Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บล็อกเนียนๆ เขียนดีได้ตังค์ ติดต่อทีมงาน

Cover Story
โดยปานใจ ปิ่นจินดา

จากประเด็นร้อนของสาวๆ ห้องแป้งแห่งพันทิป ที่เพิ่งจะตาสว่างหลังเชื่อสนิทใจในรีวิวของบล็อกเกอร์ตัวพ่อตัวแม่ทั้งหลาย จนสินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ก่อนจะพบว่าสุดท้ายก็ “ปาหี่” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า.. บล็อกเกอร์ไร้จรรยาบรรณ หรือ คนอ่านไร้สติ?

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีเจ้าของล็อกอิน Zurina เข้ามาตั้งกระทู้ในโต๊ะเครื่องแป้ง เวบไซต์พันทิป ทำนองแฉความจริงเบื้องหลังการรีวิวของบิวตี้บล็อกเกอร์ว่า มีหลายรายที่ “รับเงิน” เพื่อนำสินค้ามาโฆษณาแบบเนียนๆ

โดยเรทราคาก็หลากหลาย และต้องขึ้นอยู่กับความดังที่วัดได้จากยอด “คลิกไลค์” หรือ จำนวน “แฟนเพจ” ของบิวตี้ บล็อกเกอร์รายนั้นๆ ทำเอาเกิดความแตกตื่นในหมู่สาวๆ ผู้คลั่งไคล้ในการติดตามการรีวิวของตัวพ่อตัวแม่ทั้งหลาย

แม้รายละเอียดปลีกย่อยของการแฉติดตามหาอ่านมหากาพย์ได้ในพันทิป แต่ประเด็นที่น่าขบคิดต่อจากเรื่องดราม่านั้น กลับอยู่ตรงที่ “สถานะ” ของบล็อกเกอร์ ที่กำลังแปรเปลี่ยนไปเมื่อมีอำนาจเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากการนำเสนอเรื่องราวเหมือนเพื่อนบอกเพื่อน ชนิดเล่าสู่กันฟัง กลับกลายมาเป็นเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ปากก็ชมว่าสินค้าตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างโน้น อาจจะติบ้างนิดหน่อย (เพื่อความเนียน) แต่มือก็กำเงินไว้แน่น และที่สำคัญคือ “ซ่อนไว้ข้างหลัง” อย่างแนบเนียน


นัก “รีวิว” มือทอง

อันที่จริงแล้ว บล็อกเกอร์ที่ทำการ “รีวิว” เป็นอาชีพนั้น เกิดขึ้นมาได้หลายปีแล้ว ทั้งในแวดวงเครื่องสำอาง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร โดยเริ่มต้นจากการเชิญมางานเปิดตัวสินค้าโดยไม่ได้จ่ายอามิสสินจ้าง แต่บล็อกเกอร์รายนั้นจะรับสินค้ากลับบ้านไปเชยชม และเขียนรีวิวแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย (เดี๋ยวงานต่อไปจะไม่ได้รับเชิญและอดได้ของไปใช้ฟรีๆ) ซึ่งปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรและเป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป

จนต่อมาก็ได้ยกระดับ พัฒนาสู่การซื้อขายเต็มรูปแบบ ในหลายเรทราคา หลายข้อตกลง มีทั้งราคาเชิญมาร่วมงาน อาจจะเป็นงานเปิดตัวสินค้า เวิร์คชอปผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ยังแยกย่อยลงไปอีก ว่าจะให้หาแฟนคลับมาเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เอากี่หัว คิดราคาอย่างไร ต้องเอาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างกลับไปทำกิจกรรมแจกให้กับแฟนคลับซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงได้ทดลองใช้หรือไม่ เป็นต้น

ส่วนนักรีวิวโรงแรม ร้านอาหาร ก็จะทำนองเดียวกัน คือ มีทั้งให้มาเที่ยวฟรี พักฟรี กินอยู่สุขสบาย ซึ่งหลายคนก็รู้สึกโอเคแล้วกับประสบการณ์ 5 ดาวแต่เงินในกระเป๋ายังอยู่ครบ

แต่แค่นั้นคงไม่พอสำหรับนักรีวิวผู้คิดการใหญ่ที่ร้องขอผลตอบแทนในรูปของ “ตัวเงิน” แลกกับการันตีงานเขียนว่า มีแต่ชม ไม่มีด่า หรือบางรายก็ยอมให้ถึงขั้นส่งงานให้ตรวจก่อน เพื่อความพึงพอใจของคุณลูกค้าที่รัก

