2. ภารกิจ
ดาวอังคารไม่ใช่เซเว่นปากซอย ที่นึกจะไปก็ไป จะกลับก็ชิลๆน่ะครับ
ตำแหน่งของโลกและดาวอังคารต้องเหมาะสมมาก เพื่อให้การเดินทางประหยัดเชื้อเพลิงและง่ายที่สุด
ซึ่งโอกาสนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี พอดี
ดังนั้นเมื่อส่งมนุษย์ออกไปแล้ว ต้องใช้เวลา 2 ปีเต็ม พวกเขาถึงจะมีโอกาสกลับมาได้ หากพลาดโอกาสนั้นไปก็รอได้เลยอีกสองปี
Curiosity หนักราวๆ 1 ตัน แต่ยานที่มีมนุษย์คงหนักกว่านี้มาก อาจจะอยู่ในหลักหลายสิบตันสำหรับ Lander และเป็นร้อยตันสำหรับทั้งชุดยานสำรวจ
การลงจอดดาวอังคารจะเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายสุดๆ ครั้งนี้มีชีวิตคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
และการขึ้นจากดาวอังคารกลับสู่โลกนั้นก็ยากกว่าดวงจันทร์แบบคนละโลกกัน แม้แรงโน้มถ่วงดาวอังคารมีแค่ 40% ของโลก แต่มันเยอะกว่าดวงจันทร์ที่ 16% ของโลกมาก
ดาวอังคารมีบรรยากาศ ถึงจะไม่ได้หนาแต่มันสร้างแรงต้านอากาศได้ ยานที่จะขึ้นจากดาวอังคารสู่โลกต้องมีรูปร่างถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์ ต้องมีกำลังขับสูงมาก สูงกว่ายานอีเกิลที่ลงดวงจันทร์ไม่รู้กี่สิบเท่า ซึ่งหมายถึงทั้งเงิน เทคโนโลยี เชื้อเพลิง และน้ำหนักที่มากขึ้นอีกลิบลับ
อาหารและน้ำที่ต้องแบกไปนั้นมีมากเช่นกัน
NASA ได้วิจัยการปลูกพืชในอวกาศมานานแล้ว และเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนการเลี้ยงสัตว์คงจะยากเกินไปสักหน่อย
ในภารกิจสู่ดาวอังคารของมนุษย์ครั้งแรกๆ พืช GMO ซึ่งผลิตโปรตีนและสารอาหารอื่นๆสูงน่าจะถูกใช้เป็นอาหารหลัก และรีไซเคิลธาตุทุกเม็ดทุกหน่วยอย่างดีที่สุด
ได้เป็นมังสวิรัตกันหลายปีล่ะครับทีนี้
3. ขีดจำกัดด้านมนุษย์
เส้นทางเราต้องเดินทางไปดาวอังคารคือ 550-600 ล้านกิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 เดือนครึ่ง-8 เดือนครึ่ง
เมื่อเทียบกับดวงจันทร์ที่ใช้เวลาเดินทางแค่ 3 วันเศษก็ถึง
อาหารสำหรับสามวันกับสองร้อยวันเศษมีน้ำหนักต่างกันหลายตัน
หากนักบินอวกาศเป็นโรคนี่มีปัญหาแน่ เพราะต้องรักษาเอง เวลาไปกลับนานเกินกว่าจะให้ทางโลกช่วยอะไรได้
สภาพจิตใจของนักบินอวกาศที่ต้องอยู่ในที่แคบๆ เห็นแต่อวกาศมืดมิด วิวเดิมๆซ้ำๆกันทุกวี่ทุกวันนานค่อนปี จะเป็นอะไรหรือไม่?
