Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
นิยามคุณภาพเด็กไทย 'โง่ เลว ทุกข์' ภัยเงียบที่สะเทือนความมั่นคงของชาติ [ย้ายจาก : ] ติดต่อทีมงาน

“เก่ง ดี มีความสุข”


3 คำดังกล่าว เป็นเป้าหมายหลักในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ คือ เป็นคนเก่ง ไม่ว่าจะด้านวิชาการหรือวิชาชีพ เป็นคนดี คือมีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสุข คือมีความภูมิใจในตนเองและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ ทว่าวันนี้หลังจากผ่านมา 13 ปี...ทุกอย่างกลับกลายเป็นตรงกันข้าม

ในด้านความเก่ง ผลการทดสอบทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นO-Net Admission หรือ GAT-PAT เด็กไทยมีค่ามาตรฐานที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ขณะที่วิชาอื่นๆ ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันมากนัก ไม่นับปัญหาค่าสติปัญญา (ไอคิว) ที่ต่ำลงเรื่อยๆ ส่วนด้านความดี เด็กรุ่นใหม่ถูกมองว่าไร้ระเบียบวินัย ไร้ความอดทน และเห็นแก่ตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน ส่วนความสุขนั้น ก็พบว่าเด็กสมัยนี้มีความทุกข์ เครียด และซึมเศร้ามากขึ้น บางคนหันไประบายออกด้วยวิธีผิดๆ เช่น การถ่ายภาพโป๊ของตนบนโลกออนไลน์เพื่อเรียกร้องความสนใจ ดังที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งเหล่านี้หากมองในแง่ความมั่นคงของชาติแล้วนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังการสะท้อนปัญหาของเด็กไทยจากหลายบุคคลที่ศึกษาเรื่องนี้มาจริงจังอย่างยาวนาน เพื่อหวังว่าจะมีผู้เห็นความสำคัญจนนำไปสู่การแก้ไข ทั้งในระดับบุคคลและระดับชาติบ้าง

“การศึกษาไทย” ยิ่งแก้ไข...ทำไมยิ่งเละ

“เราพยายามให้เด็กรู้ทุกเรื่องอย่างละนิดละหน่อย แล้วโตขึ้นอยากไปเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรเดี๋ยวก็ไปหาเอาเอง เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราปูพื้นให้เด็ก เราทำกันไม่ถูกเวลา ไม่ถูกสถานะ” เป็นเสียงสะท้อนจาก พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการพัฒนาการเด็ก นายกสมาคมนักวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ถึงปัญหาความตกต่ำของคุณภาพเด็กไทย โดยสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง มาจากการเรียงลำดับการศึกษาที่ผิดขั้นตอน

พญ.จันทร์เพ็ญ อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ คือ บุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูนั้นไม่เข้าใจในพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย อย่างเด็กเล็กนั้นควรจะเน้นการท่องจำ คือ จดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อให้มีข้อมูลเก็บไว้ในสมอง ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นทำความเข้าใจต่อไป ขณะที่เด็กโตหรือวัยรุ่นนั้นกลับถูกบังคับให้ท่องจำเพื่อที่จะนำไปใช้ในการสอบ โดยให้ความสำคัญกับความเข้าใจและการนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก

“ไปถามได้เลย เด็กจบ ม.6 ไปเข้ามหา’ลัย อาจารย์ที่สอนปี 1 บ่นกันหมดว่าต้องสอนใหม่ แสดงว่า 12 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เรียนอะไรมาเลยหรือ ไม่ใช่หรอก...แต่วิธีการเรียนมันไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่มนุษย์เรียน คือให้กระบวนการสอนที่ผิดๆ พอไม่ใช่เวลาที่ควรจะเรียนแบบท่องก็ให้เรียนแบบท่อง แต่พอเวลาที่ควรจะเรียนแบบท่องเรากลับไม่ให้ท่อง แต่ให้ไปทำอย่างอื่น” พญ.จันทร์เพ็ญ กล่าว

