|
ประวัติสงครามครูเสดโดยย่อ
จุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด หลังจากที่พระเยซูคริสต์เสียชีวิตแล้ว แผ่นดินที่พระเยซูคริสต์มีชีวิตอยู่ ก็คือเมืองเบธเลเฮม เมืองนาซาเร็ธ และเมืองเยรูซาเล็ม ถูกเรียกว่าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ชาวคริสเตียนจะเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมืองเหล่านี้บางเมืองก็เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน เมื่อพวกซัลจู๊ค (มุสลิม) เข้ามามีอำนาจ ได้ครอบครองซีเรียและเอเชียไมเนอร์ของไบแซนไทน์ ชัยชนะของซัลจู๊คในการยุทธที่มานซิเคอร์ท ในปี ค.ศ. 1071 นั้น เป็นการขับไล่อำนาจของไบแซนไทน์ออกจากเอเชียไมเนอร์ และอีกไม่กี่ปีต่อมาคือ ในปี ค.ศ. 1092 ซัลจู๊คก็ตีเมืองนิคาเอจากไบแซนไทน์ได้อีก ซึ่งทำให้จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ตื่นตระหนัก เพราะอิสลามกำลังเข้าใกล้กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลเข้าไปทุกที
เมื่อเห็นดังนั้น จักรพรรดิอเล็กซิอุส คอนเนนุส แห่งไบแซนไทน์ ได้ขอความช่วยเหลือไปยังโป๊ปเกรกอรีที่ 7 แห่งกรุงโรม ให้ชาวคริสเตียนปราบเติร์ก ซึ่งสันตะปาปาก็ตอบรับการขอความช่วยเหลือ เพราะนั่นเท่ากับว่าจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์เป็นผู้นำของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ยอมรับอำนาจของสันตะปาปา ซึ่งเป็นผู้นำของนิกายโรมันคาทอลิกโดยสิ้นเชิง พระสันตะปาปาได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด
หากเราพิจารณาในวงแคบลงมาแล้ว ในความรู้สึกของชาวยุโรปนั้น ถูกรุกรานจากพวกตะวันออก คือ โลกมุสลิมมาโดยตลอด นับตั้งแต่ ค.ศ. 632 เป็นต้นมา อิสลามได้ขยายอำนาจเข้าไปในเขตแดนที่ตะวันตกเคยมีอำนาจ เช่น ซีเรีย อียิปต์ แอฟริกาเหนือ ตลอดจนคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) ซ้ำยังคุกคามจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ในโลกตะวันตกคือไบแซนไทน์ และสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่สถาบันที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมตะวันตกและคริสต์ศาสนา นั่นก็คือกรุงโรม โดยมุสลิมสามารถยึดครอบครองบางส่วนของอิตาลี ตลอดสมัยนี้การค้ากับตะวันออก ตกอยู่ในมือของอิสลาม สงครามครูเสดจึงเป็นความพยายามของชาวตะวันตกที่จะล้มอำนาจของตะวันออกที่เป็นมุสลิมหลังจากที่แพ้มาโดยตลอด
แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปเดินทางฝ่าอันตรายไปยังโลกอิสลาม คือ กษัตริย์ฝรั่งเศสและเยอรมันต้องการดินแดนเพิ่ม บรรดาอัศวินและขุนนางต้องการผจญภัยแสดงความกล้าหาญตามอุดมคติของอัศวินที่ดี พวกทาสต้องการเป็นอิสระ เสรีชนต้องการความร่ำรวยและแสดงความศรัทธาต่อศาสนารวมทั้งความพยายามของ พระสันตะปาปาในอันที่จะรวมคริสต์ศาสนานิกายออร์โธดอกซ์ให้เข้ากับนิกายโรมันคาทอลิก ภายใต้การบังคับบัญชาของตนแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับสมัยนั้นอำนาจของอิสลามเองก็ได้อ่อนแอลงเนื่องจากความแตกแยกภายใน คือ ภายหลังที่ซัลจู๊คเสื่อมอำนาจลง โลกอิสลามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ปราศจากศูนย์กลางอีกครั้ง คอลีฟะฮฺแห่งฟาฏีมียะฮฺเองก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและพยายามจำกัดอำนาจของตนอยู่เฉพาะในอียิปต์เท่านั้น
พระสันตะปาปาได้ทำการเรียกร้องให้ทำสงครามครูเสด กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องทำเพราะเป็นคำสั่งของพระเจ้า แต่ทว่าเกรกกอรีที่ 7 ได้เสียชีวิตลงเสียก่อนที่จะปฏิบัติตามสัญญาในปี ค.ศ. 1095 จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ได้ขอร้องทำนองเดียวไปยังพระสันตะปาปาคนใหม่ คือ เออร์บานที่ 2 ซึ่งพระสันตะปาปาคนนี้ก็ได้ตอบรับการเรียกร้องทันที พระสันตะปาปาได้จัดประชุมกันที่เคลมองต์ (Clermont) ในประเทศฝรั่งเศส เรียกร้องให้ประชาชนทำสงครามครูเสดเพื่อกอบกู้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ คือ กรุงเยรูซาเล็มคืนจากอิสลาม..คำปราศรัยของพระสันตะปาปามีใจความว่า
"ด้วยบัญชาของพระเจ้า ให้เจ้าหยุดยั้งการทำสงครามกันเอง และให้เขาเหล่านั้นหันมาถืออาวุธมุ่งหน้าไปทำลายผู้ปฏิเสธ (มุสลิม)"
