Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บราซิลนำเข้ารถตัดอ้อยฝีมือคนไทย... ติดต่อทีมงาน

สวทช.ปลื้มบราซิลนำเข้า'รถตัดอ้อย'ฝีมือคนไทย

เหตุไฉนเมืองเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยจึงสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อการเกษตรเองไม่ได้?เป็นคำถามคาใจของหลายคนมานาน

ดูเอาเถิดแค่รถตัดอ้อยยังต้องนำเข้าจากออสเตรเลียบ้างญี่ปุ่นบ้าง สนนราคาตกคันละกว่า 10 ล้านบาท

ด้วยความคับข้องใจอันนี้ ผลักดันให้ "สามารถ ลี้ธีระนานนท์" กรรมการผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ จากจังหวัดชัยนาท ได้คิดสร้างรถตัดอ้อยเมดอินไทยแลนด์ขึ้นมา ปัจจุบันมีลูกค้าแล้วทั้งประเทศอินเดีย บราซิล และอีกหลายประเทศ

เหตุที่ต้องส่งออกนั้นไม่ใช่เรื่องของผลกำไรแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะคนไทยมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ ไม่เชื่อความสามารถกันเอง ฉะนั้น จึงต้องส่งออกเพื่อให้ต่างประเทศยอมรับเสียก่อนแล้วค่อยมาขายคนไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้กลายเป็นเบอร์ 2 ที่เกษตรกรไร่อ้อยรู้จักกันดีและเป็นลูกค้ารายล่าสุดที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ให้การสนับสนุน



"ประชาชาติธุรกิจ" นิวบิซ มีโอกาสสัมภาษณ์ "สามารถ ลี้ธีระนานนท์" กรรมการผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ จากจังหวัดชัยนาท

สามารถ เริ่มต้นธุรกิจเมื่อหลายสิบปีก่อน จากการซ่อมเครื่องยนต์ทางการเกษตรจนกระทั่งต่อยอดความคิดมาทำรถตัดอ้อยอย่างในวันนี้

"อุตสาหกรรมอ้อยเราอยู่อันดับ 2 ของโลก แต่ปัญหาคือแรงงานที่จะมาตัดอ้อย ตอนแรกจึงคิดทำรถคีบอ้อย แต่รถคีบอ้อยก็ยังไม่เบ็ดเสร็จเพราะต้องมีคนตัด จึงคิดทำรถตัดอ้อย ซึ่งตอนแรกทุกคนบอกเป็นไปได้ยาก"

สามารถ บอกว่า ในตลาดมีรถตัดอ้อยหลายเจ้า แต่หากลอกเขามาก็จะสู้ไม่ได้ จึงต้องเขียนโจทย์ขึ้นใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้วรถตัดอ้อยที่นำเข้าจะมีไฮดรอลิกมอเตอร์ 36 ลูก มีสายไฮดรอลิก 300 เส้น แต่เราคิดใหม่ รถของเราจึงมีไฮดรอลิก 10 ลูก และ สายไฮดรอลิก 10 เส้น ทำให้ราคาถูกลง แต่ตัดอ้อยได้เท่ากัน

"คิดง่ายแต่ทำยาก แต่เราทำได้"สามารถ กล่าว

เมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วสามารถหันมาโฆษณาโดยผ่านโซเชียลมีเดียอย่างยูทูป ภายหลังจากนำคลิปขึ้นเท่านั้น มีหลายประเทศให้การตอบรับ เช่น บราซิล และ อินเดีย

สามารถ อธิบายว่า การจะแข่งกับคู่แข่งขนาดใหญ่ต้องมี 3 อย่าง คือ รูปลักษณ์ ราคา และ คุณภาพ ซึ่งมีเพียงสิ่งเดียวที่ยังขาดสำหรับรถตัดอ้อยของตนเองคือ ภาพลักษณ์ ที่ยังสู้ใครไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่ใครจะตัดสินใจซื้อสินค้าอะไรต้องมีการตกลงกันให้เรียบร้อย เห็นของและการทำงานด้วยตัวเอง

"ก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ เขาไม่ต้องบินมาหาเราถ้าในประเทศไทยก็จะแนะนำที่ที่ใกล้เขาที่สุด แต่ถ้าต่างประเทศที่มีพื้นที่ภูเขาก็จะบอกให้บินไปดูที่อินโดนีเซีย ให้ไปดูว่ามีการตัดอ้อยได้เท่าไหร่ ไปตกลงกันเอาเองในราคาคันละ 4.7 ล้านบาท คือลูกค้าต้องไม่เกลียดเรา สินค้าต้องการันตีด้วยตัวเอง มีการบริการที่ดี สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นการขายที่ไม่ต้องมีใบรับประกันคุณภาพ"สามารถ กล่าว

สามารถ เล่าว่า ความต้องการของลูกค้ามีหลายแบบ อย่างที่บราซิลการซื้อขายรถตัดอ้อยจะมีการแข่งขันวัดความสามารถในการตัดอ้อยกัน ถ้ายี่ห้อไหนได้ผลดีเขาก็ซื้อคันนั้น ส่วนที่อินเดียจะอยากได้รถตัด้อยที่สามารถตัดตอต่ำได้ไม่ให้รถเสียหาย แต่ได้ถามกลับไปว่าหากตัดตอต่ำเมื่อเจอหินก็ต้องพัง ซึ่งตรงนี้เราต้องอธิบายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

ปัจจุบันนี้ รถตัดอ้อยสัญชาติไทย มีลูกค้าหลักๆ คือ กัมพูชา บราซิล อินเดีย และ อินโดนีเซีย ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 30 คัน/เดือน ในราคาคันละ 4.7 ล้านบาท ขณะนี้มีแผนว่ากำลังจะไปร่วมทุนกับบราซิลเพื่อพัฒนารถตัดอ้อย ลดการนำเข้าอีกด้วย

สามารถ บอกว่า เพราะประเทศไทยทำการเกษตร จึงมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญสามารถทำอาร์แอนด์ดี (R&D or research and development)ได้ตลอด ซึ่งเป็นจุดแข็ง ขณะเดียวกันถ้าบริษัทจากต่างชาติเข้ามามาก ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องยนต์ทางการเกษตรของไทยหายไปในที่สุด  

ที่มา  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1347267094&grpid=&catid=19&subcatid=1900


รู้สึกดีใจด้วยครับ เยี่ยมๆ

จากคุณ : นินจาจัง
เขียนเมื่อ : 12 ก.ย. 55 00:08:21




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com