Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
****ประเด็นการแพ้เครื่องสำอาง และความรับผิดชอบของบริษัท****{แตกประเด็นจาก Q8530190}  

ขอเพิ่มเติมอีกหน่อยนะคะ

ก่อนอื่น ขอแสดงความดีใจกับคุณเจ้าของกระทู้เดิม ที่ได้รับการติดต่อจากทางบริษัทแล้วนะคะ

ทีนี้จะขอเพิ่มประเด็นถึงทั่วๆ ไป ไม่เจาะจงกรณีนี้หรือยี่ห้อนี้นะคะ

จากกระทู้เดิม ที่อาจมีหลายท่านอาจมองว่า "เรื่องแพ้เป็นเรื่องธรรมชาติ" และผู้ผลิตไม่มีทางรู้ว่าใครจะแพ้บ้าง เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่อาจไม่แพ้ อันนั้นเราเข้าใจค่ะ เราก็อยู่ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม เข้าใจมุมมองของผู้ประกอบการดีค่ะ (แม้เราจะไม่ใช่วงการเครื่องสำอางก็เถอะ)

และเราก็เห็นด้วยว่า ผู้ซื้อเองก็ต้องดูแลตนเองด้วย ทดสอบเครืองสำอางใหม่ๆ ก่อนใช้ จดจำชื่อส่วนผสมที่ตนเองแพ้ สอบถามข้อมูลให้ชัดเจนก่อนซื้อ หรือแม้แต่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนในกรณีเครื่องสำอางที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ดี และควรทำค่ะ

แต่การที่มีอาการแพ้รุนแรงดังเช่นเจ้าของกระทู้เดิม มันก็น่าจะเพียงพอที่ผู้ประกอบการจะให้ความสนใจ และ "ตรวจสอบ" อย่างจริงจังว่าสารตัวใดก่อให้เกิดอาการแพ้ เพราะอาจเป็นภัยต่อผู้บริโภคคนอื่นๆ ได้

เพราะเมืองไทยก็อย่างที่ทราบ บางคนพอแพ้ก้โทษตัวเองตามที่ผู้ประกอบการ"บางราย" โน้มน้าวมาอย่างดีว่า "ผิวไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์"  แต่ถ้าเมืองนอก ที่เขาให้ความสำคัญกับ "คน" เขาจะมองว่า "ผลิตภัณฑ์อาจมีสารที่ไม่เหมาะกับผิว" คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่ร้องเรียน คิดซะว่าซวยเอง โทษตัวเองที่ไม่ทดสอบ รับผิดชอบตัวเอง บ้างเลยเถิดไปโทษกรรมโทษเวรก็มีค่ะ

ซ้ำร้ายบางกรณีอาจถึงขั้นบอกลูกค้าที่มีปัญหา (ไม่ใช่เรื่องแพ้นะคะ อาจเป็นเรื่องรับผิดชอบอื่นๆ เช่นหยิบให้ผิดเบอร์สี ฯลฯ) ว่า "ถ้าจะคืนสินค้าหรือเรียกค่ารับผิดชอบพนักงานขายต้องจ่ายค่ารับผิดชอบตรงนี้แทน" ทำให้ลูกค้าเกิดความสงสาร และ "ยอม" ต่อไป

ฉะนั้น ในกรณีแพ้ก็อาจเป็นไปได้ที่มีผู้เสียหายอีกหลายคนที่ "ไม่ร้องเรียน ไม่ยืนยันสิทธิ์" เมื่อเป็นดังนั้น บริษัทเองก็อาจขาดช่องทางในการรับข้อมูลว่าสินค้าของตน มี "ความเสี่ยง" ใดๆ ต่อผู้บริโภคหรือไม่

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ ในอนาคตใช่หรือไม่?

ผู้ประกอบการหลายๆ ราย ที่มีความรับผิดชอบสูง เมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้า นอกจากเขาจะรีบติดตามอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังตรวจสอบ และหากพบต้นเหตุที่เป็น"ความเสี่ยง" เขาเรียกคืนสินค้าทั้งล๊อต แม้จะซื้อไปแล้วเขาก็ประกาษเลยว่าขอเรียกเก็บสินค้าชนิดนี้คืน เพราะมีความเสี่ยง อันนั้นเป็นตัวอย่างความรับผิดชอบที่ดี

ป.ล. ถึงผู้ประกอบการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หน่วยราชการ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

ในฐานะผู้บริโภค ดิฉันอยากขอให้ท่านมีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้บริโภคค่ะ และอันนี้เกียวข้องกับตัวท่านเอง ไม่ใช่ใครอื่น

เพราะในความเป็นจริง เมื่อท่าน "ถอดหมวก" แห่งการเป็นผู้ประกอบการ พนักงานบริษัท ข้าราชการ ผู้ผลิตฯลฯ ออกแล้ว ท่านเองก็คือ "ผู้บริโภค" เช่นกันนะคะ

และก็เป็นไปได้ที่หากวันหนึ่ง ท่านหรือคนใกล้ชิดเองจะประสบปัญหาในฐานะผู้บริโภคเช่นกัน เช่นยาสระผมของท่านทำให้ผมร่วงหมด รถใหม่ๆ ของท่านดับกระทันหันกลางไฮเวย์ นมของลูกน้อยมีสารปนเปื้อน แม้กระทั่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นข้าวผัดที่ซื้อมามีแมลงสาปปนมา เมื่อมายืนในอีกฝั่ง ความรู้สึกคงต่างออกไป

จากคำว่า "ไม่กี่ร้อยบาท จะเรื่องมากทำไม" อาจกลายเป็น "ตั้งหลายร้อยบาทซื้อข้าวให้ลูกได้ตั้งหลายมื้อ" จริงไหมคะ

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนขาย จะเป็นผู้ผลิต เจ้าของธุรกิจ ผู้นำเข้า ฯลฯ เราทุกคนก็ยังเป็น "ลูกค้า" ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตค่ะ

ฉะนั้น การปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ก็คือการปกป้องสิทธิของคุณเองเช่นกันค่ะ

จากคุณ : Love Actually is..
เขียนเมื่อ : 12 พ.ย. 52 18:36:31




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com