ไม่ว่าจะเป็นการจ้างรีวิวสินค้าความงาม โรงแรม ร้านอาหาร สนนราคาค่า “รีวิว” ก็อยู่ในเรทใกล้เคียงกัน คือ หลักหมื่นต้นๆ สำหรับการทำงานต่อครั้ง หรือ บางคนขายเป็นแพ็คเกจก็อาจบวกราคาได้มากหน่อย เพราะทำหน้าที่คล้ายสาวเชียร์เบียร์กลายๆ กระตุ้นยอดขายให้ลูกค้าสุดฤทธิ์

แน่นอนว่า ไม่มีบล็อกเกอร์คนไหน จะออกมายอมรับเต็มปากเต็มคำว่า มีพฤติกรรมทำเนียนรับเงินสำหรับการรีวิวอวยสินค้ามาแล้วนับไม่ถ้วน และจากปากคำพีอาร์สาวรายหนึ่งที่ดูแลสินค้าความงามทั้งแมสโปรดัคท์ จนถึง เคาน์เตอร์แบรนด์ ก็ยืนยันว่า “เท่าที่เคยติดต่อไป ยังไม่มีคนไหนที่ไม่รับเงิน”

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากรณีข้างต้นจะเป็นเพียงข่าวโคมลอย

พีอาร์ที่เคยรับงานโปรโมทโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตอนที่ทำลิสท์เชิญบล็อกเกอร์มารีวิวนั้น “มีเดีย เอเยนซี” เจ้าหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญงานด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ได้ยื่นลิสต์รายชื่อบล็อกเกอร์พร้อมรายละเอียดโดยสังเขปว่า คนไหนเขียนงานสไตล์ไหน มียอดเข้าชมเท่าไหร่ จำนวนแฟนเพจหรือยอดคลิกไลค์เป็นอย่างไร และ ที่สำคัญคือ คิดราคาถูกแพงแค่ไหน อย่างไร

“จำได้แม่นเลยว่า ตัวเลขที่เห็นที่บล็อกเกอร์โค้ดราคามา คือ 2 หมื่นบาท สำหรับการรีวิวโรงแรม โดยไม่ให้ตรวจงานเขียนด้วย” พีอาร์สาวบอก

“เออี” สาวอีกรายที่รับหน้าที่ดูแลแผนประชาสัมพันธ์ให้กับผลิตภัณฑ์ความงามและต้องมีเหตุให้ต้องใช้บริการบล็อกเกอร์อยู่บ่อยๆ ทั้งที่ส่วนตัวเธอเห็นว่าไม่จำเป็น แต่เนื่องจากเป็นความต้องการของลูกค้าจึงต้องทำตามนั้น เธออธิบายถึงการคัดเลือกว่างานไหนจะใช้บล็อกเกอร์ หรือ นักรีวิว คนไหนจึงจะเหมาะสม โดยต้องดูแคแรคเตอร์ของนักรีวิวหรือบล็อกเกอร์รายดังกล่าว ว่าสอดคล้องกับโพสิชั่นของสินค้าตัวนั้นๆ หรือไม่ หากเป็นบล็อกเกอร์ที่ดังเรื่องรีวิวสินค้าระดับไฮเอ็นด์แล้วอยู่ดีๆ เกิดมารีวิวสินค้าแมสโปรดัคท์ โดยบอกว่า “ดี” นั้น ก็คงจะไม่เนียนเท่าไรนัก

“จริงๆ ถ้าเป็นเคาน์เตอร์แบรนด์ หรือแบรนด์ที่มีราคาแพงหน่อย บางครั้งก็ไม่ต้องจ่ายสตางค์ เพราะแค่ราคาสินค้าที่ส่งไปให้ทดลองใช้ก็มากอยู่แล้ว ส่วนที่จ่ายเงินนั้น ก็จะทำในกรณีที่ต้องการการันตีว่า จะได้รับการีวิวในทางบวกแบบเนียนๆ ซึ่งคนพวกนี้เขาจะมีทริค โดยอาจจะบ่นหรือติข้อเสียบ้างเล็กน้อย เฉพาะที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และตบท้ายด้วยการชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย คุ้มค่ากับการหาซื้อมาใช้ ทำนองนั้น” เออีสาว บอก

