ความคิดเห็นที่ 1
ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับนายแพทย์อีเบน อเล็กซานเดอร์ (Eben Alexander) ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท ซึ่งปัจจุบันเกษียณแล้ว แต่ยังเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยเวก ฟอเรสต์ (Wake Forest) ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของครอบครัวบังเกอร์ด้วย เพราะเคยรักษาทายาทในครอบครัวและสนใจในชีวิตของแฝดสยาม รวมทั้งมีประสบการณ์ในการผ่าตัดแยกร่างแฝดมาแล้ว ท่านให้ความเห็นว่า จากการศึกษาการเสียชีวิตของแฝดลักษณะนี้จำนวนมากมายหลายคู่ในยุคหลังๆ พบว่าแฝดผู้เสียชีวิตทีหลัง มักเสียชีวิตเพราะเลือดไหลไปสู่ร่างของแฝดที่เสียชีวิตไปก่อน แล้วไม่ไหลกลับ ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นเลือดที่ต่อถึงกันในแฝดอิน-จัน มีขนาดไม่ใหญ่ และคงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมต่างฝ่ายต่างไม่ได้รับผลจากยา สุรา หรืออาหารที่อีกฝ่ายหนึ่งบริโภค ท่านคิดว่า ทฤษฎีดังกล่าวเป็นทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทราบว่าหัวใจของอินยังเต้นอยู่หลังจากจันเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนั้นเส้นเลือดที่มีขนาดเล็กดังกล่าว ยังบอกให้เราทราบว่า อินควรจะเสียชีวิตในเวลาประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง มากกว่า ๒ ชั่วโมงครึ่ง ตามที่บันทึกไว้ ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของท่านเป็นไปได้มาก เพราะจันเสียชีวิตขณะนอนหลับ ไม่มีใครทราบเวลาแน่นอน ที่กล่าวกันว่าอินเสียชีวิตภายหลังจัน ๒ ชั่วโมงครึ่งนั้น เป็นการนับเวลาหลังจากที่พบว่าจันเสียชีวิต ไม่ใช่หลังจากเวลาที่จันเสียชีวิตจริง อินอาจเสียเลือดอย่างช้าๆ จนสิ้นชีวิตในที่สุด อาการเหน็บชาตามแขนขาของอินก่อนเสียชีวิตก็คงมีสาเหตุมาจากการเสียเลือดนี่เอง
ในท้ายที่สุดนายแพทย์อีเบนยังคิดว่า ส่วนของตับที่เชื่อมต่อกันนั้น เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่ไม่สำคัญนัก หากแพทย์ในสมัยนั้นกล้าพอที่จะผ่าตัดแยกร่าง ก็มีโอกาสสูงที่แฝดแต่ละคนจะอยู่รอดเป็นบุคคลเดี่ยวได้ ความเห็นของท่านยืนยันคำแถลงการณ์ของสมาคมแพทย์แห่งอเมริกา ซึ่งประกาศในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) ว่า หากแฝดอิน-จันมีชีวิตอยู่จวบจนขณะนั้น การผ่าตัดแยกตัวจะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของบุคคลทั้งสอง ท่านบันทึกความเห็นส่วนตัวที่เล่าไว้นี้ในบทความสั้นๆ ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ (ค.ศ. ๒๐๐๑)
บันทึกการชันสูตรศพ ปรากฏอยู่ในหนังสือของวิทยาลัยแพทย์ประจำฟิลาเดลเฟีย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. ๑๘๗๕) อันเป็นแหล่งที่มาของรูปประกอบบางรูปในบทความนี้
คณะแพทย์ที่พิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ ขออนุญาตเก็บตับซึ่งเชื่อมต่ออยู่ด้วยกันนั้นไว้ โดยรักษาไว้ในสารละลายฟอร์มาลิน อย่างไรก็ตามเมื่อร่างของอิน-จันกลับมาถึงบ้าน ก็พบว่าปอดและลำไส้หายไปอย่างลึกลับ ครอบครัวของอิน-จันเรียกร้องหาคำอธิบาย แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มึตเตอร์ยังคงเก็บรักษาหุ่นปลาสเตอร์ที่หล่อจากร่างไร้วิญญาณของแฝดสยามหลังจากเสียชีวิตแล้ว ตลอดจนตับแฝด และนำออกแสดงให้ชมภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย
ภรรยาหม้ายของแฝดอิน-จันตัดสินใจเก็บร่างของคนทั้งคู่ไว้ในห้องใต้ดินประมาณ ๑ ปี เพื่อป้องกันไม่ให้พวกนักขโมยศพเข้ามาหาประโยชน์ ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. ๑๘๗๕) จึงย้ายไปฝังไว้ในบริเวณบ้านของจัน แซลลีใช้ชีวิตหม้ายหลังอินเสียชีวิตไปแล้วอีก ๑๘ ปี ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) ด้วยวัย ๗๐ ปี ที่พักพิงสุดท้ายของเธอคือฟาร์มของอิน ส่วนอะดีเลดนั้น เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) ศพของอิน-จันถูกกู้ขึ้น เพื่อนำไปฝังไว้เคียงข้างกับอะดีเลด ณ สุสานของโบสถ์ไวต์ เพลนส์ (White Plains Church Cemetery) ที่เซอร์รี เคาน์ตี (Surry County) ในนอร์ทแคโรไลนา อันเป็นโบสถ์ซึ่งทั้งสองบริจาคเงินช่วยสร้าง
แม้สิ้นชีวิตไปแล้ว แฝดอิน-จันก็ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจวบจนกระทั่งทุกวันนี้
ศิลปะวัฒนธรรม วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 04 สโมสรศิลปวัฒนธรรม/วิลาส นิรันดร์สุขศิริ
เอกสารอ้างอิง
๑. Alexander, Eben. "The Original Siamese Twins : We know why Chang died, but why did Eng?," in NCMJ. (March-April 2001), pp.66-68.
๒. Allen, Harrison. Transactions of the College of Physicians of Philadelphia. Volume I. 1875, pp.2-46.
๓. Segel, Lawrence M.D. "Together Forever : The life and death of Chang and Eng," in The Canadian Journal of Diagnosis. (December 2001), pp.54-56.
๔. Warren, John C. "An Account of the Siamese twin brothers, united together from their birth," in The American Journal of Science and Arts. Hezekiah Howe, 1829, pp.212-216.
๕.http://www.hbo.com/autopsy/episode/episode_7_siamese_twins.html
จากคุณ :
C.KURT
- [
25 ก.ค. 48 17:19:11
]
|
|
|