การลำดับชั้นตะกอน
ภาพแสดงลักษณะการลำดับชั้นหินบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ในบริเวณนี้พบว่าจากการเจาะศึกษาตะกอน สามารถแบ่งตะกอนได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
ตะกอนที่มีลักษระไม่ชัดเจนแต่มีอายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย โดยพบว่าตะกอนกลุ่มนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างสุดของหลุมเจาะ โดยมีลักษณะเป็นตะกอนแข็งเหนียวของทรายแป้งและทรายที่มีเม็ดตะกอนขนาดเล็ก มีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนบางส่วน เราจึงพบชั้นที่เป็นศิลาแลงปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบชั้นตะกอนที่มีการกระจายตัวของ เม็ดควอทซขนาดใหญ่และพบลักษระของการวางตัวของชั้นตะกอนแบบขนานปนกับแบบลิ่ม ซึ่งจากการหาอายุของตะกอนโดยใช้คาร์บอนไอโซโทบพบว่าตะกอนชั้นนี้มีอายุประมาณ 43,500-50,500 ปี ซึ่งตะกอนกลุ่มนี้วางตัวอยู่ใต้ ตะกอนที่มีอายุสมัยโฮโลซีนและพบลักษณะรอยชั้นไม่ต่อเนื่องด้วย
ตะกอนกลุ่มที่เกิดการสะสมตัวบริเวณหุบเขาในช่วงน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น โดยตะกอนกลุ่มนี้วางตัวอยู่บนตะกอนกลุ่มแรกโดยพบลักษณะชัดเจนที่หลุมบีที 2 ซึ่งแสดงการตัดเข้ามาของหุบเขา ในช่วงยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายหรือเมื่อประมาณ 18,000 ปีมาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นพบว่าเกิดการละลายของธารน้ำแข็งทำให้มีการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วประกอบกับการตัดเข้ามาของหุบเขาในบริเวณนี้ทำให้มีการเพิ่มพื้นที่สะสมตัวของตะกอนจึงพบการสะสมตัวของตะกอนเป็นปริมาณมากซึ่งประกอบด้วยตะกอนทรายขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตะกอนขนาดทรายแป้ง และตะกอนโคลน บางส่วนพบว่ามีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเกิดเป็นชั้นบางๆ ของศิลาแลง บางส่วนเกิดการพอกเป็นชั้นของคาร์บอเนต พบการวางตัวของชั้นตะกอนทั้งแบบขนานและแบบทำมุม นอกจากนี้พบซากบรรพชีวินหลายชนิดที่สามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนได้เป็นแบบทะเล แบบน้ำกร่อยและแบบน้ำจืด
ตะกอนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสมัยโฮโลซีน โดยตะกอนกลุ่มนี้แสดงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการตกสะสมตัวที่แสดงการพอกของตะกอนในทิศออกสู่ทะเล โดยเราจะพบว่าเม็ดตะกอนมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อใกล้ระดับพื้นผิว โดยตะกอนที่พบมีขนาดหลากหลาย เช่น ตะกอนทรายขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตะกอนทรายแป้ง ตะกอนโคลน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบซากบรรพชีวิน เช่น เศษชิ้นส่วนของเปลือกหอย แพลงตอน ไดอะตอม เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาซากบรรพชีวินเหล่านี้พบว่าแสดงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมสอดคล้องกับการพอกของตะกอนในทิศออกสู่ทะเล