เอดมันด์ แฮลลีย์ เป็นคนแรกที่พบว่าดาวหางฮัลเลย์โคจรกลับมาให้เห็นบนท้องฟ้าทุก ๆ 75-76 ปี หลังจากที่เขาคำนวณวงโคจรของดาวหาง 24 ดวงที่มาปรากฏระหว่างปี ค.ศ. 1337-1698 และพบว่าในจำนวนนี้มีดาวหางกลุ่มหนึ่งมีวงโคจรใกล้เคียงกันมาก และพยากรณ์ว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาในปี ค.ศ. 1758 แต่หลังจากนั้นแฮลลีย์ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1742 ก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะกลับมาตามที่เขาคาดการณ์ไว้ ซึ่งนับเป็นดาวหางดวงแรกที่เราพบว่าดาวหางก็โคจรรอบดวงอาทิตย์อย่างเป็นคาบเช่นเดียวกับดาวเคราะห์
เมื่อนักดาราศาสตร์ทราบวงโคจรที่แม่นยำขึ้นและตรวจสอบจากบันทึกเก่า ๆ ในอดีตจึงพบว่าชาวจีนได้บันทึกการปรากฏของดาวหางฮัลเลย์ไว้เมื่อปี 240 ก่อนคริสต์ศักราช นับว่าชาวโลกได้ยลโฉมดาวหางฮัลเลย์มานานกว่า 2 สหัสวรรษแล้ว และในปี ค.ศ. 837 ก็ได้ชื่อว่าเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์ผ่านใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่างเพียง 5.1 ล้านกิโลเมตร (ประมาณ 13 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์) ในปีนั้นดาวหางฮัลเลย์สว่างไสวและมีหางทอดยาวออกไปถึง 60 องศา ซึ่งพบบันทึกเรื่องราวการมองเห็นดาวหางฮัลเลย์ทั้งในบันทึกของชาวจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และอาหรับ
แม้วงโคจรของดาวหางฮัลเลย์ไม่ได้ตัดกับวงโคจรของโลกโดยตรง (ปัจจุบันอยู่ห่างประมาณ 0.15 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 22 ล้านกิโลเมตร) แต่การที่เราสามารถมองเห็นดาวตกซึ่งเป็นอนุภาคที่มีต้นกำเนิดจากดาวหางฮัลเลย์ได้ แสดงว่าธารสะเก็ดดาวที่เกิดจากดาวหางดวงนี้ได้ถูกแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวเคราะห์จนทำให้มีเส้นทางตัดผ่านวงโคจรของโลก นอกจากฝนดาวตกนายพรานแล้ว ธารสะเก็ดดาวของดาวหางฮัลเลย์ยังมีวงโคจรผ่านใกล้โลกทำให้เกิดฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำในเดือนพฤษภาคมของทุกปีด้วย
จากคุณ |
:
nai_per
|
เขียนเมื่อ |
:
16 พ.ย. 55 22:21:52
|
|
|
|