อีกด้านหนึ่ง มีบางความเห็นตั้งข้อสังเกตถึงการเรียนการสอนของไทยที่หนักเกินไป โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ติดตามปัญหาคุณภาพของเด็กไทย และพบว่าสถิติทางการศึกษาของเด็กไทยเริ่มตกลงอย่างมากตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากเด็กไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตนอยากเรียน เนื่องจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลในสมัยนั้น ได้ยกเลิกการแบ่งสายวิทย์-สายศิลป์ ทำให้เด็กต้องแบกรับภาระในการเรียนที่มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยเฉพาะวิชาที่ตนไม่ชอบและไม่ถนัด

“ปี 2548-2549 มันเกิดอะไรขึ้น เกิดจากคุณอดิศัย (อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการในสมัยนั้น) ยุบรวมสายวิทย์กับสายศิลป์ คือให้เด็กเรียนเยอะขึ้น แล้วยังมี O-Net GPA และอะไรอีกมากมาย เมื่อเรียนเยอะขึ้น แล้วเด็กจะเก่งได้ยังไง ในเมื่อเขาไม่ได้เรียนในวิชาที่ชอบ เด็กสายศิลป์ต้องไปเรียนวิทย์ เด็กสายวิทย์ก็ต้องไปเรียนศิลป์ ซึ่งมันเป็นการทำลายศักยภาพเด็ก แทนที่จะส่งเสริมศักยภาพเด็กให้ถูกต้องตามหลักการ ถ้าเป็นแบบนี้อีก 10 ปีก็ยังเหมือนเดิมถ้าระบบการศึกษาของเราไม่เปลี่ยน” ประธานสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ กล่าวด้วยความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจ

ไร้คุณธรรม เพราะไร้ซึ่ง “แบบอย่างที่ดี”

นอกจากปัญหาความรู้ทางการศึกษาของเด็กไทยที่ต่ำลงเรื่อยๆ แล้ว ปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มจำนวนและระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดย นางสุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าปัจจุบันสังคมไทยกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติของปัญหาการใช้ความรุนแรง เนื่องจากเรากำลังเห็นความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะภาพที่ปรากฏบนสื่อบันเทิงโทรทัศน์ เช่น การเล่นตลกแบบเจ็บตัว ใช้ข้าวของตีหัวกันแล้วคนดูก็หัวเราะชอบใจ

เช่นเดียวกัน พญ.จันทร์เพ็ญ กล่าวว่า สังคมไทยนั้นขาดต้นแบบที่เหมาะสม และสนับสนุนสื่อประเภทบันเทิงมากเกินไป จนวิธีคิดของคนไทยกลายเป็นการใช้ชีวิตโดยประมาท ประเภทว่าเด็กโง่ก็ปล่อยไป หรือพ่อแม่ไม่ดูแลลูกก็ปล่อยผ่านไป โดยไม่เคยรู้เลยว่าการพัฒนาของเด็กนั้นมีเวลาที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัย 6 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะกำหนดชะตากรรมของเด็กแต่ละคนไปตลอดชีวิต แต่พ่อแม่จำนวนมากกลับนำลูกไปฝากไว้กับโทรทัศน์ ซึ่งเต็มไปด้วยรายการที่ทำให้เด็กเคยชินกับความรุนแรง สิ่งเหล่านี้จะกำหนดวงจรระบบประสาทของเด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการจะไปแก้ไขในภายหลังนั้นเป็นไปได้ยากมาก จนถึงเป็นไปไม่ได้เลย

“เราไม่มีต้นแบบ พ่อแม่ก็เป็นต้นแบบไม่ได้เพราะทั้งวันต้องไปทำงาน เอาเงินมาซื้อโน่นนี่นั่นให้ลูก แต่ไม่มีเวลาสอนลูกจริงๆ ส่วนครู...ต้องลองถามกระทรวงศึกษาฯ ว่าครูเป็นต้นแบบได้ไหม ถ้าไม่ได้ ในสังคมผ่านสื่อ ต้นแบบจึงไปอยู่ที่ดาราที่ดังๆ กับนักร้อง ทุกคนก็เลยไปแข่งกันเป็น Star กันหมด เราก็จะไม่มีคนสืบทอดอาชีพที่จำเป็นกับสังคม นี่เป็นค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกระแสบริโภคนิยม ที่เราไม่มีมาตรการในการสกัดกั้น” พญ.จันทร์เพ็ญ กล่าว