สำหรับการจ้างรีวิวที่เออีสาวรายนี้ทำอยู่ เธอ ยืนยันว่า

“ทุกงานจะต้องส่งมาให้ตรวจก่อน สิ่งที่ดูอย่างแรกและซีเรียสที่สุดเลยคือ ชื่อสินค้าห้ามผิด คีย์เมสเสจต้องได้ตามที่บรีฟไป ส่วนที่เหลือนั้นก็แล้วแต่สไตล์การรีวิวของบล็อกเกอร์แต่ละราย”


กฎ กติกา มารยาท

คงไม่มีใครไม่ยอมรับในเวบไซต์สองพี่น้องที่ทรงอิทธิพลอย่าง พันทิปดอทคอม (pantip.com) ผู้พี่ และ บล็อกแก็งค์ดอทคอม (bloggang.com) ผู้น้อง ซึ่งเป็นแหล่งแจ้งเกิดและทำมาหากินของชาวเน็ตจำนวนมาก โดยปัจจุบันเวบไซต์พันทิปมีจำนวนสมาชิกที่แอ็คทีฟในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประมาณ 232,633 ราย ขณะที่สถิติการใช้งาน Bloggang มีจำนวนคนเข้าอ่านที่มีการล็อกอินอยู่ที่ 28,031 ราย มีจำนวนบล็อกทั้งหมดที่เขียนทั้งปี 434,150 ครั้ง และมีจำนวนคนเขียนบล็อกทั้งปีอยู่ที่ 16,253 คน เฉลี่ยแล้วมีคนเขียนบล็อกอยู่ที่ประมาณ 1,200 บล็อกต่อวัน

ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตจริง คนเราอาจจะบอกต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมากก็หลักสิบคน แต่หากเป็นโลกที่เปิดกว้างอย่างโซเชียลมีเดียเหล่านี้แล้ว สามารถคูณตัวเลขหลักร้อย หลักพัน และ อาจถึงขั้นหลักหมื่น เข้าไปได้เลย!

นั่นคือ “จำนวนผู้อ่าน” ที่มหาศาล และที่สำคัญคือ สนใจในเรื่องที่กำลังอ่านอย่างแน่นอน (ถ้าไม่สนใจ ก็คงไม่คลิก) จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมนักการตลาดทั้งหลายต่างหันมาหยิบใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อแพร่กระจายข้อมูลสินค้าไปยังลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในราคาที่ถูกกว่าซื้อโฆษณาในสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) อย่าง ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หลายเท่าตัวนัก

เรื่องนี้ทางเวบไซต์พันทิปเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย ฝ่ายสื่อสารสมาชิก PANTIP.COM ได้ให้สัมภาษณ์กับจุดประกาย เกี่ยวกับความพยายามจัดระบบระเบียบของการรีวิวให้ชัดเจนมากขึ้น โดยมีการแยกพื้นที่หมวดหมู่ของการรีวิวให้ออกมาต่างหาก และยังรณรงค์ให้บล็อกเกอร์หรือผู้ที่มาตั้งกระทู้เขียนรหัสย่อของประเภทรีวิว ไว้ที่หน้าชื่อหัวข้อกระทู้ โดยระบุว่าเป็นรีวิวประเภทใดใน 2 ประเภท ได้แก่

CR - Consumer Review สำหรับรีวิวที่ผู้เขียนรีวิวเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว

SR - Sponsored Review สำหรับรีวิวที่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้เขียนรีวิว ผู้เขียนรีวิวไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว เช่น ร้านอาหาร เชิญให้ไปทานอาหารฟรี แต่ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนในการเขียนรีวิว เป็นต้น

และประเภทสุดท้ายคือ BR - Business Review มีไว้สำหรับทำการค้าโดยเฉพาะ เป็นการรีวิวสินค้าโดยเจ้าของสินค้านั้นๆ เลย ซึ่งต้องติดต่อทีมงานโดยตรง และห้ามทำการโพสท์ด้วยตัวเอง

จะเห็นว่าทั้งสามประเภทที่เอ่ยมา ไม่มีข้อไหนเปิดช่องให้มีการว่าจ้างให้มีการรีวิวได้ เพราะตามหลักการของพันทิปแล้ว ถ้าจะขายของก็ต้องเข้าไปโพสท์ในห้องที่จัดเตรียมไว้สำหรับเป็นพื้นที่ซื้อขายให้ถูกต้อง

แต่ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ที่ว่านั้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในบล็อกแก็งค์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนตัว ใครอยากจะเขียนอะไร ชมใคร โฆษณาให้ใคร ย่อมทำได้ทั้งนั้น แต่โดยทั่วไปแล้วสมาชิกขาประจำของพันทิปก็มักจะเขียนบล็อกอยู่ในบล็อกแก็งค์ด้วย ฉะนั้น หากสามารถสร้างชื่อเสียง หรือ สะสมแฟนคลับในพันทิปได้มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะให้แฟนๆ ตามไปอ่านในบล็อกซึ่งขายได้เต็มที่กว่ามากเท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังลามไปสู่สื่อสังคมออนไลน์อย่าง “เฟสบุ๊ค” ด้วย โดยนักรีวิวมืออาชีพและต้องพึ่งพาจำนวนแฟนเพจเพื่อเอาไปต่อรองราคากับเอเยนซี ก็จะพยายามบริหารช่องทางที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์มากเป็นทวีคูณ

บางครั้งก็รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนโดยคัดเฉพาะนักรีวิวชื่อดังมาผนึกกำลังกันเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับเอเยนซี และยังเคยเป็นเรื่องเป็นราวกันถึงขั้นทำตัวคล้าย “มาเฟียคุมซอย” คอยสะกัดดาวรุ่ง ที่อาจผงาดขึ้นมาแย่งที่ทางทำมาหากิน

เพราะเมื่อสื่อออนไลน์เปิดกว้างสำหรับทุกคน ฉะนั้น ความเสี่ยงที่จะตกกระป๋องย่อมมีสูง ฉะนั้นสุดท้ายแล้ว ก็ต้องมาวัดกันที่ว่า ของต้องดีจริง ถึงจะอยู่ได้นาน

จากความเห็นของบรรณาธิการความงามจากนิตยสารชื่อดังฉบับหนึ่ง ที่รับรู้การเข้ามาของบิวตี้บล็อกเกอร์ในแวดวงความงามได้พักใหญ่แล้วนั้น เธอบอกว่า ที่ดีก็มี แต่ที่มั่วก็เยอะ

“เคยอ่านรีวิวของบล็อกเกอร์ชื่อดังรายหนึ่ง ที่ทำการรีวิวรองพื้นยี่ห้อหนึ่ง และบอกว่าเป็นรองพื้นที่ไม่มีคุณภาพ ไม่สมกับราคา และมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป คล้ายรองพื้นที่ใกล้หมดอายุ ที่จริงแล้วรองพื้นที่บล็อกเกอร์คนนั้นเอามารีวิวนั้น ไม่มีวางจำหน่าย และได้เลิกผลิตไปเมื่อประมาณ 1-2 ปีก่อน” ทำเอาบรรณาธิการความงามรายนี้งงสุดๆ

ส่วนความเห็นของนักวิชาการด้านสื่ออย่าง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาวารสารศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ที่มองปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องของการตลาด ซึ่งเป็นธรรมดาที่นักการตลาดจะต้องพยายามสรรหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อการส่งสารหรือข้อมูลสินค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ตรงกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยแทบจะทุกสำนักก็บอกไม่ต่างกันว่า การอ่านรีวิวของบล็อกเกอร์มีอิทธิพลมากกว่าโฆษณาอย่างชัดเจน ก็คงไม่มีนักการตลาดคนไหนปฏิเสธช่องทางดังกล่าว

“แต่อยากให้คิดว่า ผู้บริโภคไม่โง่ โดยถ้าเขาอ่านหรือซื้อสินค้าตามแล้วไม่ดี ไม่พอใจ หรือ หากบล็อกเกอร์หรือนักรีวิวรายนั้นฮาร์ดเซลเกินไป เขาก็มีทางเลือกที่จะไปติดตามงานของคนอื่นแทน

ฉะนั้นถ้าบล็อกเกอร์คนไหนทำการรีวิวโดยคิดแต่เรื่องของตัวเงินเป็นหลัก ก็จะเหมือนฆ่าตัวตายในที่สุด”

กรุงเทพธุรกิจ
วันพฤหัสบดี 26 มกราคม 2555

จากคุณ : Angelonia
เขียนเมื่อ : 26 ม.ค. 55 17:09:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com