CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ความจริง

    มาร่วมแจมในห้องนี้ได้สักพักนึงแล้ว ยังไม่เคยเปิดกระทู้กับเขาเลย

    มีหลายท่านที่ชวนกันคุยถึง "ธรรมชาติ" "ความจริง" ซึ่งเป็น "วิทยาศาสตร์"
    เลยอยากชวนกันมาวิเคราะห์ บทความนี้ของนายแพทย์ประสาน ต่างใจ

    เพื่อปรับระดับ ความจริง ความรู้ ความเข้าใจ ให้อยู่ในฐานเดียวกันได้อย่างเหมาะสม


    วิทยาศาสตร์ : จริง-จริงกว่า-จริงยิ่งกว่า
    18 กรกฎาคม 2547 จากนสพ.ไทยโพสต์
    หลายวันก่อนได้ไปร่วมกับทีมของผู้เขียน - ในฐานะเป็นผู้หนึ่งของทีม - แนะนำหนังสือธรรมชาติของสรรพสิ่ง หนังสือไทยเล่มแรกของความพยายามเชื่อมโยงความรู้ที่อธิบายธรรมชาติเป็นบูรณาการ
    ที่ทุกวันนี้เราเรียนกันแบบแยกส่วนเป็น "องค์ๆ" ธรรมชาติที่รวมทั้งหยาบและละเอียด ที่รวมสสาร ชีวิต มนุษย์ที่รวมกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ (spirituality) ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า "โพธิจิต" มีหมอประเวศ วะสี เป็นบรรณาธิการ และจัดจำหน่ายโดยบริษัทร่วมด้วยช่วยกัน ในช่วงพัก มีหนุ่มใหญ่คนหนึ่ง (ที่เป็นนักวิชาการระดับดอกเตอร์ โดยมีพื้นฐานเดิมเป็นวิศวกรจบจากเอ็มไอทีและจบปริญญาโทจากสแตนฟอร์ด และมาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกด้านเศรษฐศาสตร์การบริหาร) ได้เข้ามาแนะนำตัวเองพร้อมกับมอบหนังสือที่เขาเป็นผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษให้เล่มหนึ่ง ที่มีชื่อเรื่องที่แปลได้ว่า พลวัตแห่งธรรม (Woody Prieb : Dharmodynamics ; 2004) หลังกลับมาบ้านได้พลิกๆ ดูพบว่า โดยหลักการแล้วความคิดที่อยู่ข้างหลังหนังสือของวู้ดดี้ เพรียบ เล่มนี้ เป็นกึ่งอภิปรัชญาของศาสนาตะวันออก โดยเฉพาะศาสนาพุทธและกึ่งวิทยาศาสตร์ใหม่ที่คล้องจองกับความคิดของผู้เขียน - ที่ส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัวจากภายใน - ความคิดที่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นั่นเป็นที่มาและสาระสำคัญของความจริงแท้หรือความจริงที่อยู่หลังความจริงที่สามตามชื่อเรื่องของบทความวันนี้ (Absolute Truth or Ultimate Rcaloty) ด้วยซ้ำไป เบื้องหลังความคิดที่ทำให้ผู้เขียนนำมาเขียนตลอดเวลาที่ยาวนาน
    เรื่องของศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้น คือวินัยทางวิชาการหรือพื้นฐานขององค์ความรู้ที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือค้นหาความจริงแท้ที่ว่านั้น คำตอบต่อคำถามรวมของอะไร - อย่างไร และทำไม (มาจากไหนและจะไปไหน) ไว้ด้วยกัน คำตอบต่อความศรัทธาอันแรงกล้าต่อคำว่าพระเจ้าของศาสนาที่แทนความจริงแท้หรือนามธรรมด้วยสมมุติรูป และก็คำตอบต่อการรวมความจริงในทางรูปธรรมของความพยายามในทางวิทยาศาสตร์ ด้วยสูตรหรือสมการการรวมกันที่ยิ่งใหญ่ (the grand unified theory of everything) ศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่ก่อนนี้แม้เพียงทศวรรษก่อนๆ นี้ ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติของแต่ละสายจะต่างคนต่างหาด้วยหลักและวิธีภายใต้ขอบข่ายของตน แบบว่าแม้เผชิญหน้ากันก็ไม่ยอมสบตากัน แต่ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าจะดูว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่สำหรับนักวิชาการหรือนักปฏิบัติส่วนใหญ่ แต่สำหรับในวงการวิทยาศาสตร์ใหม่และวิชาการในบางสาขาที่ชายเขตแดนของความรู้ โดยเฉพาะทางด้านจิตและปรัชญาในระดับที่นำหน้าจริงๆ ของโลกในประเทศตะวันตกที่พัฒนามานานแล้ว สองวินัยที่เคยแปลกต่างจากกันที่พูดกันโดยหันหน้าไปคนละทาง กลับหันหน้ามาหากันและเข้าใจกัน "โดยสมบูรณ์" ดังที่นักฟิสิกส์หลายๆ คนเอามาเขียนยืนยัน อาจพูดได้ว่า ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา หรือในบางแห่งก่อนหน้านั้น พูดได้เต็มปากเลยว่าไม่มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับนำใดของโลก และก็ไม่มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งไหนในโลก - แม้แต่แห่งเดียว - ที่ไม่ได้จัดให้มีการประชุม การอภิปรายหรือสนทนากันอย่างล้ำลึกระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างศาสนาที่อุบัติจากทางตะวันออกเช่นศาสนาพุทธของเรากับวิทยาศาสตร์ใหม่แทบว่าเป็นประจำปี และจัดกันปีละหลายๆ ครั้งเสียด้วย น่าเสียใจและน่าเสียดายที่ข้อมูลและผลของการเสวนาที่ออกมาเหล่านี้ ไม่เป็นที่สนใจหรือนำมาสื่อให้รู้กันแพร่หลายในหมู่นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสาธารณชนทั่วไปของประเทศกำลังพัฒนาหรือที่เพิ่งพัฒนา (อุตสาหกรรมหรือความเป็นอารยธรรม "สมัยใหม่") ใหม่ๆ ที่ยังสนใจอยู่กับสิทธิและเสรีภาพและโอกาสที่จะแสวงหา "คุณภาพ" ของชีวิตที่เท่าเทียมกันโดยไม่แยแสและไม่เชื่อคำเตือนคำชี้แจง - ที่คิดว่าเป็นการกันท่า - ของผู้ที่ได้ดำรงอยู่อย่างใกล้ชิดมานานกับ "คุณภาพ" เช่นว่านั้น - คนส่วนหนึ่งที่แลเห็นและรู้จึงถอยออกมา - ว่านั่นนอกจากไม่ใช่คุณภาพที่แท้จริงและยั่งยืนแล้ว ยังเป็นอันตรายอย่างที่สุดไม่เพียงแต่ตนเอง หากยังอันตรายต่อเผ่าพันธุ์และต่อสังคมโลกทั้งมวลในอนาคต
    นั่นเป็นความคิดหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังธีมหลักธีมหนึ่งที่ผู้เขียนเอามาเขียนในแนวและรูปแบบต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซาก เพราะไม่ว่าธีมหรือบทความนั้นจะสำคัญหรือแม้น่าอ่านเพียงไร หากซ้ำซากเกิน ผู้อ่านไม่ว่าใครก็ต้องเอียนและเซ็งที่จะตามต่อ ความจริงที่จะพูดวันนี้จึงหนีศาสนา และหนีปรัชญามาหยุดที่วิทยาศาสตร์ หรือจริงๆ แล้วบทความนี้จะพูดถึงเส้นทางของวิวัฒนาการของความเข้าใจ ความจริงของธรรมชาติของมนุษย์เรา ที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายด้วยองค์ความรู้ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ - ความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมปรับแปรไปตามกาลเวลาโดยมีเรื่องของเทศะและกาลเวลา (space-time) นั่นเอง เป็นหัวใจของวิวัฒนาการขององค์ความรู้ว่าด้วยความจริงของธรรมชาตินั้น
    ก่อนอื่น เราคงต้องทำความเข้าใจกันว่า ความจริงคืออะไร? นั่น - ปัญญาชน นักปรัชญา และนักศาสนา ตลอดจนผู้ปฏิบัติจิตในลัทธิต่างๆ กับนักวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบที่ต่างกันออกไป และเนื่องจากวันนี้เราจะพูดแต่เฉพาะด้านที่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น หากคำตอบจากความเข้าใจของประชาชนคนทั่วไปที่ตอบคำถามที่ถามว่าความจริงคืออะไร? จึงอาจตอบกว้างๆ โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถเห็นด้วยว่าน่าจะต้องเป็นเช่นนั้น อย่างน้อยในเบื้องต้น หรือในระดับแรกสำหรับเราที่เป็นมนุษย์ ว่าความจริงก็คือ ประสบการณ์ภายในของการรับรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราหรือธรรมชาติภายนอกที่รับโดยประสาทสัมผัสของเรา เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ประสบการณ์ที่ทำให้เรา "รู้" จำ และนำมาประกอบความคิดของเรา แต่มาถึงตรงนี้ และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนทั่วไปหรือสำหรับปัญญาชนคนขี้สงสัยอาจถามต่อไปว่า ประสบการณ์ภายในที่เราคิดว่าเรา "รู้" นั้น มันสะท้อนความจริงทั้งหมดของธรรมชาติภายนอกหรือไม่ และอย่างไร? ตรงนี้เองเมื่อเอาเข้าจริงๆ คนขี้สงสัยก็ยังไม่พอใจ - ทำให้ความเห็นต่อความจริงแท้ระหว่างกัน - แตกต่างกัน
    ในทางวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่มีองค์ความรู้ขึ้นในรูปแบบและเนื้อหาที่เรารู้จักมาในเวลาร่วม 400 ปี นับแต่โคเปอร์นิกัสและเคพเลอร์ และต่อมากาลิเลโอและนิวตันจนถึงวันนี้ มันจะมีความจริงที่ดำรงกระทั่งปัจจุบันอยู่สามความจริงที่ยกมาเป็นชื่อของบทความ ดังนี้
    1.ความจริงคลาสสิก (classical reality or Newtonian reality) ความจริงที่ยอมรับว่าพิสูจน์ได้แน่นอนโดยนิวตัน - กาลิเลโอ สสารและการเคลื่อนที่ของมันผ่านที่ว่างและเวลา ในช่วงแรกๆ นั้นวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์จะมุ่งไปที่สิ่งต่างๆ รอบตัวที่มองเห็น หรือรับเป็นประสบการณ์ประจำวัน เช่น กาลิเลโอโยนลูกหินให้มันกลิ้งไปบนพื้นลาด กับนั่งๆ นอนๆ มองดวงจันทร์ ส่วนนิวตันก็ไปนอนใต้ต้นแอปเปิลให้ลูกแอปเปิลตกลงมาใส่หัว ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ประจำวัน (อะไร) กับการค้นหาเหตุผลมายืนอธิบายประสบการณ์ของการเคลื่อนที่ของมันนั้นๆ (อย่างไร) และนิวตันก็พิสูจน์ให้เห็นบนสมการคณิตศาสตร์ที่อธิบายการเคลื่อนที่ของ "สิ่ง" ที่ดำรงอยู่ "แยกจากกัน" นั้นๆ ให้เราเรียนเราใช้สร้างเทคโนโลยีกันมาจนทุกวันนี้โดยไม่มีการผิดพลาดเลย แต่เนื่องจากนิวตันและนักฟิสิกส์ต่อๆ มาในช่วงร่วม 300 ปีนั้น ไม่สามารถตอบได้ว่า "สิ่ง" ที่แยกจากกันนั่นมันแยกอยู่ในอะไร? และมันเคลื่อนที่เป็นระยะทางมากหรือน้อยได้อย่างไร? นั่นคือคำถามเกี่ยวกับ "ที่ว่าง" และ "เวลา" ที่นิวตันตอบไม่ได้อธิบายโดยสมการนั้นก็ไม่ได้ เลยเหมาตอบรวมๆ ว่า ที่ว่างและเวลาที่แยกส่วนกันเป็นคุณสมบัติอันสมบูรณ์และคงที่ (absolute, immutable and constant) ของจักรวาลเช่นนั้นมาแต่ต้นและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
    นั่นคือฟิสิกส์คลาสสิกของนิวตัน - เก่า - ที่ใช้ได้ดีแม้ในทุกวันนี้ เพราะมันตรงเป๊ะกับที่เราเห็นเรารู้ หากเราตีลูกบอลแรงมันก็จะยิ่งแรงและไปไกล หากตีมันไปที่ผนังลูกบอลก็จะกระดอนกลับด้วยความแรงที่เท่ากัน สมการของนิวตันอธิบายการเคลื่อนที่เท่าๆ กับอธิบายแรงดึงดูด ช้างล้มดังกว่าหมาล้ม "สิ่ง" ใหญ่ตกแรงและเร็วกว่าสิ่งเล็กและเบา สมการของนิวตันง่ายและตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี 200 ปีต่อมาได้มีการค้นพบเรื่องของไฟฟ้ากับสนามแม่เหล็กที่สัมพันธ์กับแรงดึงดูดแต่ใช้กฎและสมการที่ยากและซับซ้อนกว่าบ้าง ทั้งหมดขยายฟิสิกส์คลาสสิกของนิวตันเดิมรวมกับเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าคือความจริงของ "วิทยาศาสตร์เก่า" ของปัจจุบัน

    จากคุณ : หลานสาวนายพล - [ 23 ก.ค. 47 07:21:20 A:203.172.53.97 X: ]