CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เรื่องเล่าของสมเด็จโต (บันทึกของคนเดินเท้า)

    บันทึกของคนเดินเท้า

    เรื่องเล่าของสมเด็จโต (๑)


    ในบรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของมหาชนทั่วไป คงไม่มีท่านผู้ใดเกิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พฺรหฺมรังษี เป็นแน่ ซึ่งในปัจจุบันพระเครื่องสมเด็จ ก็เป็นที่นับถือของนักนิยมพระเป็นอย่างสูง และคาถาชินบัญชร ของท่านก็มีผู้นิยมสวดกันแทบทุกบ้านเรือน

    ส่วนประวัติของท่านนั้นมีอยู่หลายสำนวน ซึ่งก็แตกต่างคลาดเคลื่อนกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งวันเดือนปีเกิดบางแห่งก็ว่า วันพุธเดือน ๖ ปีวอก อีกแห่งหนึ่งว่า วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก

    มารดาชื่อ  นางงุด บ้าง นางเกตุ บ้าง  ถิ่นที่อยู่อาศัยของมารดาเดิมอยู่เมืองกำแพงเพชร ต่อมาย้ายมาอยู่ เมืองพิจิตร

    อีกเล่มหนึ่งว่าอยู่ ตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

    เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดใหญ่ เมืองพิจิตร บ้าง วัดระฆัง บ้าง

    และอุปสมบทที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก  บ้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บ้าง

    ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นตำนานเล่าสืบต่อ ๆ กันมา แม้แต่วันที่มรณภาพ ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นเดือนห้า ปีวอก  

    บางรายก็ว่า เป็นวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก แต่ตรงกันที่ จุลศักราช ๑๒๓๔ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชวงศ์จักรี  

    ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ อายุ ๘๔ ปี ซึ่งวันทาง  สุริยคตินั้นเป็นที่รับรองกันอยู่ในปัจจุบัน  เพราะมีการสร้างพระสมเด็จร้อยปีวัดระฆัง เมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕ ซึ่งถือว่าเป็นวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการมรณภาพของท่าน

    ดังนั้นเมื่อนับย้อนหลังไปถึงวันเกิดของท่าน ก็ควรจะเป็น พ.ศ.๒๓๓๑ หรือ จ.ศ.๑๑๕๐ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลที่ ๑ แต่กลับไม่ตรงกับประวัติของท่าน ที่ว่าเกิดในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี  

    เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาอีกครั้ง ที่ว่าท่านมรณภาพเมื่อ อายุ ๘๔ ปี ก็น่าจะไม่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะเมื่อเทียบระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรัชกาลที่ ๑ จนถึงปีที่ ๕ ของรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นเวลา ๙๑ ปีแล้ว

    และไม่ทราบว่าจะมีท่านผู้ใดได้ชำระประวัติของท่านให้ถูกต้องสมบูรณ์แล้วหรือยัง

    ประวัติโดยสังเขปของท่านก็คือ เมื่ออายุได้ ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือ
    อายุ ๑๓ ปี บรรพาชาเป็นสามเณร
    อายุ ๑๘ ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ในรัชกาลที่ ๑ รับสามเณรโต ไว้อุปถัมภ์บำรุง และส่งไปพำนักอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหานิพพานนาราม หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในปัจจุบัน

    อายุ ๒๑ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ที่วัดมหานิพพานนาราม ตามเดิมจนเปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๒

    อายุ ๔๙ ปี เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓

    อายุ ๕๔ ปี มารดาถึงแก่กรรม

    อายุ ๖๕ ปี เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในรัชกาลที่ ๔

    อายุ ๖๗ ปี เป็นที่ พระเทพกวี

    อายุ ๗๘ ปี เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพที่ศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหมใน ขณะที่ไปดูการก่อสร้างหลวงพ่อโต วัดนี้ได้รับขนานนามว่า วัดอินทรวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

    จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ในหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ เทพ สาริกบุตร เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๓๗

    มีความนำและเนื้อเรื่องเป็นทำนองร่าย ดังจะได้ยกมาบางตอน เช่น

    เพราะเจ้าประคุณองค์นี้เป็นที่ฦๅชาปรากฏ
    เกียรติศัพท์เกียรติคุณเกียรติยศ ขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว
    มหาชนพากันสรรเสริญออกเซ็งแซ่กึกก้องซ้องสาธุการ
    บ้างก็บ่นร่ำรำพรรณประสาขาน ประกาศรุ่น
    กล่าวถึงบุญคุณสมบัติจริยสมบัติของท่าน เป็นนิตยกาลนานมา
    ทุกทิวาราตรีมิรู้มีความจืดจาง

    ดังนั้น จึงมีชาวบ้านไปหา นายพร้อม สุดดีพงศ์ บ้านอยู่ตลาดไชโย เมืองอ่างทองให้เดินทางลงมากรุงเทพ ฯ เข้าไปหา พระมหาสว่าง ( ม.ล.สว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ) ที่วัดสระเกษ เพื่อขอให้เล่าเนื้อความตามที่อยากรู้

    พระมหาสว่างจึงพาคนเหล่านั้นข้ามฟากไปวัดระฆัง ขึ้นยังกุฏิ เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) อายุ ๘๘ ปี ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับ สมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆัง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ชั้นเหลน

    เจ้าคุณพระธรรมถาวร ก็เล่าถึงความหลังให้ฟังหลายสิบเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องน่าควรคิดพิศวงมาก ลงท้ายท่านจึงบอกว่า อันญาติวงศ์พงษ์พันธุ์และภูมิสถานบ้านเดิมนั้น เจ้าของท่านได้ให้ช่างเขียนไว้ที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระนคร

    พระมหาสว่างกับนายพร้อม จึงนมัสการลาท่านเจ้าคุณ ข้ามฟากกลับมาหา ท่านพระครูสังฆรักษ์ เจ้าอธิการวัดอินทรวิหาร   บางขุนพรหม

    แล้วขออนุญาตดูภาพเรื่องราวของสมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต) ซึ่งท่านพระครูสังฆรักษ์ ก็เต็มใจจึงนำพาลงไปในโบสถ์พร้อมกัน แล้วเปิดหน้าต่างประตูให้ดูได้ตามปรารถนา

    ในคราวหน้าจะได้ตามไปดูภาพเขียนเหล่านั้น ว่ามีเรื่องราวเป็นอย่างไร.

    จากคุณ : เจียวต้าย - [ 25 ม.ค. 49 07:19:40 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป