Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เกี่ยวกับยาป้าย{แตกประเด็นจาก X12687940} ติดต่อทีมงาน

ยาหลอนประสาทชนิดรุนแรง แค่ 25 microgram (25/1 ล้านส่วนของกรัม) ก็ออกฤทธิ์แล้ว

http://www.ra.mahidol.ac.th/poisoncenter/bulletin/bul96/v4n4/LSD.html

   LSD เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ละลายในน้ำและแอลกอฮอล์ได้ ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปของสารละลาย โดยอยู่ในสเปรย์ หรืออยู่บนกระดาษซับทำให้แห้งแล้ว นำมาสูดดมหรือรับประทานทั้งกระดาษก็ได้ โดยจะเรียกว่า blotter acid หรืออาจอยู่ในลักษณะที่เป็นหมากฝรั่งใช้ขบเคี้ยวได้ หรือเป็นลักษณะของเจลาติน (gelatin) ซึ่งมักจะรู้จักในชื่อของ “windowpane” รูปแบบที่นิยมในปัจจุบัน มักจะเป็นแบบเม็ด หรือในรูปของน้ำที่หยดลงบนก้อนน้ำตาล LSD มีฤทธิ์ค่อนข้างแรง ขนาดที่ได้รับมากกว่า 35 ไมโครกรัม มักจะทำให้เกิด ภาพหลอน (hallucinogenic) แต่ขนาดที่มีขายในท้องตลาดทั่วไปมักจะประมาณ 150-200 ไมโครกรัม

   LSD เป็นที่นิยมใช้ในหมู่วัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา โดยมีขายตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่ชุมนุมของวัยรุ่น เช่น ดิสโกเธค, ห้างสรรพสินค้า, ร็อคคอนเสิรต์ ฯลฯ LSD เป็นที่นิยมเพราะหลังจากรับประทานแล้ว จะไม่มีกลิ่นจากทางเดินหายใจ หรือเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่ที่ผสมกัญชา หรือมีราคาเท่ากับเบียร์ประมาณ 6 กระป๋อง blotter acid ขนาด 6x6 มม. ราคาประมาณ 4-5 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

   LSD จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุภายในจมูก (nasal mucosa) ระบบทางเดินอาหาร และเยื่อบุอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เสพย์ได้โดยการรับประทาน สูบและนัตถุ์ จากการศึกษาของ Upshall และ Wailling (1972) พบว่าเมื่อให้ LSD ทางปากขนาด 2 ไมโครกรัม/ กก. ให้ระดับความเข้มข้นสูงสุดของยาในกระแสเลือด (Tmax) ในเวลา 30-60 นาที และจากการศึกษาของ Papac และ Foltz (1989) พบว่า ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสูงสุด (Cmax) หลังจากได้รับยาในขนาด 1 ไมโครกรัม/ กก. ที่ 3 ชั่วโมงมีค่าประมาณ 1.9 นาโนกรัม/ มล.

   LSD จับกับโปรตีนในพลาสมาได้มากกว่า 80% ปริมาตรการกระจาย (Vd) เท่ากับ 0.27 ลิตร/ กก. สามารถผ่านเข้าสมองได้น้อยทำให้ระดับความเข้มข้นของยาในสมองต่ำกว่าในอวัยวะ อื่นๆ เช่น ตับ ไต อย่างไรก็ตาม ในสมองก็จะพบความเข้มข้นของยาได้สูงสุดที่ visual areas ซึ่งสัมพันธ์กับอาการของ ผู้เสพย์ที่เห็นภาพหลอน นอกจากนี้ LSD ยังสามารถผ่านรกได้ในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ และถูกขับออกทางปัสสาวะในรูปของ 2-oxy LSD และ glucuronic acid conjugates LSD ในรูปที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเพียงจำนวนเล็กน้อยก็ถูกขับออกทางปัสสาวะเช่น เดียวกัน ค่าครึ่งชีวิตของการขับออก (T 1/2) ประมาณ 2-5 ชั่วโมง

   LSD ไปออกฤทธิ์ที่ receptor ของ serotonin ที่ 5-HT2 receptor โดยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึก ความคิด อารมณ์ และภาพลักษณ์ (self-image) หลังจากกินยาประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการของ sympathatic นำมาก่อน โดยมีม่านตาขยายกว้าง หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล ปวดแน่นท้อง และหลังจากนั้นประมาณ 30-60 นาที จึงมีอาการประสาทหลอนและอาการทางด้านจิตประสาทตามมา (ดังแสดงในตาราง) ผู้เสพย์จะทนต่อยาได้ดีขึ้นหลังจากใช้ยาติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน อาการต่างๆ จะหายไปอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลานานถึง 10-12 ชั่วโมงหลังเสพย์ยา ข้อดีคือไม่มีอาการอยากยาตามมา

ตาราง แสดงอาการต่างๆ หลังเสพย์ LSD
PHASE TIME FROM INGESTION SYMPTOMS
Somatic 0-60 mins

   Tension, lightheadedness, mydriasis, twitching, flushing, tachycardia, hypertension, hyperreflexia

Perceptual 30-60 mins

   Visual, auditory, and sensory alteration; distortions of color, distance, shape, and time; synesthesias

Psychic 2-14 hrs

   Euphoria, mood swings, depressions, feelings of derealization, loss of body image