ปรากฏว่าพระสันตะปาปารวบรวมคนได้ถึง 150,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสไปร่วมทำสงครามครูเสด จะเห็นว่าในบรรดาชายชาวยุโรปที่ต้องการทำสงครามครูเสดมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ ชาวฝรั่งเศส ดังนั้น การจัดตั้งรัฐต่าง ๆ ในตะวันออกกลางภายหลังที่พวกครูเสดสามารถปกครองดินแดนนี้จึงเป็นรัฐของฝรั่งเศส บาทหลวง บรรดาเจ้าชาย อัศวิน และนักรบล้วนแต่เป็นชาวฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่
ในขณะที่ทัพครูเสดกำลังจะยกมารบกับอิสลาม ก็ได้มีกองทัพของประชาชนผู้มีศรัทธาแรงกล้าเดินทัพมาก่อนแล้วในปี ค.ศ. 1094 ตามคำชักชวนของ ปีเตอร์ นักพรต (Peter of Amines) เขาผู้นี้ได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป เพื่อป่าวประกาศเรื่องราวการกดขี่ของชาวเติร์กต่อชาวคริสเตียนในปาเลสไตน์ ซึ่งหาได้เป็นความจริงไม่ กล่าวได้ว่ากองทัพนี้เป็นกองทัพของประชาชนมากกว่ากองทัพของทหารที่จะไปทำสงคราม เพราะมีผู้นำที่เป็นบาทหลวงและสามัญชนธรรมดาปราศจากความรู้ในการรบ และมิได้มีอาวุธที่ครบครัน ปรากฏว่ากองทัพนี้ส่วนใหญ่มาถึงเพียงฮังการี เพราะเมื่อขาดอาหารลงก็จะทำการปล้นสะดม จึงถูกประชาชนแถบนั้นต่อต้าน และส่วนใหญ่จะตายเสียตามทาง ที่เหลือรอดมาซึ่งมีจำนวนเล็กน้อย เมื่อเผชิญกับพวกซัลจู๊คจึงถูกตีแตกพ่ายกลับไป สงครามครั้งนี้มิได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนใด ๆ นอกจากจะกระตุ้นให้ชาวยุโรปมีความเกลียดชังมุสลิมมากขึ้นไปอีก
สงครามครูเสดเพื่อยึดครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ.1096 โดยมีอัศวินประมาณ 50,000 คนเข้าร่วม ส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส เส้นทางที่ทหารครูเสดจะต้องเดินทางมานั้นมีระยะทาง 2,000 ไมล์ ทหารครูเสดที่มาในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต แห่งนอร์มังดี ทหารบางคนเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนา บางคนเข้าร่วมเพราะต้องการผจญภัยหรือแสวงโชค ใน ค.ศ.1099 ทหารครูเสดได้มาถึงด้านนอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม ฝ่ายมุสลิม (ซึ่งพวกทหารครูเสดเรียกว่า ซาราเซ็น) ได้ต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทหารครูเสดปิดล้อมเมืองอยู่เดือนกว่าจึงฝ่ากำแพงเข้าไปได้และเมื่อเข้าเมืองได้ ทหารคริสเตียนก็ฆ่ามุสลิมทุกคนที่พวกเขาพบ เพราะทหารคริสเตียนถือว่า ชาวมุสลิมทุกคนคือผู้ไม่ศรัทธาในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า
ใน ค.ศ. 1144 มุสลิมยึดเมืองอีเดสซากลับคืนมาได้ สงครามครูเสดครั้งที่สองเกิดขึ้นเพราะพวกยุโรปต้องการที่จะยึดเยรูซาเล็มกลับคืนมา แต่ต้องประสบความล้มเหลว ต่อมาใน ค.ศ.1187 ผู้นำมุสลิมคนใหม่คือ เศาะลาฮุดดีน (ซาลาดิน) ได้โจมตีอาณาจักรของคริสเตียนโดยเริ่มจากสงครามฮิตตินก่อน หลังจากนั้นก็เข้าไปยึดเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนมาได้ ทหารมุสลิมต้องการที่จะประหารชาวคริสเตียนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง แต่ซาลาดินไม่อนุญาต สงครามครูเสดครั้งที่สามเกิดขึ้น เพราะคริสตจักรมีความต้องการที่จะขับไล่ซาลาดินออกจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
หนึ่งในบรรดาแม่ทัพที่นำทหารครูเสดมาในครั้งนั้นคือ กษัตริย์ริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษหรือที่รู้จักกันดีว่า "ริชาร์ดใจสิงห์" (Richard the Lionheart) ได้ทำสงครามกับซาลาดินสงครามนองเลือดจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ทหารของซาลาดินเข้มแข็งกว่า ดังนั้น สิ่งที่กษัตริย์ริชาร์ดทำได้ ก็คือการทำสัญญากับ ซาลาดินใน ค.ศ.1192 สัญญานี้ระบุว่าทำพวกคริสเตียนอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ได้ เช่น เมืองอัครา บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และไปเยี่ยมแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ได้ หลังจากนั้นอีกหนึ่งศตวรรษ มุสลิมก็สามารถยึดเมืองคริสเตียนต่าง ๆ กลับคืนมาได้ กองทหารครูเสดได้ถูกส่งมาช่วยเมืองเหล่านี้หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
จากคุณ |
:
jiks2006
|
เขียนเมื่อ |
:
วันเกิด PANTIP.COM 55 09:52:28
|
|
|
|
|