สืบเนื่องจากกรณีนางจุฬา ประสบอุบัติเหตุลื่นตกร่องน้ำรูปตัววีความลึกประมาณ 0.5เซนติเมตร บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อเวลา 19.00น.วันที่ 12 มกราคม 2550 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยเท้าซ้ายมีอาการกระดูกนิ้วก้อยร้าว และเท้าขวากระดูกเท้าหักจนผิดรูป ภายหลังเกิดเหตุเพื่อนของผู้เสียหายและประชาชนใกล้เคียงเข้าให้ความช่วยเหลือเพื่อส่งโรงพยาบาลเขลางค์นครราม จังหวัดลำปาง ทางแพทย์ลงความเห็นต้องผ่าตัดทันที จึงอยู่รักษาตัวระหว่างวันที่ 12-15ธันวาคม 2550 มีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 83,497บาท รวมค่าเดินทางและที่พัก โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางห้างดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงคนนำกระเช้ามาเยี่ยม
นางจุฬากล่าวว่า วันที่ 13 มกราคม 2550 เพื่อนที่ไปด้วยกันได้เข้าแจ้งความกับ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง (สภ.อ.) จังหวัดลำปาง ไว้เป็นหลักฐาน พร้อมย้ายการรักษามายังโรงพยาบาลพระมงกุฏ กรุงเทพฯ ซึ่งต้องอยู่รักษาที่โรงพยาบาลเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 17มกราคม-24กุมภาพันธ์ 2550 มีค่าใช้จ่าย 149,311.50บาท รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการผ่าตัดครั้งที่ 2 เป็นจำนวน 100,000บาท
โดยนางจุฬาได้ทำหนังสือเพื่อร้องเรียนมายังบิ๊กซีฯ สำนักงานใหญ่ ในวันที่11 กุมภาพันธ์ 2550 พร้อมทำสำเนาส่งถึงนายกเทศมนตรีลำปางเกี่ยวกับกรณีความไม่ปลอดภัยของพื้นที่ โดยวันที่ 8 มีนาคม 2550 ได้รับหนังสือชี้แจงตอบกลับจากบิ๊กซี ว่าไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย โดยชี้แจงว่าได้มีการดูแลไปตามสมควรแล้ว ขณะที่นายกเทศมนตรีลำปางส่งจดหมายถึงตนวันที่ 4 เมษายน 2550 ว่าได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณเกิดเหตุแล้ว พบว่าไม่ปลอดภัยจริง จึงทำหนังสือถึงห้างให้แก้ไข
เนื่องจากได้มีการขอนัดเพื่อเจรจากับทางบิ๊กซี แต่ไม่มีผู้ใดเข้าเจรจาด้วย จึงตัดสินใจดำเนินเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในวันที่ 9มกราคม 2551 โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องค่าเสียหายพร้อมค่าชดเชยรวม 1,149,000บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ชนะคดีในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ทางบิ๊กซีฯ ต้องชดใช้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 405,808.50บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุ เนื่องจากพิจารณาจากที่เกิดเหตุแล้วเห็นว่า จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ประมาทเลินเลิ่อ ไม่คำนึงถึงประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ
อย่างไรก็ตามคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล โดยทางนางจุฬาให้ความเห็นว่า ต้องการแสดงสิทธิเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม สำหรับประเด็นค่าชดใช้กรณีที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากศาลให้เห็นผลว่านางจุฬาไม่ได้เป็นผู้มีคุณวุฒิใดในสังคม ขณะที่ทางด้านบิ๊กซีเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปจึงยืนขอสิทธิทุเลาบังคับคดี และศาลมีคำสั่งให้บิ๊กซีนำหลักทรัพย์มาวางประกัน
โดยในวันที่ 24 เมษายน 2552 ทางบิ๊กซีได้นำพันธบัตรของบริษัท แอ็กซ่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่รับผิดชอบตรงบริเวณเกิดเหตุ มาวางเป็นหลักประกัน แต่ทางศาลเห็นว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถรับประกันได้ว่า ทางบิ๊กซี จะเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงคัดค้านหลักประกันดังกล่าว เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดที่ให้เอาเช็คเงินสดมาวางเป็นหลักทรัพย์ มีผลให้คำร้องขอทุเลาบังคับคดียกเลิกไป แต่วันที่ 30เมษายน 2552 ทางบิ๊กซี ยื่นขอทุเลาการบังคับคดีอีกครั้ง และคำร้องยกเลิกไป เพราะยังเอาหลักทรัพย์ค้ำประกันเดิมมาวาง พร้อมกับที่ศาลสั่งให้นำหลักทรัพย์ใหม่มาวางประกันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2552
ทั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 17 มิถุนายน2552 1 กรกฎาคม2552 และ 16กรกฎาคม2552 ทางบิ๊กซีได้ยื่นขอทุเลาบังคับคดีและศาลยกคำร้อง จนกระทั่งวันที่ 7 กันยนยน2552 ทางบิ๊กซี ชี้แจงว่ายังไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งศาลได้เนื่องจากยังไม่มีเงินสดตามจำนวน พร้อมยืนยันหลักทรัพย์เดิมของทางบริษัทแอ็กซ่า ประกันภัย ศาลจึงเลื่อนมาพิจารณาเมื่อวันที่ 14 กันยายน2552 โดยพิจารณาแล้วจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดี
ส่งผลให้วันที่ 15 ธันวาคม 2552 นางจุฬา พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดี เดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์สำนักงานใหญ่เพื่อยึดทรัพย์ที่เป็นของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ตามมูลค่า 405,808.50 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ รวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 576,660.33บาท โดยทางบิ๊กซียินดีจ่ายเป็นเช็คเงินสดเต็มจำนวน แต่ให้ผู้เสียหายกลับมารับอีกครั้งเนื่องจากการจ่ายเช็คที่มีมูลค่าเกิน 500,000บาทจำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา 14.50 น.ผู้เสียหายได้รับเช็คดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และถ้าเช็คดังกล่าวขึ้นเงินได้ จะเข้ายื่นขอถอนการยึดทรัพย์ที่กรมบังคับคดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปทางบิ๊กซี และได้รับคำชี้แจงว่าต้องรอคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ เนื่องจากขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ในชั้นศาลถือว่ายังไม่สิ้นสุด จึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะตามหลักกฎหมายแล้วหากคดียังไม่สิ้นสุดห้ามลูกความออกมาชี้แจงในลักษณะเป็นการชี้นำ ถือเป็นการก้าวก่ายศาล