกจากบรรยากาศไปด้วย)
แรงจีสูงสุด 0.5G
ความเร็วปะทะชั้นบรรยากาศ 5.8 กิโลเมตรเมตรต่อวินาที (เกือบ 21,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
T+01:25 min [ช่วงความร้อนสูงสุด]
ตลอดการพุ่งผ่านบรรยากาศ ยานจะถูกเสียดสีด้วยอากาศอย่างรุนแรง มีการจุดไอพ่นควบคุมมุมเงยและสมดุลอย่างต่อเนื่อง(เป็นยานลำแรกที่มีการควบคุมระหว่างฝ่าชั้นบรรยากาศ)
โล่กันความร้อนจะร้อนแดงด้วยอุณหภูมิกว่า 2000 องศาเซลเซียส
T+01:36 min [ความหน่วงสูงสุด]
ยานเริ่มเข้าชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นขึ้นของดาวอังคาร ความเร็วลดลงมากที่สุดในช่วงนี้
แรงจีสูงสุด 15G
ยานความเร็วลงเหลือราว 470 เมตรต่อวินาที (1700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
T+03:00 min
ยานเข้าสู่บรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคารด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิค ปรับระดับด้วยอากาศ
T+03:50 min [กำจัดตัวชดเชย CG]
ยิงก้อนมวลขนาดเล็กออกเพื่อปรับศูนย์ถ่วง ยานจะกดหัวลงมากขึ้นเพื่อลดความเร็วในแนวระดับ
DESCENT STAGE: โดยร่ม
T+04:05 min [กางร่มชะลอความเร็ว]
เป็นการกางร่มด้วยความเร็วเหนือเสียง (ราวๆ 2 มัคสำหรับอากาศดาวอังคาร) และเป็นร่มชูชีพทีใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยกางบนดาวดวงอื่น
ตัวร่มยาว 50 เมตรและมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เมตร
สร้างแรงต้านสูงสุด 29,000N
T+04:34 min [ปลดเกราะกันความร้อน]
ทิ้งเกราะกันความร้อนที่ดำเป็นตอตะโกไป ระบบ MARDI เริ่มทำงาน ความสูงยาน 3.7km เหนือผิวดาวอังคาร
T+04:39 min
เรดาร์จับความสูงเริ่มทำงาน ระบบคอมพิวเตอร์ทำงาน เริ่มขั้นตอนควบคุมการร่อนลงด้วยสมองกล
T+05:05 min
ระบบจุดไอพ่นลดความเร็วอุ่นเครื่อง
DESCENT STAGE: โดยเครื่องยนต์
T+05:45 min [ทิ้ง descent stage ซึ่งมีระบบเครน ไอพ่นและโรเวอร์ ออกจาก Backshell]
เริ่มการตกอิสระของชุดยาน ไอพ่นทำงานที่ 1% (ยานมีไอพ่น 8 ทิศทาง)
T+05:45.8
ไอพ่นทำงาน 20%
T+05:46
ไอพ่นทำงานเต็มกำลัง
T+05:49
กำจัดความเร็วแนวระดับเป็น 0m/s ลดความเร็วแนวดิ่งไปเป็น 20m/s (72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
T+06:22.5
ลดความเร็วจนเหลือ 0.75m/s (2.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
T+06:25
ดับเครื่องยนต์เหลือเพียง 4 เครื่อง
LANDING STAGE
T+06:28 min
โรเวอร์แยกตัว เคเบิลปลดและยืดออกตามแรงโน้มถ่วง เคเบิลมีความยาวราว 7.5 เมตร
T+06:31 min
ล้อทั้ง 6 กางออกจากแรงกระตุก
T+06:33.5 min
จุดจรวดปรับความเร็ว ชะลอยานเพื่อแตะพื้น
T+06:39 min
TOUCHDOWN!
12:31 น. 6 สิงหาคม 2012 เวลาประเทศไทย
Restart Counting time to mission T+00:00 (ปรับเวลานับเป็นเวลาภารกิจ T+0 อีกครั้งครับ)
T+00:01.7
ล้อรับน้ำหนักแทนเคเบิลทั้งหมด
T+00:02.7
ระบบตรวจจับการลงจอดส่งคำสั่งปลดเคเบิล
T+00:02.96
ปลดเคเบิลหลัก
T+00:03.172
ส่งคำสั่งปลดเคเบิลนิรภัย (ยานมีเคเบิลรับน้ำหนักหลักสามเส้นครับ และนิรภัยอีกสองเส้น)
T+00:03.187
ปลดเคเบิลนิรภัย
ไอพ่นของ descent stage เร่งกำลังและพุ่งออกจากจุดลงจอด
T+00:07.187
คาดการณ์ส่วน descent stage ตกกระแทกพื้น(ห่างออกไปราว 150 เมตร)
นี่คือ EDL 7 นาทีระทึก ลำดับทั้งหมดนี้ต้องถูกต้องและทำงานสมบูรณ์ ผิดพลาดได้แค่ระดับมิลลิวินาทีเท่านั้น พลาดขั้นตอนไหนไปขั้นตอนเดียว การลงจอดของ Curiosity เป็นอันจบเห่ครับ
หลังยานจอดได้พักนึง เมื่อฝุ่นสงบ Curiosity จะเริ่มส่งสัญญาณวิทยุไปยังยานสำรวจที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารเพื่อรายงานภารกิจ
ยานรอบดาวอังคารก็เฮโลกันมารับน้องใหม่กันถ้วนหน้าครับ เริ่มจาก Mars Odyssey ซึ่งเพื่อปรับวงโคจรเสร็จสดๆร้อนๆเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว
มันจะโคจรมาถึงจุดลงจอด Curiosity เป็นลำแรก และหาก Curiosity ลงจอดบนพื้นระดับ(ไม่ได้เอียงมากนัก) เราจะรับสัญญาณได้ทันที
ยาน Mars Odyssey
ถัดมายาน Mars Reconnaissance Orbiter จะมารับช่วงต่อในอีกสองสามชั่วโมงต่อมาเพื่อรับข้อมูลจำนวนมากส่งกลับโลกอีกที
ยาน Mars Express ของยุโรปก็จะเข้าร่วมด้วยครับ
ยาน Mars Reconnaissance Orbiter
ยาน Mars Express
ส่วนสัญญาณที่ยิงกลับโลก ต้องใช้เวลานานเกือบ 14 นาทีถึงจะมาถึงโลกได้ และที่แรกซึ่งจะรับคลื่นได้คือจานรับคลื่นวิทยุขนาดใหญ่ในออสเตรเลียครับ
จากนั้นเครือข่าย NASA Deep space network ทั่วโลก พร้อมทั้งจานดาวเทียมขนาดใหญ่ของอินเดีย รัสเซีย จีน ยุโรป ฯลฯ ต่างพร้อมรับและรายงานข้อมูลนี้ด้วย
ภาพเน็ตเวิร์คส่งสัญญาณและสื่อสารดาวอังคาร-โลก