ชีวิตคนเมืองจีน / ใครจะคาดคิดว่า ชาวจีนก็มีการเก็บรักษาศพ หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันดีว่า ‘มัมมี่’ ของอียิปต์ แต่วิธีการเก็บรักษาศพของชาวจีนโบราณนี้แตกต่างจากมัมมี่อย่างสิ้นเชิง และทุกวันนี้ความลี้ลับของ ‘มัมมี่จีน’ ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า พวกเขาทำได้อย่างไร
แต่เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์จีนได้ประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งในการเก็บรักษาศพร่างหนึ่งที่ขุดพบเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ให้คงอยู่ในสภาพเหมือนเมื่อครั้งยังขุดพบใหม่ๆ หลังจากได้เปิดเผยโฉมหน้าของเจ้าของร่างอันไร้วิญญาณนี้มาแล้ว
หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญนี้ คือศพของท่านหญิงซินจุย ภรรยาเจ้าที่ดินศักดินา แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก( 202 ปีก่อนคริสคศักราช - ค.ศ.8 ) ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนัน และยังเป็นสุดยอดโบราณวัตถุชิ้นมีค่าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ถูกพบในช่วงสมัยปลายทศวรรษที่ 70
ราวปีค.ศ.1972 ขณะคนงานกำลังขุดหลุมหลบภัยจากการโจมตีทางอากาศ ใกล้เมืองฉางซา (เมืองเอกในหูหนัน) พวกเขาพบหลุมศพสมัยราชวงศ์ฮั่นขนาดมหึมา ซึ่งต่อมากลายเป็นแหล่งโบราณคดี ‘หม่าหวังตุยฮั่น’ ในปัจจุบัน ภายในบรรจุประดิษฐ์กรรมฝีมือมนุษย์ที่ถูกเก็บรักษาอย่างดีกว่า 1,000 ชิ้น รวมทั้งศพที่ถูกรักษาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยขุดพบมาก่อน
ศพผู้หญิงถูกสืบทราบภายหลังว่า เป็นของท่านหญิงซินจุย ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 186 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อเธออายุได้ 50 ปี และเป็นเรื่องน่าประหลาดอย่างที่สุด คือ ศพที่มีอายุมากกว่า 2,200 ปี ถูกพบหลังความตายมาหลายศตวรรษ ยังคงสภาพดีราวกับว่าเพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ
บันทึกของนักโบราณคดีระบุข้อมูลที่น่าเหลือเชื่อว่า ร่างของท่านหญิงซินจุย มีความสูง 154 เซนติเมตร น้ำหนัก 34.3 กิโลกรัม สภาพภายนอกเมื่อขุดพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทั่วร่างกายชุ่มชื้น กล้ามเนื้ออ่อนนุ่ม ผิวหนังคงความยืดหยุ่น อวัยวะภายในอยู่ในสภาพสมบูรณ์ครบถ้วน ข้อต่อและกระดูกยังจับเคลื่อนไหวได้ สุขภาพกระดูกแข็งแรงกว่าคนอายุ 60 ปี แม้แต่กระดูกอ่อนก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ข้อมูลทางกายวิภาคยังชี้ว่า ผู้ตายมีอาการของโรคหลอดเลือดหรือเส้นเลือดใหญ่แข็งตัว มีการตรวจพบเมล็ดแตงหวานในกระเพาะอาหาร คาดว่าเสียชีวิตอย่างกะทันหันภายหลังการรับประทานลูกแตงหวาน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สภาพของศพมีการเก็บรักษาที่สมบูรณ์ และพบได้ยากมาก แตกต่างจากมัมมี่ของอียิปต์ และการรักษาศพโดยการฟอกถ่านเลน จึงได้ตั้งชื่อว่า ‘ศพแห่งเนินหม่าหวัง’ ตามสถานที่ขุดพบ
แก้ไขเมื่อ 09 ก.ย. 48 17:10:39
แก้ไขเมื่อ 09 ก.ย. 48 17:09:46