“พ่อแม่-สื่อมวลชน” ทางแก้ที่สำคัญที่สุด

ในสังคมไทยมีความเชื่อหนึ่งที่ปรากฏเป็นสำนวนว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” ซึ่งหมายถึงพ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกมักจะเป็นอย่างนั้น โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ประการแรกเด็กไทยไม่มีการฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่ในครอบครัว ซึ่งวินัยนั้นถือเป็นเบื้องต้นของการมีสมาธิ ประการที่สอง การให้ความสำคัญกับสตรีตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง เพราะจะเป็นแม่คนในอนาคต รัฐจึงควรลงทุนด้านการศึกษากับสตรีให้มาก เพราะจากการสำรวจ พบว่าแม่ที่มีการศึกษาสูง มักจะเลี้ยงลูกได้ดีกว่าแม่ที่มีการศึกษาต่ำ

ขณะที่ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบการประกันคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ผ่านการสอบวัดผลชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น O-Net หรือ GAT-PAT กล่าวว่าไม่ว่าจะ IQ (ความฉลาดทางสติปัญญา) หรือ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ต้องเริ่มจากที่บ้านก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ หรือการเลี้ยงดูก็ตาม ขณะที่สังคมและสื่อมวลชนควรจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เด็กและเยาวชนมีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วยอีกทางหนึ่ง

ปิดท้ายด้วย พ.ท.พญ.กมลพรรณ เสนอแนะว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่หลักสูตรการศึกษาจะมีการสอนวิชาการเป็นพ่อแม่ที่ดีตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตั้งแต่มัธยมขึ้นไป รวมไปถึงวิชาการพัฒนาสมองที่สามารถเข้าใจได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เป็นประโยชน์กับเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับครูและผู้ปกครองอีกด้วย เพราะจะได้รู้ว่าอะไรเป็นการพัฒนาสมอง และอะไรเป็นสาเหตุในการทำลายสมอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ยากแต่อย่างใด

“ถ้าเราสามารถบรรจุหลักสูตรนี้ ต่อไป 5 ปี 10 ปี เด็กที่จบไปก็จะเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพ ส่วนพ่อแม่รุ่นก่อนหน้า อาจจะมีมาตรการอื่นๆ อย่างเวลาจดทะเบียนสมรส ควรจะมีคู่มือพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนครอบครัวหรือการเลี้ยงลูก อีกประเด็นหนึ่ง ทุกคนทุกเช้าก็จะบริโภคสื่อ ดังนั้นสื่อต่างๆ ก็น่าจะช่วยเผยแพร่ข้อมูลการเลี้ยงลูกที่ถูกทางให้แก่ประชาชน” พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ปัญหาคุณภาพเด็กไทยที่ตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น IQ หรือ EQ แต่เดิมนั้นเรามุ่งเน้นไปที่การแก้ไขภาวะขาดสารอาหาร อันนำไปสู่พัฒนาการต่างๆ ของร่างกายและสมองที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นการแก้ไขที่ถูกต้องในส่วนหนึ่ง หากแต่ปัญหาดังกล่าวมิได้มีเพียงมิติทางโภชนาการมิติเดียวเท่านั้น แต่ยังมีมิติของการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ไม่ว่าจะโดยครอบครัว ระบบการศึกษา หรือแม้แต่กระแสสังคมที่มักถูกชี้นำโดยสื่อแขนงต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องถูกนำมาบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเด็กไทยจะได้กลับมา “เก่ง ดี มีความสุข” อย่างที่ควรจะเป็นตามหลักการเสียที

SCOOP@NAEWNA.COM

ที่มา :

http://www.naewna.com/scoop/26292

----------------------

เห็นหลายอาทิตย์ก่อนบ่นกัน อ่านอันนี้ยิ่งเครียดกว่า เอิกๆ

จากคุณ : Siam Shinsengumi
เขียนเมื่อ : 16 ต.ค. 55 10:39:45 A:209.141.35.164 X: TicketID:360979




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com