 |
จาก Note ใน Facebook ของรุ่นน้องภาควิชาคณิตศาสตร์มหาวิทยาลัยที่ผมจบมานะครับ
เส้นทางสายบริสุทธิ์ by วิภัช ไกรสราวุฒิ
เมื่อหลายวันก่อนผมตอบคำถามของน้องกลุ่มที่มาเรียนด้วยกันกับผมที่อุดรธานี (ผมสอนเพื่อฆ่าเวลารอน้ำท่วมมันหายไปก่อน) เกี่ยวกับเรื่องแนะแนวคณะที่เรียน น้องบางคนเค้าถามว่า "เรียนคณะวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่เป็นอาจารย์หรือนักวิจัย จบไปแล้วจะไปทำอะไร?" ผมเลยตอบด้วยคำถามว่า "แล้วหนูคิดว่าเรียนคณะแพทย์ ถ้าจบไปแล้วไม่เป็นแพทย์ จะไปทำอะไรอ่ะ?" หนึ่งในนั้นก็พูดเป็นประมาณว่า อยากทำอะไรกว้างๆ ผมก็ไม่รู้ว่าคำว่า "กว้าง" ของเค้านี่หมายถึงอะไร? ผมเปรียบเทียบให้เค้าเข้าใจง่ายๆว่า คณะที่เรียน แบ่งเป็นหลักๆสองสาย หนึ่งคือสาย "วิชาการ" เป็นสายที่เรียนจบไปแล้ว "ไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไร มันดูไปทำอะไรก็ได้หมดเลย" เช่นพวกวิทยาศาสตร์, อักษรศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ การเรียนของสายนี้จะเป็นเชิงหลักการ เพื่อเข้าใจแก่นของวิชา สองคือสาย "วิชาชีพ" เป็นสายที่เรียนจบไปแล้ว "รู้ทันทีว่าจะไปทำอะไร มีงานทำแน่นอน" เช่นพวกแพทย์, วิศวะ, บัญชี การเรียนของสายนี้จะเรียนรู้วิชาต่างๆ เพื่อนำวิชาที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสายวิชาของตน ผมก็เลยบอกไปเล่นๆว่า ถ้าคำว่า "กว้าง" หมายถึงมีอาชีพรองรับหลายๆอาชีพ พวกแพทย์ หรือวิศวะนี่จะแคบสุดชีวิตเลย เพราะว่าคณะแรกเรียนจบก็ต้องเป็นหมอ คณะหลังเรียนจบก็ต้องเป็นวิศวะ ไม่ได้มีอาชีพอื่นรองรับ (ถ้าเรียนจบวิศวะแล้วไปต่อ MBA ที่อื่นก็ว่าไปอย่าง) พวกสายวิชาการอย่างผมจะต่างจากสายวิชาชีพ... ตรงที่ว่ามันกว้างมาก มากจนเกินไป จนไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะไปทำอะไรดี?? เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้มันคือ "หลักวิชา" ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถเราว่าจะเอาไปปรับใช้กับอะไรได้ เพราะฉะนั้น ผมก็บอกน้องไปเล่นๆว่า เรียนจบคณิตศาสตร์ งานอะไรก็ตามที่ "มีตัวเลขเข้าไปเกี่ยวข้อง" พวกเราทำได้หมด (ฟังดูงี่เง่าไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงนิดๆเช่นกัน แล้วแต่ความเก่งของคนที่จบไปด้วย) ตอนนี้ผมก็เลยมีคิดต่อยอดว่า แล้วถ้าคนเปรียบเทียบว่า คณิตศาสตร์ประยุกต์มีประโยชน์ เอาไปใช้งานได้หลากหลาย คณิตศาสตร์บริสุทธิ์ไร้ประโยชน์ เรียนไปแล้วไม่เห็นจะได้เอาไปใช้ทำเหวอะไรเลย จริงๆผมมักถูกถามจาก "คนทั่วไป" อยู่เสมอว่า "เรียนคณิตศาสตร์บริสุทธิ์แล้วเอาไปทำอะไรได้" ซึ่งตอบตามตรงผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเอาไปทำอะไรได้ นอกจากจะรอให้คนทางสายประยุกต์เอาไปปรับใช้กับทางวิศวกรรม ทางฟิสิกส์ ทางเคมี หรืออื่นๆกันเอาเอง วันนี้ผมก็เพิ่งอ่าน The Road Ahead ที่ Bill Gates เขียนไว้เมื่อราวๆปี 1995 (สิบกว่าปีที่แล้ว) ในนั้นบิลล์ เกตส์ก็โดนถามอยู่เหมือนกัน ดังที่ผมคัดลอกเนื้อความบางส่วนมาลงไว้ตรงนี้ "คอมพิวเตอร์จะมีบทบาทในการช่วยผู้ด้อยสิทธิในเซนต์หลุยส์ หรือน้องผู้หิวโหยในเอธิโอเปียได้หรือ แน่นอนข้อขัดแย้งนี้จะเป็นเงาตามติดไปกับระบบเครือข่าย จนกว่ามันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้เห็น เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ผู้คนจำนวนมากคาดหวังว่าเครื่อง PC และอินเตอร์เน็ตจะสามารถแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ แล้วเขาก็ผิดหวัง ผมคิดถึงผู้คนสมัยกูเตนเบิร์กที่พูดว่า 'เครื่องพิมพ์นี้ดีอย่างไร มันสามารถทำให้คนอิ่มท้องได้ หรือมันสามารถทำให้คนหายป่วยไข้ได้ไหม มันจะทำให้โลกมีความยุติธรรมมากขึ้นได้หรือเปล่า' และคุณคงจะเห็นได้ในปัจจุบันว่าการพิมพ์ก่อให้เกิดสิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นพูดมาทั้งหมด แต่ว่าในปีค.