CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิง จริงหรือ?

    ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของ ริชาร์ด ลีน แห่งมหาวิทยาอัลสเตอร์ และ ดร.พอล เออร์วิง แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ที่จะตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาบริติชในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงข้างหน้า ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางขึ้นในเวลานี้ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า ผู้ชายโดยเฉลี่ยฉลาดกว่าผู้หญิง ไม่เพียงแต่มีสมองมากกว่า แต่ยังมีไอคิวสูงกว่า เพราะฉะนั้นการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ การได้รางวัลโนเบล หรืออะไรต่อมิอะไรทำนองนี้ ผู้ชายจึงได้รับมากกว่าผู้หญิง

    แต่ในรายงานชิ้นเดียวกันนี้เองดูเหมือนจะบอกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าผู้ชายที่ไอคิวเท่ากัน หรือ พูดอีกนัยหนึ่ง

    ก็คือ "ผู้หญิงมีความสามารถในการใช้สติปัญญา (ที่มีน้อยกว่า) ได้เก่งกว่าผู้ชาย"

    มีคนถามว่า หากเป็นเช่นนี้จริงๆ แล้วไอคิวมีประโยชน์อะไรในเมื่อมันไม่ได้บอกอะไรในโลกที่เป็นจริง

    ที่จริงผมเก็บตกเรื่องนี้มารายงานให้ทราบเฉยๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อเรื่องการทดสอบไอคิวมาแต่ไหนแต่ไร อย่างที่มีข่าวเมื่อไม่กี่วันว่าเด็กไทยไอคิวต่ำอะไรนั่น ผมถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่มีคนออกมาบ้ากันไปเท่านั้นเอง เพราะไม่คิดว่าจะมีไม้บรรทัดอะไรมาวัดความฉลาดของคนได้ ไม่มีความฉลาดที่เป็นมาตรวัดสากลอยู่ในโลกนี้หรือโลกไหนทั้งสิ้น

    ความฉลาดเป็นสิ่งสมมุติภายใต้กรอบภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ ซึ่งแตกต่างกันแล้วแต่ใครจะยึดถือแบบไหน นี่ยังไม่นับรายละเอียดปลีกย่อยลงไปในระดับครอบครัวที่ทำให้คนแตกต่างกันด้วยซ้ำ

    แล้วแบบทดสอบไอคิวจะไปวัดอะไรได้ ในเมื่อตัวมันเองก็ถูกกำหนดโดยมาตรฐานความคิดแบบหนึ่ง แบบไหนผมก็ไม่รู้ละครับ รู้แต่ว่าไม่ได้งอกรากมาจากความคิดแบบตะวันออก

    วิธีคิดแบบตะวันตกกับตะวันออกนี่ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้มีคนเขียนไว้ให้อ่านลึกซึ้งเยอะแยะมากมายมานานแล้ว ขอผ่านไปไม่พูดถึง ที่อยากพูดถึงก็คือ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในอเมริกา นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาเอานักศึกษาจีน 25 คน กับนักศึกษาอเมริกัน 26 คนให้มาทดสอบการดูภาพ ซึ่งจะมีภาพใหญ่เป็นโฟกัสอยู่ด้านหน้า และมีแบ๊คกราวนด์ซับซ้อนอยู่ข้างหลัง

    ปรากฏว่าเด็กอเมริกันดูภาพจะเน้นดูที่จุดเด่นหลักของภาพคือภาพด้านหน้ามากกว่า ขณะที่นักศึกษาจีนดูให้ความสนใจกับรายละเอียดภาพแบ๊คกราวนด์มากกว่า แม้แวบแรกทั้งสองกลุ่มจะเริ่มมองไปที่แบ๊คกราวนด์ แต่เพียงไม่ถึงครึ่งวินาที หรือราวๆ 0.42 วินาที นักศึกษาอเมริกาก็จะเพ่งเล็งอยู่กับภาพด้านหน้า ขณะที่นักศึกษาจีนยังคงสนใจกวาดตาไปตามแบ๊คกราวนด์ต่อไป

    ทีนี้เขาก็ลองเปลี่ยนภาพแบ๊คกราวนด์ใหม่ โดยคงภาพด้านหน้าไว้อย่างเดิม ปรากฏว่านักศึกษาจีนจำภาพด้านหน้าที่ดูมาแล้วได้น้อยกว่านักศึกษาอเมริกัน เพราะโดยวิธีคิดของนักศึกษาจีนนั้น ภาพทั้งภาพมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แยกส่วนออกมาเป็นภาพหลักกับแบ๊คกราวนด์

    การศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งจะชี้ให้เห็นความสามารถในการจดจำหรือประสิทธิภาพของสมองว่าของใครดีกว่าใคร แต่พยายามจะชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมในการมองภาพที่แตกต่างกันนี้น่าจะมาจากภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เหมือนที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าคนตะวันออกจะมองแบบองค์รวมมากกว่าตะวันตกที่เพ่งเล็งเฉพาะจุด

    นับประสาอะไรกับผู้หญิงและผู้ชายเองก็ถูกสังคมและวัฒนธรรมกำหนดให้แตกต่างกันมาตั้งแต่ยังไม่เกิดแล้วด้วยซ้ำ

    โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com

    แก้ไขเมื่อ 07 ก.ย. 48 12:44:37

     
     

    จากคุณ : C.KURT - [ 7 ก.ย. 48 12:32:27 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป