ความคิดเห็นที่ 14
โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ พร้อมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงไฟฟ้าไทย ตลอดระยะเวลา ๙ ปีเศษ ที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ประมาณเกือบ ๔๐๐ คน ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ถูกใจผู้บังคับบัญชาบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ผู้ปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาโปรดปรานก็มีความสุขไปตามๆ กัน กลับเข้ามาที่เรื่องโครงการฯ ดีกว่า โดยมารู้จักโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับกว่าเขาสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออะไร และปัจจุบันความก้าวหน้าโครงการฯ แล้วเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์
โครงการโรงไฟฟ้าน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ตั้งงอยู่ระหว่างอำเภอสีคิ้วและอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ลักษณะของโครงการฯ ที่สำคัญประกอบด้วยโรงไฟฟ้าใต้ดิน อ่างพักน้ำบนเขา อ่างพักน้ำตอนล่าง (อ่างเก็บน้ำลำตะคองที่มีอยู่เดิม) อุโมงค์ส่งน้ำจากอ่างพักน้ำ บนเขาเข้าโรงไฟฟ้า อุโมงค์ท้ายน้ำจากโรงไฟฟ้าสู่อ่างเก็บน้ำตอนล่าง และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลด้านผลิตพลังงานไฟฟ้ารองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมีการดำเนินการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกับงานก่อสร้าง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายก่อสร้างพลังน้ำ ลักษณะของการทำงานของโรงไฟฟ้าประเภทนี้คือ นำพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. ในช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้ามาสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองของกรมชลประทานที่มีอยู่เดิม ไปพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนที่ก่อสร้างขึ้นบนเขา แล้วปล่อยลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงๆ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าให้เพียงพอและมั่นคงยิ่งขึ้น โดยวางแผนงานก่อสร้างโครงการฯ ออกเป็น ๒ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ได้ก่อสร้างอ่างพักน้ำบนเขาขึ้นใหม่ ขนาดกว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๖๐๐ เมตร สูงประมาณ ๕๐ เมตร สามารถพักน้ำได้สูงสุด ๑๐.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใต้ดินอยู่ลึกจาก ผิวดินประมาณ ๓๕๐ เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เครื่องที่ ๑ และเครื่องที่ ๒ กำลังการผลิตเครื่องละ ๒๕๐ เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต ๔๐๐ เมกะวัตต์ ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเข้าโรงไฟฟ้า จำนวน ๒ อุโมงค์ เชื่อมระหว่างอ่างพักน้ำบนเขาและโรงไฟฟ้าใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ เมตร ยาวอุโมงค์ละ ๖๕๑ เมตร ก่อสร้างอุโมงค์ท้ายน้ำ จำนวน ๒ อุโมงค์ เชื่อมระหว่างโรงไฟฟ้าใต้ดินและอ่างเก็บน้ำตอนล่าง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๘๐ เมตร ความยาวอุโมงค์ละ ๑,๔๓๐ เมตร
ลานไกไฟฟ้าและอาคารควบคุม ตั้งอยู่ระหว่างเขา ติดตั้งอุปกรณ์ลานไกไฟฟ้าชนิด GIS Indoor Type ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด ๒๓๐ เควี ๔ วงจร ต่อเนื่องกันสายส่งของสถานีไฟฟ้าแรงสูงสระบุรี ๒ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงนครราชสีมา ๒ ที่มีอยู่เดิมระยะทางที่ต้องเดินสายเชื่อมโยงประมาณ ๗.๕ กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างในระยะที่ ๑ เริ่มงานก่อสร้างในเดือนธันวาคม ๒๕๓๘ ปัจจุบันแล้วเสร็จ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยนายวิทยา คชรักษ์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ขนานเครื่องเข้าสู่ระบบไปเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ และ เครื่องที่ ๒ นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการ กฟผ. คนปัจจุบัน ขนานเครื่องเข้าสู่ระบบ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ที่ผ่านมาเช่นกัน รวมกำลังการผลิตระยะที่ ๑ ได้ ๕๐๐ เมกะวัตต์
สำหรับการก่อสร้างระยะที่ ๒ นี้ กฟผ. ได้ชะลอโครงการ ไว้ก่อน เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเปลี่ยนแปลงไป สำหรับประโยชน์ของโครงการฯ เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตให้ระบบ ในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak Load) ของแต่ละวันได้สูงถึง ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณปีละ ๔๐๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ระบบการทำงานแบบสะสมพลังงาน ช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยของแต่ละวันสูบน้ำไปพักไว้ในอ่างพักน้ำบนเขาและปล่อยกลับลงมาผลิตไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เพราะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังตามที่ได้ออกแบบไว้ ช่วยลดการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบ เนื่องจากการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบ เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินลงทุนต่อกำลังการผลิตต่ำกว่าโรงไฟฟ้าอื่นๆ
เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ให้การผลิตสูง แต่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างเพียง ๒ ตารางกิโลเมตร เท่านั้น ใช้ทรัพยากรน้ำของอ่างเก็บน้ำลำตะคองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปริมาณที่สูบขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขา จะถูกปล่อยลงมาที่อ่างเก็บน้ำตอนล่าง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสลับกันไปเช่นนี้ทุกๆ วัน โดยน้ำไม่สูญหายไปไหน เพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และเพิ่มพูนความรู้ อีกหนึ่งแห่งของจังหวัดนครราชสีมา นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อาที อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด่านเกวียน อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วัดศาลาลอย เป็นต้น
นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ริมอ่างลำตะคอง กฟผ. ได้จัดสร้าง สวนท้าวสุรนารี ขึ้นบนพื้นที่ ๗๖ ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมและเป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายในสวนประกอบด้วย สวนป่ากึ่งรุกขชาติ สวนหย่อม ประติมากรรมบายศรี ศาลาพักผ่อน ทางเดินและวิ่งออกกำลังกาย ลานออกกำลังกาย พร้อมซุ้มจำหน่ายสินค้า ซึ่งสวนท้าวสุรนารีนี้ได้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมแล้ว ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ เป็นโครงการที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มความมั่นคงในระบบการผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้าแล้วยังเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เจริญเติบโตและมีความมั่นคงสูงขึ้นในอนาคต
จากคุณ :
ทองเค (ทองเค)
- [
24 ม.ค. 47 20:49:46
]
|
|
|