ศ. 1450 คงจะเป็นการยากที่จะพูดเช่นนั้น " ขอทวนอีกครั้งนะครับ "แต่ว่าในปี 1450 คงจะเป็นการยากที่จะพูดเช่นนั้น" ผมพบว่าอัจฉริยะบางคนคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำก็จริง แต่ก็แค่ในช่วงไม่กี่ีปีเท่านั้น เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงด้วยความสลับซับซ้อนมหึมาเป็นอย่างมาก ความซับซ้อนที่ว่า ทำให้การคาดการณ์อนาคตทำได้ยากยิ่ง (ลองนึกถึง key word ว่า Chaos Theory หรือ Butterfly Effect ดูนะครับ) ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากก็คือ... คนปกติทั่วไปไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ไกล แค่คาดว่าอะไรมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในปีหน้ายังทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การถามถึง "ประโยชน์ของคณิตศาสตร์บริสุทธิ์" ก็เป็นคำถามที่ตอบยากมากเช่นกัน ใครจะไปรู้ว่าวันนึง ทฤษฎีจำนวนที่เริ่มศึกษาค้นคว้าตั้งแต่ยุคยูคลิด จะถูกนำมาใช้ในทฤษฎีถอดรหัส (Coding Theory) หรือเลขฐานสองที่รู้จักกันมานาน จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการเขียนซอฟแวร์คอมพิวเตอร์
ทฤษฎีที่นักวิจัยสายบริสุทธิ์ค้นพบ มันไม่ได้มองออกกันง่ายๆว่ามันจะเอาไปใช้ทำอะไรได้ และต่อให้รู้ว่าเอาไปใช้ทำอะไรได้ มันก็ไม่ง่ายที่จะอธิบายให้คนทั่วไปที่ไม่รู้ศาสตร์นั้นๆเข้าใจเช่นกัน
พอตอบว่า "คิดขึ้นมาเพราะว่าอยากรู้ อยากค้นพบเฉยๆ" ก็ไม่พอใจกันอีก (และพวกที่ไม่พอใจทุกคนก็ไม่ได้เรียนสายบริสุทธิ์ซะด้วยสิ ;) เป็นข้อสังเกตเล่นๆนะครับ)
ตอนนี้ปัญหาสายบริสุทธิ์ยิ่งชอกช้ำขึ้นไปอีก ตอนที่ผมอ่าน Science Illustrated ฉบับภาษาไทยเล่มหนึ่ง มันพูดถึงปัญหาว่า เราควรจะศึกษาฟิสิกส์สายบริสุทธิ์อีกต่อไปหรือไม่ หรือควรจะหันมาศึกษาเฉพาะนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆที่เห็นได้ชัดว่าใช้งานได้จริงก็พอ? เพราะว่างบประมาณที่ใช้ในการทำวิจัยมันแพงเหลือในสาขาบางสาขา เช่น ฟิสิกส์นิวเคลียร์ (หรือ High Energy Physics อะไรซักอย่าง) ผมเข้าใจว่า คนที่ให้ทุนวิจัยก็โดนสังคม (พวกคนทั่วไปทั้งหลายนั่นแหละ) กดดันเหมือนกัน เพราะภาษีที่พวกรากหญ้าจ่ายมา เค้าก็คงอยากให้เอาไปสร้างอะไรที่เห็นได้ชัด ใช้ได้จริง มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มากกว่าจะมาให้ทุนไปค้นคว้าคิดทฤษฎีที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ และดูไม่ออกว่ามีประโยชน์ตรงไหนกับเค้าด้วย "เส้นทางสายบริสุทธิ์" จึงเป็นเส้นทางที่คนที่อยากเรียนต้องหน้าด้านหน้าทนเดินกันต่อไป... โดยที่ตัวเองก็คาดการณ์ไม่ได้เหมือนกันว่า สิ่งที่ตนค้นพบ จะเอาไปใช้ประโยชน์ใน "โลกความจริง" ได้อย่างไร... ผมขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ภูมิใจว่าคณิตศาสตร์บริสุทธิ์เอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้ (นักคณิตศาสตร์บางคนเช่น G.H. Hardy ภูมิใจในความไร้ประโยชน์ของ pure math นะครับ) ผมคิดว่ามันก็ดี ถ้ามันจะใช้ประโยชน์ ทำอะไรออกมาได้ แต่ผมก็ไม่ได้โฟกัสตรงนั้นเป็นจุดสำคัญ ดังนั้น หากว่าคณิตศาสตร์ที่ผมศึกษา ใช้ประโยชน์ได้จริง ผมก็ดีใจด้วย แต่ถ้ามันยังดูออกยากว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ผมก็ไม่คิดจะเลิกศึกษาด้วยเหตุผลแค่นี้หรอกนะครับ ผมคงไม่ผิดที่ชอบความสวยงามของคณิตศาสตร์ และอยากอยู่กับมัน โดยมองว่ามันเป็นศิลปะ มากกว่าเป็นวิทยาศาสตร์... หรือผมไม่มีสิทธิมองอย่างนี้กันแน่ครับ...
จากคุณ |
:
Seiki
|
เขียนเมื่อ |
:
16 ต.ค. 55 01:20:26
|
|
|
|
 |