   ภาวะไม่พึงประสงค์ของ LSD ในระยะเฉียบพลัน นอกจากจะมีอาการทาง sympathetic ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มอาการที่เรียกว่า “bad trip” โดยผู้ที่ได้รับยาจะมีการรับความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผิดจากความเป็นจริง สับสน มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด สูญเสียความฉลาดเฉลียว สูญเสียสมาธิ โดยอาจจะพบในรายที่ได้รับยา ครั้งแรกหรือครั้งต่อๆ ไปก็ได้ LSD จะทำให้เกิดอาการหวาดกลัวต่อภาพหลอนต่างๆ หรือเพ้อคลั่ง นอกจากนี้ LSD ยังทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า ในกรณีที่เป็นมากๆ อาจทำให้เกิดอารมณ์อยากฆ่าตัวตาย อาการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นถ้าได้รับยาร่วมกับกัญชา หรือยาม้า(ยาบ้า) การขับขี่รถหลังได้รับยาพบว่า ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น อาการต่างๆ แยกได้ยากจาก โรคในกลุ่มจิตประสาท (major psychosis) หรือเป็นผลจาก metabolic แล้วทำให้เกิดอาการผิดปกติ ทางด้านระบบประสาทตามมา

   ภาวะไม่พึงประสงค์อย่างเฉียบพลัน (acute adverse psychiatric effect) ของ LSD สามารถแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ

       hyperanxiety states , paranoid or frank panic reaction
       risky or self-destructive behavior เช่น เดินลงไปทะเล หรือการพยายามบินออกทางหน้าต่าง
       true hallucination or misperception of sensory input
       acute psychotic reaction
       major depressive dysphoric reaction

   อาการที่อาจพบบ่อยแต่รุนแรงน้อยกว่าที่กล่าวมาข้างต้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว เหงื่อแตก (diaphoresis) ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ อาการเหล่านี้มักพบนาน ประมาณ 10-24 ชั่วโมงหลังจากกินยา ซึ่งต้องแยกจากอาการภาพหลอนจากสาเหตุอื่นๆ ที่มีม่านตาขยาย ร่วมด้วยเช่น ได้รับ atropine, เห็ดเมา (psilocybin), ยาบ้าและอนุพันธ์ (amphetamine) อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เฉียบพลันนี้ ไม่สัมพันธ์ กับขนาดของยาและระดับของยาในกระแสเลือด

   ส่วนในผู้ที่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง จะมีภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่เรียกว่า “flashbacks” จะมีอาการ ทางจิตประสาทเป็นๆ หายๆ มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับยาเกิน 10 ครั้ง ขึ้นไป มีรายงานว่าประมาณ 50 % ของผู้ใช้ยาอาจมีอาการ เหล่านี้เป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีหลังจากหยุดยาไปแล้ว โดยอาการ เหล่านี้จะเกิดเวลาใดก็ได้ ลักษณะเป็นภาพหลอน (visual image) ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง อาการเหล่านี้จะถูกกระตุ้นให้เป็นมากขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในที่มืดทันที ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือในคนที่ดื่มเหล้า สูบกัญชา หรือใช้ยาหลอนประสาท (hallucinogen) อื่นๆ ร่วมด้วย flashbacks มักเกิดขึ้นโดยผู้เคยเสพย์รู้ตัวว่าเป็นภาพหลอน จึงเรียกว่า pseudo hallucination โดยอาจเห็น รูปประหลาดรอบๆ วัตถุ หรือวัตถุที่อยู่กับที่สามารถเคลื่อนที่ได้

   ส่วนอาการอันไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ๆ ในผู้ที่ใช้ LSD เป็นเวลานานคือ

       chronic or intermittent psychotic state
       persistent or recurrent major affective disorder เช่น depression
       exacerbration of pre-axisting psychiatric illness
       disruption of personality or chronic brain syndrome หรือที่เรียกว่า "bumout"
       post-hallucinogen perceptual disorder

   ถึงแม้อุบัติการของการเสียชีวิตจากพิษของ LSD โดยตรงยังพบน้อยก็ตาม แต่ LSD ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ต่าง ๆ ตามมาเช่น การพยายามฆ่าตัวตาย การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น การพยายามฆ่าผู้อื่น หรือเกิดอาการทางจิตประสาทตามมา อาการพิษที่เกิดจากยานั้นไม่ได้พบ เฉพาะในระหว่างที่ใช้ยาเท่านั้น การหยุดยาเป็นระยะเวลานานยังอาจทำให้มีจิตหลอนเป็นๆ หายๆ ตามมาได้

   
   เอกสารอ้างอิง

       Papac DI and Foltz RL. Gas chromatography/ mass spectrometry of LSD in human plasma. Toxicologist 1989; 9: 9.
       Poisindex: Computerized Clinical Information System. LSD. 1996, Vol. 90.
       Schwartz RH. LSD. Its rise, fall, and renewd popularity among high school student. Pedtr Clin North Am 1995; 42: 403-13.
       Schwartz RH, Comerci GD and Meeks JE. LSD: patterns of use by chemically dependent adolescents. J Pedtr 1987; 111: 936-8.
       Shephered SM and Jagoda AS. Phencyclidine and the Hallucinogens. In: Haddad LM and Winchester JF (eds). Clinical Management of Poisoning and Drug overdose. 2 nd ed. Philadelphia: W.B. Saunders Company, 1990: 749-69.
       Upshall DG and Wailling DG. The determination of LSD in human plasma following oral administration. Clin Chim Acta 1972; 36: 67-73.

จากคุณ : false
เขียนเมื่อ : 22 ก.ย. 55 12:53:52




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com