การอยู่ในสภาพไร้แรงดึงดูดเป็นเวลานานทำให้มวลกระดูกเสียไป นักบินอวกาศต้องออกกำลังกายอย่างหนักทุกวันเพื่อรักษากระดูกไว้ แต่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่ามันช่วยได้แค่ไหน (ตรงนี้ต้องรอการวิจัยจากสถานีอวกาศนานาชาติครับ)
อีกอย่างที่ดูน่าขำ แต่สำคัญคือ "เพศสัมพันธ์"
กับดวงจันทร์ อาทิตย์เดียวไม่มีปัญหา แต่ลองคิดดูว่าการเดินทางไปกลับดาวอังคารเต็มรูปแบบซึ่งกินเวลาอย่างน้อย 2 ปี จะให้อดทนอดกลั้นเรื่องนี้ตลอดงั้นหรือ? บรรลุแน่ๆ
ยังไม่เคยมีการทดลอง "มีเพศสัมพันธ์ในอวกาศ" แต่ซักวันมันต้องมี และผลของมันจะสำคัญต่อการเดินทางของมนุษย์ในอวกาศอยู่ไม่น้อยทีเดียวครับ (ที่แรกก็น่าจะสถานีอวกาศนานาชาติอีกแหละ)
และที่ร้ายแรงที่สุดคือ "รังสี" อวกาศเต็มไปด้วยรังสีร้ายแรง เบต้า โปรตอน แกมม่า คอสมิก รังสีเอ็กซ์ ซึ่งดาหน้ากันมาพิฆาตเซลล์ของเรากันไม่ยั้ง
แค่นักบินอวกาศที่อยู่ในวงโคจรโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ก็ได้รับรังสีวันๆนึงเท่ากับที่คนบนพื้นโลกได้รับกันหลายเดือน
พอพ้นเขตสนามแม่เหล็กโลกที่คอยปกป้องเราไว้ออกมา รังสีก็จะแรงขึ้นมากอีกหลายสิบเท่า
อย่างยานอพอลโลที่ไปดวงจันทร์ แค่อาทิตย์เดียวได้รับรังสีเท่ากับคนธรรมดาเจอร่วมเป็นสิบปีครับ
การวิจัยวัสดุหรือวิธีอะไรก็ได้เพื่อให้กันรังสีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ยังคงไม่เสร็จดี งานนี้ทำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเช่นกัน
4. การสื่อสาร
กับดวงจันทร์ นักบินอพอลโลยิงคลื่นวิทยุกลับโลก 1.4 วินาทีต่อมาโลกก็รับได้ และตอบกลับไปในอีก 1.4 วินาที
รวมดีเลย์ราว 3 วินาที... หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นยังแก้ไขกันได้ทัน ยังคุยกันได้ทัน
กับดาวอังคาร ยิงคลื่นวิทยุตรงมา จะต้องใช้เวลาตั้งแต่ 5 นาทีไปจนถึงเกิน 20 นาที ขึ้นกับตำแหน่งของโลกและดาวอังคาร ในการสื่อสาร "ขาไป" อย่างเดียว
ขากลับอีกสองเท่า ตกลงคือต้องใช้เฉลี่ยๆครึ่งชั่วโมง ถึงจะติดต่อกันได้ เกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้นล่ะก็มีปัญหาแน่
เราจำเป็นต้องพัฒนาระบบสำรอง คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำให้ลูกเรือบนยานสู่ดาวอังคาร "แก้ไขปัญหากันเอง" เป็นหลัก ก่อนจะพึ่งโลก
นั่นต้องเพิ่มเทคโนโลยีและน้ำหนักบรรทุกอีกมหาศาล
ยังมีความท้าทายยิบย่อยอีกร้อยแปด
โครงการนี้ทั้งหมดจะกินงบประมาณมโหฬารและยาวนานหลายสิบปี
NASA วางแผนจะส่งมนุษย์คนแรกสู่ดาวอังคารในราวทศวรรษที่ 30 (2030-2040) ครับ
ซึ่งจะเกิดหลังจากการกลับดวงจันทร์ในปี 2020 และลงบนดาวเคราะห์น้อยในปี 2025
ล่าสุดแผนอย่างไม่เป็นทางการอาจมีการเลื่อนเวลาของทุกภารกิจออกไป 5-10 ปี เนื่องจากขาดงบประมาณ
สิ่งสำคัญสูงสุดในการพามนุษย์สู่ดาวอังคารตอนนี้คือ "สถานีอวกาศนานาชาติ" "ความร่วมมือระหว่างประเทศ" และ "เงิน" ครับ...
